สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน : สถานการณ์และหลักคิด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สฤณี อาชวานันทกุล


ปัจจุบันไม่มี ข้อสงสัยแล้วว่าระบบเศรษฐกิจทุกประเทศ กำลังจะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ จากธุรกิจยุคอุตสาหกรรมที่ถลุงทุนธรรมชาติ
และ ฉวยใช้ทุนมนุษย์อย่างไม่คำนึงถึงความยั่งยืน ไปสู่ธุรกิจโฉมใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม และการดำเนินธุรกิจนั้นก็จะต้องสอดคล้องกับหลัก "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" นั่นคือ ไม่ทำธุรกิจในทางที่บั่นทอนโอกาสของคนรุ่นหลังในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่า กับคนรุ่นเรา
 

คำถามใหญ่เพียงข้อเดียวสำหรับนักลงทุนในศตวรรษที่ 21 คือ จะอยากเป็น "ผู้นำ" การเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ จูงใจให้บริษัทมองการณ์ไกลกว่าเดิม หรือพอใจจะเป็น "ผู้ตาม" ที่สนใจแต่กำไรระยะสั้นอย่างที่คนส่วนใหญ่ยังเป็นอยู่ โดยไม่ดู "ที่มา" ของกำไร
 

อย่างไรก็ตาม ยากที่นักลงทุนทั่วไปจะหันมาให้ความสนใจกับผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวด ล้อมของบริษัทจดทะเบียน (ปัจจุบันเรียกรวมๆ ว่า "ข้อมูลความยั่งยืน" หรือ "ข้อมูลอีเอสจี" ซึ่งย่อมาจาก environment, social, governance) ตราบใดที่บริษัทจดทะเบียนเองยังไม่เปิดเผยข้อมูลว่า การทำธุรกิจของตนเองนั้นส่งผลกระทบใดบ้างต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเด็นเหล่านี้เป็น "ปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ" อย่างไร การแสดงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ นั้น จะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร และการทำธุรกิจที่ยั่งยืนนั้นสำคัญไฉนสำหรับบริษัท

ข้อมูลความยั่งยืนเป็น ข้อมูลที่บริษัทรู้ดีที่สุด เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในภาวะที่หน่วยงานราชการยังย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยว ข้องกับธุรกิจ แต่ปัจจุบันการรายงานข้อมูลความยั่งยืนยังไม่มี "ชุดมาตรฐานสากล" เหมือนกับมาตรฐานบัญชีที่ใช้เปรียบเทียบผลงานข้ามอุตสาหกรรมและประเทศได้ แต่บางด้านก็คืบหน้าไปมากแล้ว เช่น การรายงานร่องรอยคาร์บอน (carbon footprint) ของบริษัท ซึ่งมีหลายกลุ่มร่วมกันพัฒนาวิธีการวัดและรายงานไปแล้วค่อนข้างมาก (ดูรายละเอียดได้จากเว็บ Carbon Disclosure Project, https://www.cdproject.net/)

น่าเสียดายที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่บังคับให้บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำของความยั่งยืนแต่ละด้านอย่างเป็นระบบ มีเพียง "แนวปฏิบัติ" กว้างๆ เท่านั้น ต่างจากตลาดหุ้นเพื่อนบ้านหลายแห่งที่ล้ำหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะมาเลเซีย อินเดีย และออสเตรเลีย นักลงทุนไทยที่สนใจด้านนี้ จึงต้องอาศัยข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยโดยสมัครใจในการตัดสินใจลงทุน แต่ปัญหา คือ ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยนั้นส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ข้อมูลความยั่งยืน เป็นแค่ข้อมูลเกี่ยวกับ "กิจกรรมซีเอสอาร์" ต่างๆ นานาของบริษัท ที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกระบวนการทำธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น หลายบริษัทจะเปิดเผยว่าปีที่แล้วปลูกต้นไม้ไปกี่ต้น คาดว่าต้นไม้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนได้เท่าไร แต่ไม่บอกว่าโรงงานของตัวเองทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปกี่ตัน ทั้งที่มีแต่ข้อมูลหลังเท่านั้นที่เป็น "ข้อมูลความยั่งยืน" ที่นักลงทุนด้านนี้อยากรู้

การจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน Asian Sustainability Rating (ASR) โดยความร่วมมือระหว่าง Responsibility Research กับ CSR Asia สองบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านความรับผิดชอบของธุรกิจชั้นนำ ประจำปี 2010 (http://www.asiansr.com/Country-Analysis-2010.html) ใช้ข้อมูลปี 2009 จากบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุด 20 แห่งในตลาดหุ้นไทย ในจำนวนนี้ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย นำลิ่วในด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน โดยได้คะแนน ASR ร้อยละ 74 รองลงมา คือ  บมจ. ปตท. ซึ่งได้คะแนน ASR ร้อยละ 70 แต่เมื่อดูในรายละเอียด การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ ปตท. ยังแย่กว่าปูนซิเมนต์ไทยมาก คือ ได้คะแนนด้านนี้เพียงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับร้อยละ 75 ของปูนซิเมนต์ไทย

สองบริษัทที่ได้คะแนน ASR ต่ำที่สุด คือ บมจ.ธนาคารทหารไทย (ร้อยละ 21) และ บมจ.ซีพีออลล์ (ร้อยละ 8) โดยที่ทั้งสองบริษัทแทบไม่เปิดเผยข้อมูลผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมเลย

รายงาน ASR ตั้งข้อสังเกตสำหรับประเทศไทย ว่า

"การรณรงค์ให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอีเอสจีในไทยที่ผ่านมา เน้นหนักไปที่การรณรงค์ให้บริษัทมีนโยบายด้านธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีคะแนนในด้านนี้สูงถึงร้อยละ 75 มากกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี เราต้องระวังว่าเราให้คะแนนเพียง 20 บริษัทเท่านั้นในไทย เทียบกับ 28 ในสิงคโปร์และ 63 ในฮ่องกง การมองเฉพาะบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในไทย น่าจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาสูงเกินจริง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ดูจะสะท้อนผลกระทบของนโยบายรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างเช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางเกี่ยวกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ และดังนั้น บริษัทจึงไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และไม่มีแนวปฏิบัติด้านการเปิดเผยข้อมูลด้วย"

"เราพบว่าการรายงานข้อมูลผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมยังอ่อนแอใน กลุ่มบริษัทที่เราศึกษา ไม่มีบริษัทใดเลยในกลุ่มนี้ที่ระบุชื่อผู้ติดต่อสำหรับประเด็นอีเอสจี กระแสโลกกำลังผลักดันให้บริษัทเปลี่ยนทัศนคติและเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจวัสดุก่อสร้างและพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบสูง ถึงแม้ว่าเราจะยินดีที่ได้เห็นบางบริษัทรายงานว่าใช้ทรัพยากรไปเท่าไร ก็ไม่มีบริษัทใดเลยที่ระบุเป้าการใช้พลังงาน การใช้น้ำ หรือการลดของเสีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของรายงานอีเอสจีที่เป็นประโยชน์"

นอกจากจะยังไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลแล้ว บริษัทจำนวนมากยังรายงานแต่ "ปัจจัยการผลิต" (input) แทนที่จะรายงาน "ผลผลิต" (output) และ "ผลลัพธ์" (outcome) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น หลายบริษัทจะบอกว่าให้เงินอุดหนุนและช่วยเหลือชุมชนไปกี่บาท (input) แต่ไม่บอกว่าคนในชุมชนได้รับประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรม (output) และชุมชนของพวกเขาดีขึ้นอย่างไร (outcome) หรือบอกว่าจ้างงานคนในชุมชนไปกี่คน (input) แต่ไม่บอกว่าคนที่ได้รับการว่าจ้างเหล่านั้น ได้เงินเดือนและสวัสดิการดีกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของจังหวัดเท่าไร (output) และทำให้ชุมชนดีกว่าเดิมอย่างไร (outcome)

นอกจากนี้ หลายบริษัทก็ยังไม่ครุ่นคิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับคำถามที่ว่า ตัวชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละด้านคืออะไร และน่าเชื่อถือเพียงใดในสายตาของคนนอก ยกตัวอย่างเช่น บางบริษัทใช้ "อัตราความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อบริษัท" จากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานประจำปี เป็นดัชนีสะท้อนระดับความรับผิดชอบของบริษัทต่อพนักงาน แต่ตัวเลขนี้อาจไม่เหมาะสมและไม่น่าเชื่อถือ เพราะหลายบริษัทยังไม่มีความเท่าเทียมในที่ทำงาน พนักงานยังต้องเกรงใจ หรือยำเกรงเจ้านาย เพราะรู้ว่าถ้าตอบตามความจริงอาจถูกกลั่นแกล้งในภายหลัง

ตัวเลขที่บ่งชี้ระดับความรับผิดชอบของบริษัทต่อพนักงานได้ดีกว่าคำตอบใน แบบสำรวจ คือ  "อัตราการเกิดอุบัติภัยในสถานประกอบการ" และ "อัตราการลาออก" ของพนักงานในแต่ละปี บริษัทไหนมีตัวเลขสองตัวนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมาก ก็น่าจะแปลว่าบริษัทนั้นดูแลพนักงานได้ดี คนรู้สึกว่ามีความปลอดภัยและพอใจที่ได้ทำงานกับบริษัท จนไม่อยากลาออกไปอยู่ที่อื่นหรือทำอย่างอื่น

Tags : ข้อมูลความยั่งยืน บริษัทจดทะเบียน สถานการณ์และหลักคิด

view