สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทางรอดธุรกิจคอนเทนต์ (Content Biz Strikes Back !)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ magic marketing

โดย รณพงศ์ คำนวณทิพย์ Twitter:@rockdaworld Facebook: Ron Kamnunthip



ใน ยุคที่ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ ไอแพด และอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายนั้น คำถามที่สำคัญก็คือ ธุรกิจคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลง รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จะปรับตัวอย่างไรเพื่อความอยู่รอด

ธุรกิจสิ่ง พิมพ์ดูจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะทุกวันนี้คนในเจเนอเรชั่นใหม่ ที่เรียกว่า เจเนอเรชั่น ทัช พวกเขาสามารถเรียกหาข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการด้วยปลายนิ้วสัมผัส มีวิธีการติดตามข่าวสารและอ่านบทความที่ชื่นชอบจากสื่อดิจิทัลมากกว่าสิ่ง พิมพ์แบบเก่า แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือพ็อกเกตบุ๊กลดลงอย่างมาก

ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นบรรณาธิการ นิตยสารส่วนตัวของตนเองได้ แอปพลิเคชั่นบนไอแพด ที่มีชื่อว่า ฟลิปบอร์ด (Flipboard) เปิดโอกาสให้คุณเลือกบทความและรูปภาพจากคนที่คุณติดตาม ทั้งจากเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มาจัดเรียงเป็นหน้านิตยสารอย่างสวยงามโดยที่คุณ สามารถเห็นข้อความบางส่วนได้เป็นกรอบเล็ก ๆ โดยไม่ต้องคลิกไปอ่านที่ลิงก์ แต่หากอยากอ่านต่อก็สามารถคลิกไปอ่านในเว็บลิงก์นั้น ๆ ได้

สำนัก พิมพ์ทั้งหลายจึงต้องหันมาปรับตัวนำเสนอข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามรูปแบบในการสร้างรายได้จากสื่อใหม่ต่าง ๆ เหล่านี้กลับยังไม่มีความชัดเจน รายได้จากโฆษณาบนสื่อออนไลน์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่ยังไม่สามารถทดแทนราย ได้ที่ลดลงจากยอดขายหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่ลดลงได้

หนังสือพิมพ์ อย่าง The Wall Street Journal ดูจะเป็นหนังสือพิมพ์แรก ๆ ที่ให้บริการสมัครสมาชิก (subscription service) เพื่ออ่านข่าวบนเว็บไซต์และบนแอปพลิเคชั่น สำหรับไอโฟนและระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้จากฐานผู้อ่านโดยตรง อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการข่าวสารบนสื่ออนไลน์นั้นไม่ได้มีแต่สื่อสิ่งพิมพ์ อย่างเดียว แต่ยังมีสำนักข่าวต่าง ๆ อย่างเช่น CNN ซึ่งผันตัวเองมาเป็นผู้ให้บริการข่าวผ่านทางอุปกรณ์มือถือ ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย นับเป็นสมรภูมิที่แข่งกันอย่างหนักหน่วงจริง ๆ

นอกจากนี้ การขายคอนเทนต์หนังสือผ่านทางสื่อดิจิทัลสำหรับอีบุ๊ก (E-book) ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคินเดิล (Kindle) ของอะเมซอน ไอแพด แบล็คเบอร์รี่ เพลย์บุ๊ก ก็เป็นทางออกหนึ่งสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

ทางด้านวงการโฆษณาผ่านสื่อออ นไลน์ก็มีการปรับตัวด้วยเช่นกัน โฆษณาอย่าง iAD บนแพลตฟอร์มของแอปเปิลนั้นแตกต่างจากแบนเนอร์โฆษณาทั่วไป ตรงที่แทนที่จะคลิกไปเพื่อเข้าไปสู่เว็บไซต์ของสินค้าที่ลงโฆษณา กลับกลายเป็นการให้ข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชั่นอย่างครบวงจร ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคุณคลิกเข้าไปในโฆษณาของรถยนต์รุ่นใหม่ คุณก็จะสามารถหมุนดูรถยนต์ในมุมต่าง ๆ ได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส หรือจะคลิกดูข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือการตกแต่งภายในก็ล้วนทำได้ด้วยการสัมผัสในจุดที่ต้องการเท่านั้น นับว่าเป็นการปฏิวัติรูปแบบของการโฆษณาแบบดิจิทัลไปอีกขั้น ช่วยสร้างความเพลิดเพลินและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ชม แน่นอนว่าจะช่วยให้การโฆษณานั้นสัมฤทธิผลตามที่ตั้งไว้มากขึ้นครับ

สำหรับ รายการโทรทัศน์นั้นปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะคนรุ่นใหม่เลือกที่จะคลิกชมรายการที่ชื่นชอบในเวลาที่ตนเองอยากดู แบบออนดีมานด์ (on-demand) มากกว่าที่จะรอชมทางโทรทัศน์เหมือนคนรุ่นก่อน ๆ ผู้ผลิตรายการจึงต้องหันมาให้ความสนใจ และให้บริการผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เหล่านี้กันมากขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วผู้ผลิตรายการอาจสูญเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้ในส่วนนี้ไป เพราะอาจมีคนนำคลิปรายการไปโพสต์เอาไว้ดูกันเสียเองครับ

ส่วนวงการ ภาพยนตร์นั้น ถึงแม้ตอนนี้ยังจะไม่ได้รับผลการะทบจากสื่อออนไลน์มากนัก เพราะต้องใช้เวลานานในการโหลดหรือเรียกดูสตรีมมิ่ง (streaming) ผ่านสื่อออนไลน์ แต่ในอนาคตน่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเมื่อความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น อีกจนการดาวน์โหลดหรือการรับชมทำได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้วงการภาพยนตร์ต้องปรับตัวด้วยในที่สุดครับ

สำหรับวงการเพลง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักก่อนใครเพื่อน และทำท่าว่าจะไปไม่รอดในตอนแรกนั้น ปัจจุบันได้มีรูปแบบทางธุรกิจที่รองรับครบทุกรูปแบบจนกลับมาได้อย่างเต็มตัว ในปัจจุบันครับ

ด้วยสาเหตุที่เป็นคอนเทนต์ยอดนิยมในสื่อออนไลน์ และสามารถโหลดมาฟังหรือเรียกฟังผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก วงการเพลงจึงได้รับผลกระทบจากการโหลดและแชร์ไฟล์อย่างผิดกฎหมายมากที่สุด จนกระทั่งมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้โหลดเพลงผ่านทางร้านออนไลน์อย่างไอทูนส์ (iTunes) อะเมซอน หรือการให้บริการดาวน์โหลดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพราะ "ความสะดวก" เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคติดสินใจมาใช้บริการครับ

นอกจากนี้ การให้บริการแบบสมัครสมาชิกเพื่อดาวน์โหลดหรือฟังเพลง ยกตัวอย่างเช่น สปอตติฟาย (www.Spotify.com) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถฟังเพลงผ่านทางสื่อออนไลน์ได้ และสามารถเลือกเพลงที่ตนเองชื่นชอบใส่เพลย์ลิสต์ (playlist) ของตัวเองเพื่อเรียกมาฟังที่ไหนเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องเก็บเพลงไว้ในเครื่อง ของตนเอง แต่เก็บเพลงไว้ในก้อนเมฆ (cloud) หรือเครือข่ายของผู้ให้บริการนั่นเองครับ

การเรียกชมมิวสิกวิดีโอก็ เช่นกัน ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างยูนิเวอร์ซัลมิวสิค ก็ได้ทำความร่วมมือกับยูทิวบ์ (www.YouTube.com) เปิดให้เรียกดูมิวสิกวิดีโอผ่านบริการที่ชื่อว่า วีโว่ (www.Vevo.com) โดยเอ็มวีของวีโว่นั้นจะเป็นเอ็มวีแบบ official ที่เจ้าของเพลงปล่อยออกมาแบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ไม่ใช่เอ็มวีที่แฟน ๆ ทำขึ้นมาเอง นอกจากนี้เอ็มวียังมีคุณภาพความละเอียดสูงโดยที่ผู้ชมสามารถเรียกดูเอ็มวี และฟังเพลงจากวีโว่ได้ฟรี แต่วีโว่จะมีรายได้จากผู้โฆษณา บริการนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศที่ให้บริการอย่างสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเปิดให้บริการในบ้านเราในเร็ว ๆ นี้ครับ

ในส่วนของเมือง ไทยนั้นแฟนเพลงก็กำลังจะมีข่าวดี เพราะค่ายเพลงชั้นนำอย่างเช่น โซนี่ มิวสิค วอร์เนอร์ มิวสิค ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค เคพีเอ็น สไปร์ซี่ดิสก์ และอื่น ๆ ได้มีการจับมือกันสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้บริการดาวน์โหลดเพลง เสียงรอสายทางโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ภายใต้ชื่อ "มิวสิค วัน" (Music One) โดยการโทร.ไปที่หมายเลข *248 หมายเลขเดียว เพื่อสมัครการใช้บริการและโหลดเพลงต่าง ๆ ได้เพื่อให้เกิดความสะดวกมากที่สุดสำหรับผู้บริโภค โดยในอนาคตจะมีการเปิดมิวสิกสโตร์ หรือร้านขายเพลงออนไลน์อย่างครบวงจรผ่านทางเว็บ www.TheMusicOne.com อีกด้วยครับ

นอกจากนี้ "มิวสิค วัน" ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่น ๆ เช่น The One Card ในการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ร่วมกันสำหรับสมาชิกร่วมกับบีอีซี-เทโรฯในการจัดกิจกรรมทางดนตรี ร่วมกับสื่อต่าง ๆ ในการนำเสนอรายการและกิจกรรมผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ อย่างเช่น สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในการจัดกิจกรรมทางการตลาดอื่น ๆ อีกด้วย นับเป็นการร่วมมือกันทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกันอย่างครบวงจร โดยมีเสียงเพลงเป็นสื่อ และมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางครับ

การร่วมมือ ของมิวสิค วัน จึงเป็นที่น่าจับตามองและน่าจะช่วยให้วงการเพลงในบ้านเรากลับมาคึกคักกันอีก ครั้ง และแน่นอนว่าแฟนเพลงก็จะได้มีบริการและกิจกรรมทางดนตรีให้รับชมรับฟังกันมาก ขึ้นด้วยครับ

อนาคตของวงการเพลงและธุรกิจคอนเทนต์จะพัฒนาต่อไปอย่าง ไรในอนาคต คงไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ที่แน่คือในที่สุดก็จะต้องพัฒนาเข้าสู่จุดสมดุลที่ศิลปินและผู้สร้าง สรรค์ผลงานมีรายได้พอเพียงเพื่อที่จะได้ทำงานออกสู่สายตาแฟน ๆ กันต่อไป ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะต้องได้รับบริการที่ดี ในราคาที่เหมาะสม เพื่อที่จะเลือกซื้อ เลือกหา เลือกติดตามคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ตนเองชื่นชอบได้...

...เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน หรือผู้บริโภคไปเสียแล้ว ธุรกิจคอนเทนต์ก็จะไม่เป็นธุรกิจ และโลกก็อาจต้องโหยหาผลงานสร้างสรรค์ดี ๆ กันไปอีกนานครับ

Tags : ทางรอดธุรกิจคอนเทนต์ Content Biz Strikes Back

view