สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ควันหลง จากงานสัมมนาด้านการเงินที่ชิคาโก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ boontham.r@ku.ac.th


นอกจาก พอล โวลเกอร์ ที่ผมตั้งใจไปฟังแนวคิดจากงานประชุมธนาคารนานาชาติที่ชิคาโก ซึ่งเพิ่งจบลง ยังมีสองหนุ่มที่มีไอเดียบรรเจิดไม่แพ้กัน
คือ นายเจม คารัวนา และ ดร. มาร์คัส บรุนเนอร์แมร์
 

ผมขอเล่าถึง พอล โวลเกอร์ ก่อน โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเขาโชคดีที่เป็นประธานธนาคารกลางในยุคที่สื่อมวลชนยัง ไม่ก้าวหน้าดังเช่นทุกวันนี้ เพราะโวลเกอร์ค่อนข้างเป็นคนเรียบง่าย และออกจะเก็บตัวกว่า ดร.อลัน กรีนสแปน และ ดร. เบน เบอร์นันเก้ ที่ในยุคนี้ บุคลิกของเขาถือว่าไม่น่าจะโดนสักเท่าไร แต่เสน่ห์ของโวลเกอร์ที่ผมว่าเหมาะสำหรับการเป็นประธานธนาคารกลาง คือ บุคลิกแบบ "ลับ ลวง พราง" เรียกว่าอ่านใจหรือเดาทางได้ลำบาก
 

โวลเกอร์ กล่าวปาฐกถาไว้แบบไม่หวือหวาแต่เต็มไปด้วยความหมายลึกที่ซ่อนไว้ในท่าทางและ น้ำเสียง แต่ที่ผมชอบที่สุด คือประโยคแรกที่พูดถึงวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบมีเสียงหัวเราะในลำคอว่า ทุกวันนี้ ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าวิชานี้จะเอายังไงกันแน่ เขากล่าวไว้ 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก เขากล่าวย้ำถึงความสำคัญของนโยบาย macroprudential ว่าจะต้องบันทึกไว้เป็นกฎหมายอย่างเป็นระบบ แต่ก็เตือนว่าอย่าได้เฮโลยึดแนวคิดดังกล่าวเป็นสรณะแบบไม่ลืมหูลืมตา จนละเลยปัญหาพื้นฐานเชิงมหภาค
 

ประเด็นที่สอง เขาย้ำถึงความสำคัญของการผลักดันกฎหมายที่ห้ามมิให้ธนาคาร ซึ่งได้รับการค้ำประกันเงินฝากจากภาครัฐประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อาทิเช่น อนุพันธ์ทางการเงิน และเฮดจ์ฟันด์ หรือ Volcker's Rule ว่า จะสามารถใช้ป้องกันหรือบรรเทาปัญหาระบบธนาคารที่ได้แหล่งเงินมาจากสินทรัพย์ ที่เป็นพิษ หรือ Shadow Banking และปัญหาตราสารการเงินนอกระบบธนาคารได้ ประเด็นสุดท้าย โวลเกอร์เห็นว่าหน้าที่ธนาคารกลางต้องมีความสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางนโยบาย การเงิน (Monetary Stability) และนโยบายสถาบันการเงิน (Financial Stability) รวมถึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
 

แล้วก็มาถึงคิวของ เจม คารัวนา กรรมการผู้จัดการของ Bank for International Settlements (BIS) ผมฟังคารัวนา แสดงปาฐกถาในระหว่างอาหารกลางวัน ผมแอบนึกในใจว่าบรรยากาศช่างคล้ายคลึงกับ Townhall Meeting จากซีอีโอของเอไอจี อเมริกาซึ่งมาเยือนกิจการเมืองไทยสมัยผมยังทำงานที่นั่น
 

คารัวนา ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้ 4 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง เราได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจมหภาคของนโยบายการเงิน การธนาคารที่เหมาะสม (Prudential policy) สอง นโยบาย macroprudential ควรจะแทรกไว้ในกฎระเบียบทางการเงินในสัดส่วนที่มากน้อยเพียงใด สาม นโยบาย macroprudential มีเครื่องมือหรือปุ่มอยู่กี่จุด และ ท้ายสุด ใครควรจะทำหน้าที่กดปุ่มที่ว่า
 

ข้อแรก คารัวนา เปรียบเทียบว่า แม้หลักการบาเซิล 2 จะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่าสถาบันการเงินที่มีระดับความเสี่ยงสูงต้องกัน เงินกองทุนไว้มากเช่นกัน แต่ก็ยังมิได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริหารธนาคารป้องกันความเสี่ยงอย่างเพียง พอ อีกทั้งยังมิได้มองการจัดการความเสี่ยงในแบบพลวัต ข้อสอง เขาได้แบ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นกฎตายตัว (Rule-based) อาทิเช่น เงินกองทุนแบบ conservation buffer ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่าหากระดับเงินกองทุนลดต่ำลงกว่าค่าๆ หนึ่ง ผู้บริหารจะถูกจำกัดมิให้จ่ายเงินปันผลและค่าตอบแทนได้ตามที่ต้องการ ในส่วนที่สอง เป็นแบบที่ต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล (Discretion-based) อาทิเช่น เงินกองทุนแบบ countercyclical ที่ปริมาณการกันเงินดังกล่าวแปรผันตามความแตกต่างระหว่างระดับสินเชื่อต่อจี ดีพีกับเส้นแนวโน้มของอัตราส่วนดังกล่าว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณากันอยู่
 

ข้อสาม ปุ่มที่ใช้กดให้นโยบาย macroprudential ทำงานนั้น มิได้จำกัดแค่เงินกองทุนทั้งสองแบบ การลดระดับอัตราส่วนสินเชื่อต่อหลักประกันในเอเชีย ก็เป็นปุ่มที่สามารถกดให้นโยบายนี้ทำงานได้ และ ข้อที่สี่ องค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดีเช่น คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารกลางก็เป็นหน่วยงานที่น่าจะทำหน้าที่กด ปุ่มได้ดี เนื่องจากได้เปรียบในเรื่องของข้อมูล และความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ
 

ท้ายสุด มาถึงดาวเด่นประจำงาน มาร์คัส บรุนเนอร์แมร์ จะว่าไปในวงการเศรษฐศาสตร์และการเงินยุคนี้ เขาน่าจะดังไม่น้อยกว่า มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ค ที่ภาพยนตร์ "the social network" เพิ่งเปิดตัวในอเมริกา โดยความคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งคู่ คือ มองการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล หรือหน่วยทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้อินเทอร์เน็ต และการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและการเงิน บรุนเนอร์แมร์ได้แสดงให้ที่ประชุมในครั้งนี้เห็นถึงแนวทางของเขาที่สามารถ ผนวกหลักบริหารความเสี่ยงเข้ากับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้มาตรฐานการบริหารความเสี่ยงระบบเศรษฐกิจมีความเที่ยงตรงยิ่งขึ้น 
 

ผมได้เคยเขียนถึง บรุนเนอร์แมร์ โดยใช้หนังสือ Outliers ของมัลคอม แกลดเวล เป็นบรรทัดฐานและขอนำมาอัพเดทใหม่ โดยองค์ประกอบ 3 อย่างที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ประกอบไปด้วยปัจจัย ดังนี้
 

องค์ประกอบแรก : ต้องเกิดให้ถูกยุคถูกเวลา บรุนเนอร์แมร์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขาเกิดในช่วงต้นยุค 70 ที่เยอรมนี โดยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรี จนกระทั่งจบปริญญาเอกในยุโรป แน่นอนว่าในช่วงปลายยุค 90 วิชาเศรษฐศาสตร์เต็มไปด้วยภาษาคณิตศาสตร์ ซึ่งก็เป็นของโปรดของเขาที่จะฝึกฝน และนำมาใช้กับงานที่เขาอธิบายการเกิดวิกฤติการเงินโลกจนมีชื่อเสียงในช่วง นี้
 

องค์ประกอบที่สอง : ต้องอยู่หรือฝึกฝนความชำนาญให้ถูกที่ สำหรับ บรุนเนอร์แมร์นั้น วิชาที่ประทับใจเขามากที่สุดสมัยปริญญาตรี คือ แนวคิดที่กล่าวถึงการที่ความเสี่ยงของหน่วยงานหนึ่ง มิได้เกิดจากการกระทำของตนเอง หากแต่มาจากหน่วยงานอื่นในเศรษฐกิจที่มีขนาด หรือธุรกรรมที่มีนัยสำคัญต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจ หรือ Network Economics
 

องค์ประกอบสุดท้าย ก็คือ ทำงานหรือแสดงผลงานให้ถูกเวลา จากการที่ บรุนเนอร์แมร์ ได้มีโอกาสทำงานที่ธนาคารกลางสหรัฐอยู่หลายปี ทำให้มองปัญหาของสถาบันการเงินสหรัฐได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงมีส่วนทำให้เขาสามารถเปิดศักราชใหม่ให้กับสาขาการบริหารความเสี่ยงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
 

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเที่ยวนี้ ถือว่าเป็นจังหวะดี ที่บรุนเนอร์แมร์ได้มีโอกาสใช้โครงสร้างของตราสารทางการเงินระยะสั้นของ สถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐที่เริ่มจะมีรูปแบบคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ มีหนี้ระยะสั้นอยู่มากกว่าสินทรัพย์ระยะสั้น และมีการใช้สินทรัพย์ securitization ในรูปแบบต่างๆ กัน มาสร้างแบบจำลองบริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง โดยนอกจากจะรวมเอา Loss Spiral หรือสภาพคล่องลดต่ำลงจากพอร์ตที่มีมูลค่าลดลง ที่แตกต่างจากชาวบ้าน คือ การรวมเอา Margin Spiral หรือผลที่เกี่ยวเนื่อง (Interconnected) จากการที่นำค่าคิดลดของหลักประกันที่สูงขึ้นเข้ามาวิเคราะห์อีกด้วย ทำให้ผลงานของบรุนเนอร์แมร์โด่งดังเป็นพลุแตกเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนได้รับรางวัล Bernáce ที่มอบให้กับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการเศรษฐศาสตร์และการเงินของยุโรปเมื่อปีที่แล้ว
 

หากจะสร้างหนังเกี่ยวกับบรุนเนอร์แมร์ น่าจะชื่อ "the interconnected network" ทว่า คำโปรยโฆษณา อาจต้องเปลี่ยนเป็น "You can get to 500 million friends without making a few enemies" แทนครับ


หมายเหตุ ผมรู้สึกเป็นเกียรติและได้รับความรู้รวมถึงข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จาก ดร. ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนาครั้งนี้ครับ

Tags : ควันหลง งานสัมมนาด้านการเงิน ชิคาโก

view