สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจขนาดย่อย (ยับ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.ไสว บุญมา


แนวคิดด้านการ พัฒนาเศรษฐกิจแนวคิดหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสังคมโลกส่วนใหญ่ ได้แก่ การส่งเสริมการทำธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งอาจเรียกว่าขนาดย่อย


มู หัมหมัด ยูนุส ชาวบังกลาเทศ ผู้เป็นหัวหอกของความเคลื่อนไหวในการสนับสนุนทางเงินทุนแก่ผู้ต้องการทำ ธุรกิจขนาดเล็กได้รับการยอมรับนับถือทั่วโลกถึงกับได้รับรางวัลโนเบลสาขา สันติภาพเมื่อปี 2549
 

ธุรกิจขนาดย่อยได้รับการสนับสนุนด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้ง 1. การทำธุรกิจจำพวกนี้มีความสามารถในการบ่มเพาะผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นฐานสำคัญยิ่งของเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องทำงานด้านต่างๆ เองเป็นส่วนใหญ่ มันจึงทำให้เขาฝึกฝนงานหลายด้าน ซึ่งผู้ประกอบการควรมีความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง 2. เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กใช้ทุนและทรัพยากรไม่มากนัก หากมันล้มละลาย ความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมย่อมอยู่ในวงจำกัด 3 การเป็นผู้ประกอบการมีความเป็นอิสระสูง ซึ่งอาจเหมาะสมกับสภาพของสังคมบางแห่งและอาชีพบางอย่าง 4. ปัจจัยนี้อาจไม่ค่อยมีผู้นึกถึงกันมากนัก นั่นคือ หากธุรกิจอยู่ได้ มันให้ความยืดหยุ่นแก่ผู้ประกอบการว่าจะขยายต่อไป หรือหยุดไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งเมื่อเขารู้สึกว่าน่าจะมีรายได้เพียงพอแก่ความจำเป็นของเขา แล้ว 5. การที่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของกิจการมักนำไปสู่ความความทุ่มเท ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพของสังคม และ 6. การทำธุรกิจจำพวกนี้มีผลพลอยได้ในการดูดซับแรงงาน และป้องกันการว่างงานในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจขนาดย่อยมีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวสูงมาก แม้จะเป็นธุรกิจที่มักเริ่มง่ายและใช้เงินลงทุนเพียงเล็กน้อย ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลบ่งว่าเกินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจจำพวกนี้ต้องล้มเลิกไปภายใน 4 ปี และราว 65 เปอร์เซ็นต์อยู่ได้ไม่ครบ 7 ปี ยกเว้นในกรณีของกลุ่มอามิช ซึ่งเป็นชาวอเมริกันกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ยอมใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย อาทิเช่น พวกเขาไม่ใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์ในบ้าน ไม่ใช้เครื่องจักรกลจำพวกรถยนต์และรถไถนา หากยังใช้ม้าลากรถและลากไถ ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังไม่ยอมให้ลูกหลานมีการศึกษาในโรงเรียนเกินระดับชั้น มัธยมปีที่ 2 ของเมืองไทยอีกด้วย ข้อมูลบ่งว่า ธุรกิจของกลุ่มอามิชถึง 95% อยู่ได้หลังเวลาผ่านไป 5 ปี (เรื่องการดำเนินชีวิตของชาวอามิชมีอยู่ในหนังสือชื่อ "อเมริกาที่ยังใช้ม้าเทียมไถ" ส่วนเคล็ดลับในการทำธุรกิจของพวกเขามีอยู่ใน Success Made Simple : An Inside Look at Why Amish Businesses Thrive โดย Erik Wesner)

สำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความก้าวหน้าในระดับกลางเช่นเมืองไทย ธุรกิจขนาดย่อยมักมีอยู่ทั่วไปมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่แล้ว ตัวอย่างมีหลากหลาย จากการค้าหาบเร่และบนรถใสไปจนถึงร้านทำผม ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านอาหาร การทำไร่ทำนามาตั้งแต่ดั้งเดิม และธุรกิจในครอบครัวจำพวกร้านค้าคูหาเดียว รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 และปี 2551 รัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นอย่างเข้มข้น จนเป็นที่น่าสังเกตสองครั้งใหญ่ๆ ได้แก่ โครงการหนึ่งผลิตตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมทั้งกองทุนหมู่บ้านและการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนเริ่มจากปี 2544 และการสนับสนุนต้นกล้าอาชีพเริ่มจากปี 2552

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ทำกันอย่างเอิกเกริก แต่ผลได้ไม่คุ้มต้นทุนที่รัฐบาลลงไปเพราะกิจการใหม่ส่วนใหญ่ล้มเหลวไปในเวลา อันสั้น ส่วนผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการที่อยู่ได้มักมาจากธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว ความล้มเหลวเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน การขาดการศึกษาว่ามีตลาดรองรับหรือไม่และการขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคจากผู้ ที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ส่วนเรื่องกองทุนหมู่บ้านนั้น แม้จะเป็นโครงการที่ดีแต่ก็มีปัญหาจากการเล็งผลเลิศทางการเมือง การแฝงประโยชน์ทางธุรกิจของผู้นำทางการเมือง การขาดการสนับสนุนการประเมินโครงการในการนำเงินไปลงทุน และความฉ้อฉลของคนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ สำหรับการแปลงทรัพย์เป็นทุนล้มเหลวอย่างน่าอดสู เพราะฐานความคิดวางอยู่บนหลักเศรษฐกิจที่ง่อนแง่น (บทที่ 9 ของหนังสือเรื่อง "คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์" มีคำอธิบาย หรือจะดูเรื่อง "จับความลี้ลับของทุน" ในเว็บไซต์ www.sawaiboonma.com ก็ได้)

สำหรับการสนับสนุนต้นกล้าอาชีพหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 นั้น อาจมองได้ว่าเป็นโครงการในแนวเดียวกันกับการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการ ใหม่หลังปี 2544 โครงการนี้อาจมีผลดีอยู่บ้างโดยเฉพาะในด้านการลดการว่างงานเฉพาะหน้า แต่มันกำลังสร้างปัญหาใหญ่หลวง อาทิเช่น การลดการว่างงานนั้นเป็นภาพลวงตามากกว่าจะเป็นการลดอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ประกอบการใหม่จะคล้ายผู้ที่กระโดดเข้าไปร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จำพวกการทำน้ำพริก สุราพื้นบ้านและร้านอาหารตามเพิงข้างถนน นั่นคือ ไม่ได้ศึกษาเรื่องตลาดมาก่อน 

การตั้งร้านค้าชั่วคราวตามหน้าศูนย์การค้าและตามทางเท้าทั่วไปมองได้ว่า เป็นการบ่มเพาะความมักง่ายและความไร้ระเบียบในสังคม ธุรกิจจำพวกนี้ส่วนใหญ่จะล้มเหลวส่งผลร้ายตามมารวมทั้งปัญหาหนี้นอกระบบด้วย ยิ่งกว่านั้น ผู้ทำร้านค้าจำพวกนี้มักไม่ยินดีที่จะรับงานตามโรงงานเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะยังหลงผิดคิดว่าตัวเองจะประสบผลสำเร็จ เมื่อโรงงานและธุรกิจขนาดใหญ่ไม่สามารถจ้างแรงงานไทยได้อย่างเพียงพอ พวกเขาก็จ้างคนงานจากต่างประเทศ ซึ่งสร้างปัญหาตามมาไม่ว่าจะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นแก่ระบบการรักษาพยาบาลที่ มีทรัพยากรจำกัดอยู่แล้ว หรือปฏิกูลอันเกิดจากการบริโภคของพวกเขาที่สังคมเราจะต้องเสียทรัพย์เพื่อ กำจัด ผลสุดท้ายต้นกล้าอาชีพก็จะตาย และกลายเป็นปัญหาของสังคม ฉะนั้น รัฐบาลที่มีความรับผิดชอบจะต้องมองให้เห็นประเด็นนี้ และมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมก่อนที่สังคมจะพลอยย่อยยับไปกับธุรกิจขนาด ย่อยเหล่านั้นด้วย

Tags : ธุรกิจขนาดย่อย

view