สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อสภาวิชาชีพ ล้ำเส้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : รศ.ดร.พิภพ อุดร, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


“กลไกกำกับดูแล” ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความยั่งยืน และงอกงามของ “การพัฒนา”
ไม่ ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งการศึกษา เพราะเมื่อใดที่มีอำนาจ เบ็ดเสร็จควบคุมในทุกด้าน  การพัฒนาก็มักจะบิดเบี้ยว ผิดรูปผิดร่าง ไปตามอารมณ์  อคติ และทิฏฐิ ของผู้ครองอำนาจ หรือผู้ใกล้ชิดที่ใช้ประโยชน์จากอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น ซึ่งสุดท้ายก็มักจะนำมาซึ่ง ความเสื่อมศรัทธา และเสื่อมสลายของอำนาจที่ใช้โดยปราศจากกำกับดูแลอย่างเหมาะสมในที่สุด

 
กรณีที่น่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือ สภาวิชาชีพบัญชี ได้ออกประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ 17/2552 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 บังคับให้ “หลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรปรับปรุงที่มีผลบังคับ ใช้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป จะต้องเป็นไปตามหลักสูตรตัวอย่างปริญญาตรีทางการบัญชี แนบท้ายประกาศฉบับนี้” โดยหลักสูตรตัวอย่างเข้าไปกำหนด ทั้งจำนวนหน่วยกิต ทั้งชื่อหมวดวิชา รายละเอียดวิชา ทั้งวิชาแกน วิชาเอก และวิชาเฉพาะ ทั้งที่เป็นวิชาบัญชี และที่ไม่ใช่วิชาบัญชีด้วย

 
การออกประกาศฉบับดังกล่าว มีประเด็นที่ควรสนใจ 2 ประการ คือ 1) การบังคับหลักสูตร ของทุกมหาวิทยาลัยให้เป็นตามหลักสูตรตัวอย่างของสภาวิชาชีพบัญชี ไม่เพียงแต่เป็นการก้าวล่วง “เสรีภาพทางวิชาการ” ของสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับ การส่งเสริมความงอกงาม ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา โดยสิ้นเชิง ที่สำคัญ ประเทศไทยคงไม่ต้องการนักบัญชีที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทั้งประเทศไม่ว่าจะ ผลิตออกมาจากสถาบันอุดมศึกษาใด 2) การออกประกาศดังกล่าวในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนวันเปิด ภาคการศึกษา 2552 โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที มิได้คำนึงถึงแนวปฏิบัติที่เหมาะสม  เนื่องจาก มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องเปิดหรือปรับปรุงหลักสูตรก็มักดำเนินการเสร็จสิ้นไปก่อนหน้านี้นาน แล้ว

 
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาด้านการบัญชี และบริหารธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว สภาวิชาชีพบัญชีจึงยกเลิกประกาศฉบับที่ 17/2552 และออกประกาศฉบับใหม่ที่ 28/2552 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 โดยเปลี่ยนเนื้อหาจาก “การบังคับ” ตามข้างต้นเป็น “ควรสอดคล้องกับหลักสูตรตัวอย่าง..” แต่ก็ยังห้อยท้ายประกาศว่า “ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้ หรือมีความจำเป็นต้องปฏิบัตินอกเหนือจาก ประกาศนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ สภาวิชาชีพบัญชีให้ถือเป็นที่สุด” ซึ่งเป็น “การแอบซ่อนการบังคับ” ไว้ในประกาศดังกล่าว  ทำให้ สาระสำคัญของประกาศไม่สอดคล้องกับ ข้อตกลงระหว่างสภาวิชาชีพบัญชี กับ 3 มหาวิทยาลัย


ประกาศข้างต้นยังคงลักษณะเข้าข่ายขัดกับหลักเสรีภาพทางวิชาการ และหลักการแบ่งแยก หน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เนื่องจาก “มหาวิทยาลัย” มีหน้าที่รับผิดชอบ “การศึกษา” โดย “สภามหาวิทยาลัย” เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการอนุมัติหลักสูตร ส่วน “สภาวิชาชีพ” มีหน้าที่ ออกใบอนุญาต กำกับดูแล และยกระดับมาตรฐาน “การประกอบวิชาชีพ” ภายหลังสำเร็จการศึกษา ทำให้เครือข่ายของทั้ง 3 มหาวิทยาลัยยังคงยืนยันในความไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศดังกล่าว

 
เหตุการณ์ยืดเยื้อข้ามปี มาถึงวันที่ 26 มกราคม 2553 เมื่อสภาวิชาชีพบัญชียกเลิกประกาศ ฉบับที่ 28/2552 และออกประกาศฉบับใหม่คือ “ฉบับที่ 5/2553” แทน โดยเปลี่ยนสาระสำคัญของ ประกาศเป็น “หลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบ วิชาชีพบัญชี และมีโครงสร้างเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีของ คณะกรรมการการอุดมศึกษา”  โดยสภาวิชาชีพบัญชีนำส่งประกาศดังกล่าวให้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัย โดยตรง ตามข้อตกลงที่เห็นร่วมกันว่า เกณฑ์ใหม่นี้มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมที่จะถือปฏิบัติได้

 
แต่ในการพิจารณารับรองหลักสูตรจริง กลับปรากฏว่ามีประกาศสภาวิชาชีพบัญชีอีกฉบับ  คือ “ฉบับที่ 5/2553 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553” ซึ่งมีสาระสำคัญแตกต่างไปจากประกาศ “ฉบับที่ 5/2553 ลงวันที่ 26 มกราคม 2553” ที่สภาวิชาชีพบัญชีเคยส่งให้กับ 3 มหาวิทยาลัย โดยมีการเพิ่ม ข้อความสำคัญว่า “สภาวิชาชีพบัญชี ได้จัดทำคำชี้แจงหลักสูตรบัญชีบัณฑิตที่ใช้เป็นแนวทาง การรับรองปริญญาตรีทางการบัญชี เพื่อการรับสมัครสมาชิกสามัญ สภาวิชาชีพบัญชี …” ทั้งนี้ การเติมข้อความดังกล่าว มีนัยทางปฏิบัติเสมือนกับ “การย้อนกลับไปใช้ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ 17/2552” ซึ่งได้ถูก ยกเลิกไปแล้ว ตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2552 นั่นเอง  นอกจากนี้ บนเว็บไซต์ ของสภาวิชาชีพบัญชี ก็เผยแพร่เฉพาะประกาศฉบับ 17/2552 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยไม่เผยแพร่ ประกาศฉบับอื่นที่ออกตามมา ซึ่งทำให้สภาวิชาชีพบัญชีอาจถูกเข้าใจผิดไปได้ว่า มีเจตนาเผยแพร่ ประกาศฉบับที่ไม่มีผลบังคับใช้ให้สาธารณชน ซึ่งเข้าลักษณะที่ไม่งามสำหรับสภาวิชาชีพบัญชี

 
คำถามคือ เมื่อสภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจออกประกาศแล้ว จะออกประกาศอย่างไรก็ได้ มีเนื้อหาอย่างไรก็ได้  อยากจะออกประกาศฉบับที่ 5/2553 เป็น 2 เวอร์ชั่นก็ได้ จะมี “5/2553 เวอร์ชั่น มกราคม” ส่งให้กับ 3 มหาวิทยาลัยเพื่อให้การเผชิญหน้าผ่านพ้นไป  จากนั้นก็ออกประกาศ “5/2553 เวอร์ชั่น กุมภาพันธ์” ที่มีสาระสำคัญต่างออกไป เพื่อนำมาบังคับใช้จริงเมื่อพิจารณาหลักสูตรก็ได้  รวมทั้งจะออกประกาศในปี 2553 แล้วนำมาบังคับใช้ย้อนหลังไปถึงปี 2552 ก็ได้ เช่นนั้นหรือ


ขอตั้งคำถามถึง “คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี” ที่ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการประกันภัย อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกสภาวิชาชีพบัญชี ประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคม ธนาคารไทย และประธานกรรมการหอการค้าไทย รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 3 คน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินการ ของสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ว่าการดำเนินการของสภาวิชาชีพ บัญชี ตามที่ไล่เรียงมาข้างต้นเป็นไปตามกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล รวมทั้ง สอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพบัญชีมากน้อยเพียงใด เป็นการดำเนินการไปโดยความเห็นชอบใน “การกำกับดูแล” ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ แล้วหรือไม่ อย่างไร

Tags : สภาวิชาชีพ ล้ำเส้น

view