สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท โจทย์ร่วมรัฐ-เอกชน

จากประชาชาติธุรกิจ

บทบรรณาธิการ



ปฏิกิริยา ที่เกิดขึ้นหลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำว่า อยากเห็นการพิจารณาปรับเพิ่มให้อยู่ที่ระดับ 250 บาท/วัน สำหรับ ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศนั้นในส่วนของกระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เร่งประสานข้อมูลกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจนผลกระทบที่อาจต้องมีมาตรการเสริมเข้ามารองรับสำหรับผู้ประกอบการ นายจ้างในบางกลุ่มบางระดับ

ขณะที่ฟากของผู้ใช้แรงงาน แนวทางดังกล่าวกลายเป็นความหวัง ซึ่งกลุ่มตัวแทนองค์กรผู้ใช้แรงงานต่างให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนในหลายกลุ่ม หลายอุตสาหกรรมที่ออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ของนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า แนวนโยบายให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 250 บาทนั้น ในฐานะผู้ประกอบการเอกชนรายหนึ่งอยากให้ภาครัฐหันกลับมามองข้อดีข้อเสียของ แต่ละมาตรการความช่วยเหลือ ทั้งที่ประชาชนจะได้รับ รวมถึงข้อเสียที่ผู้ประกอบการจะได้รับด้วย

จริงอยู่ที่ตัวแทนองค์การ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย จะออกมาสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาท/วัน แต่ในอีก ด้านหนึ่งก็สงวนท่าทีโดยจะมีการจัดสัมมนาร่วมกัน เพื่อพิจารณาแนวทางกำหนดขั้นตอนในการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำตามแนวคิดของ นายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคมเสียก่อน ขณะเดียวกันก็ยังต้องรอดูท่าทีจากคณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกทางหนึ่ง

ท่ามกลาง 2 กระแสความคิดที่แตกต่างกัน ดูเหมือนทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเข้ามาร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะ สม โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นว่า การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยตรงนั้น จะก่อให้เกิดภาระกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจไม่สามารถ แข่งขันได้ และจะมีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบใดเข้าไปชดเชย ขณะเดียวกันก็ต้องวางยุทธศาสตร์ด้านค่าจ้างแรงงานในระยะยาว ภายใต้โจทย์ที่ประเทศไทยต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ด้วย

ข้อ เสนอที่น่าสนใจของ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูป อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจเป็นกรอบที่สำคัญที่ต้องร่วมกันพิจารณาว่า ในระยะต่อไปการกำหนดอัตราค่าจ้างของไทยต้องมองถึงการเพิ่มทักษะฝีมือให้ เทียบเคียงกับประเทศอุตสาหกรรมอย่างไต้หวัน มาเลย์ สิงคโปร์ เกาหลี ซึ่งค่าจ้างแรงงานสูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า แต่ก็ยังแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีด้านแรงงาน ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพื่อรองรับการโยกย้ายแรงงานในภูมิภาค ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่จะเข้ามากดดันให้การกำหนดยุทธศาสตร์ค่า จ้างขั้นต่ำต้องกระทำอย่างรอบคอบ ตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อม ๆ กัน

Tags : ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โจทย์ร่วมรัฐ เอกชน

view