สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารเหตุการณ์ยามวิกฤติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ (จบ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : Crisis Management :สนั่น อังอุบลกุล


ในครั้งก่อนๆ ผมได้เกริ่นไปถึงการบริหารจัดการเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะประสบการณ์ที่ผมได้เจอกับเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น คือ
ได้เกิดเพลิงไหม้ที่อาคารเก็บสินค้าสำเร็จรูป ที่รอการจัดส่งไปยังลูกค้า และพื้นที่การผลิตบางส่วน เพลิงไหม้เป็นเวลา 3 ชม. สาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ได้รับความเสียหายจากการเกิดเพลิงไหม้

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้ว การดำเนินการในขณะเกิดเหตุเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะช่วยลดความสูญเสียไม่ให้ลุกลามไป จนกลายเป็นหายนะหรือสิ้นเนื้อประดาตัว ประเด็นสำคัญในการดำเนินการขณะเกิดเหตุนั้น ผมได้เขียนไปหลายข้อแล้ว โดยเฉพาะเรื่อง การบริหารจัดการ วิธีการบริหารจัดการของศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ที่สะสมมากว่า 47 ปี ผมได้เกริ่นไปหลายข้อแล้ว วันนี้เรามาต่อกันให้จบเลยนะครับ

- ความสามารถในการรู้แหล่งทรัพยากรที่ใช่เลย (SNIFF) คนของเราโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา จะต้องมีความสามารถในการรู้แหล่งทรัพยากรที่ดี และตรงกับความต้องการของเราในแต่ละสถานการณ์ เปรียบเหมือนมีจมูกไวที่สามารถรับรู้และดมกลิ่นไปสู่ทางที่สามารถหาทรัพยากร ที่เราต้องการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สิ่งที่ช่วยให้เรามีหูตากว้างไกล คือ การได้สัมผัสกับคนมาก และจะเก็บจุดแข็งของแต่ละคนแต่ละเหตุการณ์ควบคู่กันไปกับการได้ใช้งานคน เหล่านั้นบ่อยๆ

- การมุ่งเน้นที่เฉพาะเจาะจง (FOCUS) คนของเราจะต้องรู้เป้าหมายและวิธีการดำเนินการที่เฉพาะเจาะจง ตรงประเด็น ถึงแม้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่คนของเราต้องสามารถสื่อความจนทำให้แต่ละหน่วยงาน FOCUS ในเรื่องที่ตรงประเด็นและจะส่งผลโดยตรงในการควบคุมและตอบโต้ภาวะวิกฤติได้ อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ทุกคนรับรู้และเข้าใจตรงกัน ว่า เราต้องทำให้การดำเนินงานของลูกค้าสะดุดน้อยที่สุด

เมื่อเราสามารถบริหารจัดการในส่วนที่เกิดเพลิงไหม้แล้ว เราต้องแจ้งข่าวสาร ชี้แจงโดยใช้สื่อต่างๆ เช่น โทรศัพท์  วิทยุ  หนังสือพิมพ์ ประกาศทาง WEB SITE ของบริษัท ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงเหตุการณ์  ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และความคืบหน้าเป็นระยะ ได้แก่

1. ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง
 2. กองพิสูจน์หลักฐาน
 3. บริษัทประกันภัย
 4. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
 5. คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์
 6. คณะกรรมการบริษัท
 7. ผู้สื่อข่าว
 8. สถาบันการเงิน
 9. ลูกค้า Suppliers พนักงาน

ผมมีบทเรียนที่ต้องจำจากการเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้ง นี้ ได้แก่ การตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉิน  โดยมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่หน่วยงานต่างๆ  เกี่ยวกับการสื่อสารและให้ข่าวแก่บุคลากรภายในองค์กรและบุคคลภายนอก องค์กรภาครัฐและเอกชน มีการกำหนดแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะการต้อนรับและการให้ข่าวครั้งแรกเมื่อเกิดเพลิงไหม้หรือ ภาวะฉุกเฉินในกรณีอื่นๆ เพื่อให้ข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ป้องกันการเกิดข่าวลือ ที่จะสร้างความสับสนและความเสียหายให้แก่บริษัท หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท

ต้องวางมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อแก้ไขจุดอ่อนและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีก จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานการควบคุมภาวะฉุกเฉิน และทำการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานทุกคนในองค์กรได้ประพฤติปฏิบัติจนกลายเป็นสิ่งที่พนักงานจะ ปฏิบัติโดยอัตโนมัติ เมื่อมีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกสิ่งสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึงหลังเกิดเพลิงไหม้ คือ

-  MAN คนต้องไม่ตกงาน จะได้รักษาคนที่มีความรู้ และ SKILL อยู่กับองค์กร
 - MOLD แม่พิมพ์ คือ หัวใจในการประกอบธุรกิจ ต้องลงทุนสร้างโดยใช้เทคโนโลยี และความรู้ในการออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เราผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีสามารถประหยัดวัตถุดิบ ประหยัดพลังงาน มีประสิทธิภาพสูง
 - MACHINE เครื่องจักรต้องได้รับการซ่อมแซมปรับปรุง เพื่อให้ทำการผลิตได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
 - METHOD มีการปรับขั้นตอนวิธีการทำงานเพื่อลดความสูญเปล่า ทำการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์มาใช้ทดแทนชั่วคราว เพื่อผลิตสินค้าส่งมอบให้ลูกค้าได้เร็วที่สุด
 - MATERIAL ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตและผู้ขายเม็ดพลาสติกเป็นอย่างดี เพราะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ และความมั่นคงของบริษัท

ดังนั้น ในภาวะที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ หากเรามีวิธีการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง จะทำให้เราสามารถลดความสูญเสียที่จะเกิดกับบุคคล ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นการแสดงศักยภาพสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Tags : การบริหารเหตุการณ์ยามวิกฤติ เกิดเพลิงไหม้ (จบ)

view