สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย เพสซิมิสต์



กระแส การเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ 250 บาททั่วประเทศดังขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีเอ่ยถึง ทำให้เกิดความเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีส่วนในการช่วยผลักดัน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้แรงงาน เพราะจะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างมากถึง 20-30% ทันที

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหากหักด้วยเงินเฟ้อ แปลว่าผู้ใช้แรงงานที่อาศัยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฐานรายได้จะไม่ได้มีรายได้ จริงเพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่รายได้ของประเทศไทยโดยรวมวัดจากมูลค่าจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 4-5% หลังจากหักผลของเงินเฟ้อออกไป แปลว่าผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ลงเมื่อเทียบกับประชาชนในประเทศไทยโดยรวม

ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ช่วง 12 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตในปี 2540 ปรากฏว่าเงินเดือนเฉลี่ยของประชาชนทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นเพียง 40% ในขณะที่จีดีพีของประเทศไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 100% หมายความว่ามนุษย์เงินเดือนได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสัด ส่วนที่น้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ นายทุนและเจ้าของที่ดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง มากกว่าเพิ่มขึ้น

การเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงดูเสมือนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และควรรีบนำไปปฏิบัติ แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งก็จะพบว่าการอาศัยอำนาจกฎหมายมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นั้น นอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาแล้วจะยังเป็นการซ้ำเติมปัญหา ทำให้ผู้ใช้แรงงานที่ไร้โอกาสมากที่สุด ถูกผลกระทบในเชิงลบมากที่สุดด้วย

การ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ระดับสูงเกินกว่าค่าจ้างที่ถูกกำหนดโดยกลไกตลาดนั้น แปลว่าจะมีผู้ต้องการทำงานมากกว่าผู้ที่ต้องการจ้างงาน เห็นได้จากรูปเส้นอุปสงค์ (D) และอุปทาน (S) ข้างล่าง โดยสมมติว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันที่ 200 บาทใน กทม.เป็นค่าจ้างที่เหมาะสม ทำให้ความต้องการทำงานเท่ากับความต้องการการจ้างงาน (QA) แต่หากหวังดีปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 250 บาท ก็จะทำให้นายจ้างต้องการจ้างพนักงานเพียง QD ในขณะที่มีผู้ต้องการทำงาน QS ส่วนต่าง QD-QS คือการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถหางานทำตามรายได้ขั้นต่ำที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ จึงจะเกิดการสมยอมระหว่างนายจ้างกับผู้ที่ต้องการทำงานในการรับค่าจ้างต่ำ กว่าค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีโอกาสถูกจับและลงโทษได้ ก็จะทำให้ความต้องการแรงงานที่ผิดกฎหมายของนายจ้างลดลง สะท้อนจากเส้นอุปสงค์ Di ที่ลดลงน้อยกว่า D แปลว่าผลสุดท้ายของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่ากลไกตลาด จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่กว่าเดิม เพราะจะมีการจ้างงานน้อยลงกว่าเดิม (คือจ้างงานเท่ากับ QDi ซึ่งน้อยกว่า QA) และผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่งยอมรับเงินเดือนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเดิม (จาก 200 บาท เหลือ 180 บาท) เพราะต้องเลือกระหว่างมีงานทำที่ 180 บาทต่อวัน หรือไม่มีงานทำเลย




การ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงเกินกว่าที่กำหนด โดยกลไกตลาดนั้นมองอีกมุมหนึ่งจะเป็นการทำโทษผู้ใช้แรงงานที่เสียเปรียบอยู่ แล้วให้เสียเปรียบมากขึ้นไปอีก กล่าวคือ ผู้ใช้แรงงานที่อายุน้อย มีการศึกษาน้อย มีประสบการณ์น้อย ย่อมจะหางานทำไม่ได้ เพราะหากเจ้าของโรงงานจะต้องจ้างพนักงานที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดมาที่ อัตราสูงแล้ว ก็จะเลือกจ้างผู้ที่มีประสบการณ์และฝีมือ ซึ่งเป็นการปิดโอกาสผู้ที่ไม่มีฝีมือและไม่มีประสบการณ์ในการหางานเพื่อ สั่งสมประสบการณ์และฝีมือได้ กล่าวคือเป็นการตัดโอกาสแรงงานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปกติก็มีโอกาสน้อยกว่ากลุ่มอื่นอยู่แล้ว

ในระยะยาวนั้น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงเกินไปจะทำให้เจ้าของโรงงานหาทางซื้อเครื่อง จักรมาใช้ทดแทนในกรณีที่ทดแทนได้ง่าย ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมแรงงานที่ไร้ฝีมือ เครื่องจักรจะทดแทนแรงงานไร้ฝีมือ 100 คน โดยเครื่องจักรอาจต้องใช้พนักงานช่างกลที่มีหน้าที่ดูแลเครื่องจักรเพียง 5-10 คน เป็นต้น ดังนั้นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงจึงอาจกลายเป็นการสร้างงานให้กับผู้ใช้ แรงงานที่มีฝีมือชั้นสูงแทนก็เป็นได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะในภาวะปัจจุบันที่เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกไทยที่ใช้แรงงานจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะต้นทุนซึ่งคิดเป็นเงินบาทไม่ลดลง แต่รายได้จากการส่งออกที่คิดเป็นเงินบาทลดลงแล้วเกือบ 10% ใน 10 เดือนแรกของปีนี้ ทางเลือกของเขาซึ่งรัฐบาลกำลังสนับสนุนอย่างมาก คือ การให้นำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อปรับธุรกิจให้แข่งขันได้ดีขึ้นใน สภาวะที่เงินบาทแข็งค่า ถามว่าผู้ประกอบการจะเลือกเทคโนโลยีอะไรในการลดต้นทุน ก็คงต้องเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่ลดการใช้แรงงานอย่างแน่นอน หากเชื่อว่าค่าจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่อ่อนแอไม่สามารถปรับตัวกับการแข็งค่าของเงิน บาทได้ก็จะต้องปิดตัวลง ซึ่งจะหมายถึงการปลดคนงานเพิ่มขึ้นก็ได้

บาง คนอาจโต้ว่ามีข่าวการลงทุนของบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติมากมาย และมีการกล่าวอ้างเสมอว่าแรงงานขาดแคลน ประเด็นดังกล่าวสามารถตอบได้ 2 ข้อ คือ 1.หากมีความต้องการแรงงานมากจริง ผู้ประกอบการก็คงจะแข่งกันปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อแย่งพนักงาน ไม่จำเป็นต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และ 2.ความต้องการแรงงานที่กล่าวถึงนั้นน่าจะเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแรงงานมีการศึกษาและมีฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาจากสถิติของทางการพบว่ามีสัดส่วนเพียง 15-17% ของแรงงานไทยทั้งหมด จริงอยู่จะมีแรงงานกลุ่มอื่น เช่น ข้าราชการ พนักงานภาคการเงิน และการบริการระดับสูง (อสังหาริมทรัพย์) ตลอดจนพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว และไม่เคยต้องอาศัยการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำเป็นแรงกดดันให้เงินเดือน ของพวกเขาได้ปรับขึ้น

ปัญหาแรงงานของไทยนั้น หากพิจารณาถึงแก่นสารก็คือการที่แรงงานประมาณ 40% ได้รับค่าจ้างต่ำมากในภาคเกษตร (รายได้ประมาณ 1/10 ของรายได้เฉลี่ย) และแรงงานอีกประมาณ 30% (ประมาณ 12 ล้านคน) ที่อยู่ในสาขาเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำ โดยกลุ่มนี้จะได้เงินเดือนประมาณ ? ของเงินเดือนเฉลี่ย เช่น ภาคก่อสร้าง การค้าปลีกและค้าส่ง ตลอดจนภาคบริการระดับล่าง ตัวอย่างเช่น ห้องอาหาร และบริการท่องเที่ยวระดับล่าง เป็นต้น ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหลักคือการที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา ฝีมือ และประสบการณ์ที่จะทำให้เขาได้รับการว่าจ้างที่ระดับเงินเดือนสูง ทางออกจึงต้องเน้นการที่ภาครัฐต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจในการให้ การศึกษาและฝึกทักษะที่เฉพาะเจาะจงกับแรงงาน ซึ่งตรงกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ ซึ่งโดยปกติแล้วบริษัทใดบริษัทหนึ่งจะไม่อยากฝึกอบรมให้เป็นการทั่วไป เพราะแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนจนสมบูรณ์แล้วอาจย้ายไปทำงานที่อื่นได้ ดังนั้นจึงต้องมีรัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนการฝึกอบรมดังกล่าว ซึ่งการเรียกร้องให้ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังในการพัฒนาแรงงานส่วน ใหญ่ของไทย จึงจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเรียกร้องให้กำหนดรายได้ขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้น เป็นกิจกรรมที่ทำกันทุกปีอยู่ในขณะนี้ครับ

Tags : เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ

view