สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับสัญญาณ พ.ร.บ.มีดหมอ ใกล้ฝั่งฝัน เอ็นจีโอ ส่อเรือล่มเมื่อจอด

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย .......ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ท่าทีล่าสุดของตัวแทน “ภาคประชาชน” กับหมากที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดิน สอดรับกันจนยากจะให้คิดเป็นอื่นไปได้

ด้วยการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข หรือที่รู้จักโดยทั่วกันว่า “วงถก 2 ฝ่าย” เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปในประเด็นที่ยังขัดแย้งเรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสีย หายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้ปรากฏ “สัญญาณ” หนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของอนาคตกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจนยิ่ง

ก่อนหน้านี้มีการนัดหารือร่วมกันเช่นนี้มาแล้ว 1 ครั้ง แต่ก็ต้องล้มอย่างไม่เป็นกระบวน เนื่องจากเครือข่ายแพทย์ “วอร์กเอาต์” ออกจากที่ประชุมท่ามกลางข้อครหาถึงเหตุผลอันไร้น้ำหนัก กาลครั้งนั้น นพ.วันชาติ ศุภจตุรัส ผู้รั้งตำแหน่งแพทยสมาคม ชี้แจงว่า ทำไปเพราะเห็นว่าคณะกรรมการไม่เป็นประชาธิปไตย และร่างกฎหมายถึงเขียนขึ้นโดยไม่ฟังความเห็นแพทย์

คำถามจึงมีขึ้นว่า เป็นเพียงกลยุทธ์ถ่วงหรือเพื่อประวิงเวลาเพื่อไม่ให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

ผลพวงจากการล้มโต๊ะครั้งก่อนยังให้เกิดการจัดประชุมใหม่อีกครั้ง ซึ่งตามกำหนดการแล้ว นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคนกลาง ได้นัดหารือกันโดยพร้อมเพรียงในวันที่ 12 ต.ค.เวลา 13.30 น.

แต่ทว่าก่อนดีเดย์ 1 วัน ตารางนัดหมายเดิมกลับถูกเปลี่ยนอย่างกระทันหัน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เสนอขอแยกส่วนการประชุมเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับภาคประชาชน ซึ่งนพ.ไพจิตร์ก็รับคำ

ภาพประกอบข่าว

เสมือนหนึ่งรับเงื่อนไขเพราะต้องการหาข้อยุติจากซีกผู้ปฏิบัติงานให้แล้ว เสร็จ และเป็นข้อการันตีว่าจะไม่มีกรณีการ “ล้มโต๊ะ” ซ้ำรอย จึงเกิดเป็นการประชุมวงแพทย์ในช่วงเช้าวันที่ 12 ต.ค. ขึ้น โดยกว่า 2 ชั่วโมงเศษของการหารือได้ข้อสรุปจากกลุ่มแพทย์ว่า เห็นควรให้รัฐบาลชะลอร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อน แล้วแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขยายมาตรา 41 ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อกลุ่มแพทย์มีมติเสนอแนวทางแก่นพ.ไพจิตร์เป็นที่เรียบร้อย กระทรวงสาธารณสุขในฐานะคนกลางและผู้รวบรวมความเห็นจากทุกฝ่าย ก็สมอ้างได้เต็มปากว่า “ได้ข้อยุติ” จากกลุ่มแพทย์แล้ว

ส่วนตัวแทนภาคประชาชนที่เดินทางมาในช่วงบ่าย เมื่อทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมกลุ่มแพทย์ไปก่อนแล้วในช่วงเช้า ก็ได้เปิดแถลงข่าวถึงจุดยืนโดยทันที ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า คงไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วมประชุม เพราะแพทย์ที่คัดค้านก็ไม่เปิดใจยอมรับฟัง แต่ก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อนพ.ไพจิตร์ด้วยเช่นกัน ขณะที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า เพิ่งทราบเรื่องการแยกประชุมจากเพื่อนสื่อมวลชนก่อนหน้าจะเดินทางมาไม่นาน        

เมื่อพิจารณาท่าทีของภาคประชาชนแล้วจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ “กระทรวงสาธารณสุข” เพราะสามารถสมอ้างในลักษณะเดียวกับกลุ่มแพทย์ได้ว่า “ได้ข้อยุติ” จากกลุ่มเอ็นจีโอแล้วเหมือนกัน

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ สื่อมวลชนหลายแขนงได้นำเสนอข่าวกรณีการแยกวงประชุม ซึ่งคาดว่าภาคประชาชนก็คงต้องทราบอย่างแน่นอน คำถามคือ ที่เลือกเดิมเกมเช่นนี้เพราะ “เล็งผลเลิศ” แล้วใช่หรือไม่

จับ “สัญญาณ” จากการเปิดเผยของ กรรณิการ์ และถ้อยแถลงของ นพ.ไพจิตร์ ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยง

กรรณิการ์ เล่าว่า ได้พบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เพรสซิเดนท์ พาเลซ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม และได้รับคำยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จะได้รับการพิจารณาในรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมแน่นอน โดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นของรัฐบาล แต่ที่ไม่เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเนื่องจากไม่อยากทะเลาะกับกลุ่มแพทย์

ก่อนหน้านี้ได้พบนายอภิสิทธิ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับคำยืนยันมาแล้วว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเข้าสภาได้ทันสมัย ประชุมนี้ หรือรัฐบาลถอนร่างกฎหมายออกจากการพิจารณา ก็ให้นำม็อบมากดดันได้

ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ ระบุว่า หลังจากนี้กฎหมายก็จะเดินหน้าไปตามระบบ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของกระทรวง แต่ระหว่างนี้ก็จะพยายามหารือกับตัวแทนทั้ง 2 ฝ่าย โดยหากพร้อมก็จะนัดหารืออีกครั้งได้ ส่วนความเห็นจากทุกฝ่ายจะนำเสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุขภายในสัปดาห์หน้า  

นั่นหมายความว่า ภาคประชาชน “มั่นใจ” ว่ากฎหมายจะได้รับการพิจารณาในสมัยประชุมนี้ 100% ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้อง “ปล่อย” ให้กฎหมายนี้เดินไปตามขั้นตอน

ช่างสอดรับเหมือนจับวาง!

อย่างไรก็ตาม แม้ในภาพกว้างจะเห็น “เรือเอ็นจีโอ” แล่นใบลู่ลมเข้าใกล้ “ฝั่งฝัน” ขึ้นเรื่อยๆ แต่หากมองลึกลงไปจะเห็นได้ว่า เรือลำนี้มีโอกาส “ล่มเมื่อจอด” อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะมรสุมจากความ “ไม่เป็นเอกภาพ” ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่นำโดยสารี อ๋องสมหวัง กับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่นำโดย ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

หากย้อนกลับไปตั้งแต่มีการจุดพลุเรื่องพ.ร.บ.ฉบับนี้ “ปรียนันท์” ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักผลักดันจนทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ต่อมา “สารี” ได้เข้ามาสมทบ ช่วยเสริมแรงให้ภาคประชาชนมีพลังมากขึ้นเป็นทวี

แต่ปัญหาที่ตามมาเงียบๆ คือ “ทิศทางกลุ่ม” และ “ภาวะการนำ” ที่ระยะมานี้ค่อนข้างจะเห็นแย้งกันบ่อยครั้งขึ้น ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการฯ นัดสอง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม ขณะที่ “เครือข่ายผู้ป่วย” กลับส่งตัวแทนเข้าหารือ

ปรียนันท์ บอกว่า จะร่วมประชุมต่อไปเพราะผู้เสียหายทุกคนล้วนรอคอยและต้องการให้เกิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยืนยันว่าเครือข่ายฯ มีอิสระในการแสดงจุดยืน ส่วนภาคประชาชนอื่นๆ อาจจะไม่พอใจก็เป็นสิทธิ เพราะที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้แสดงจุดยืนว่าจะเอาเฉพาะร่างของรัฐบาลฉบับเดียวเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าภาคประชาชนส่วนอื่นๆ จะคิดว่าเครือข่ายฯ ไปค้านร่างฉบับของเขาด้วย

อึดใจเดียวก็จะถึงฝั่ง ต้องรอดูว่าเรือจะล่มก่อนหรือไม่?

Tags : จับสัญญาณ พ.ร.บ.มีดหมอ ใกล้ฝั่งฝัน เอ็นจีโอ ส่อเรือล่มเมื่อจอด

view