สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวัสดิการที่ดีเกินไป คือคอร์รัปชั่น ขาด CSR

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย กรรมการหอการค้าไทย สาขา CSR กรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส



เมื่อวัน ที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ผมไปร่วมงานนิทรรศการของการสัมมนานานาชาติเรื่องคอร์รัปชั่น (the 14th International Anti-Corruption Conference) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเป็นระยะ ๆ นั้น ผมได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า "สวัสดิการที่ดีเกินไปคือคอร์รัปชั่นขาด CSR"

บางท่านอาจจะงงว่า สวัสดิการที่ดีเกินไปเกี่ยวอะไรกับ CSR เพราะนึกว่า CSR คือการอาสาทำดีกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง ประเด็นหลักของ CSR ก็คือ การมีวินัยไม่ข้องแวะกับการคอร์รัปชั่นหรือการโกงกิน

สวัสดิการที่ ดีเกินไปย่อมเป็นต้นทุนที่สูง ส่งผลเสียโดยตรงต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือหุ้นทั้งหลายโดยเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อยในกรณีบริษัทมหาชน ตลอดจนผู้บริโภคเพราะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง

เราคงเคยได้ ยินว่าสายการบินบางประเทศให้สิทธิอดีตแอร์โฮสเตสที่ลาออกไปแล้ว ขึ้นเครื่องบินข้ามทวีปเกือบ 20 ชั่วโมงโดยเสียค่าธรรมเนียมเพียง 500 บาท จากค่าโดยสารที่เก็บตามอัตราปกติราว 50,000 บาท โดยแจ้งล่วงหน้าเพียง วันเดียวก็ได้ที่นั่งแล้ว ถ้าหากเป็นอดีตกัปตันที่ลาออกแล้วก็เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 1,000 บาท แถมได้นั่งชั้นธุรกิจราคา 130,000 บาท

กรณีอย่างนี้เมื่อมีผู้ไปใช้ (อภิ) สิทธิ์กันมาก ๆ รวมทั้งสมาชิกครอบครัวอีกต่างหาก อาจคิดเป็นเงินไม่รู้กี่สิบล้านบาทที่สูญเสียไปในแต่ละปี เงินเหล่านี้ควรเอามาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินปันผล แบ่งให้พนักงานทั่วไปเป็นโบนัส แบ่งให้ผู้บริโภคเป็นส่วนลด หรือแบ่งให้สังคมเป็นการคืนกำไรจะดีกว่าไม่น้อย

นอกจากนี้ เรายังคงเคยได้ยินวิสาหกิจขนาดใหญ่ในบางประเทศ ให้พนักงานใช้สาธารณูปโภคที่ตนเองเป็น ผู้ผลิตขึ้นในราคาถูกหรือฟรีกันแทบไม่ต้องยั้ง อย่างนี้ผู้ถือหุ้นและผู้บริโภคเดือดร้อนเพราะต้องแบกรับภาระมากมาย สุดท้ายพนักงานเหล่านี้กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่กีดขวางการพัฒนาประเทศ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น แต่ตนเองขาดอภิสิทธิ์

จะสังเกต ได้ว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีกำไรงาม ๆ ในบางประเทศ มักจะแบ่งผลประโยชน์มาให้พนักงานได้ "เสพสุข" กันอย่างเต็มอิ่ม ในแง่หนึ่งเป็นการ "ปิดปาก" ไม่ให้

พนักงานก่อหวอดในเรื่องที่กระทบต่อการโกงกินในระดับสูง ถือเป็นการโกงกินแบบ "บุฟเฟต์" หรือแบบทั่วถึง "ตามลำดับขั้น"

วิสาหกิจ ขนาดใหญ่ในบางประเทศ อาจสร้างที่จอดรถใหญ่โตไว้ให้พนักงานจอดรถ คงกลัวสีรถพนักงานเสียหาย แต่สำหรับลูกค้าผู้มีอุปการคุณกลับให้จอดกลางแดด สู้เทสโก้ โลตัสไม่ได้ที่เขาทำที่จอดรถให้ลูกค้าอย่างเพียงพอ และยังทำตะแกรงหลังคาให้ลูกค้าอีกด้วย นอกจากนี้วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายต่อหลายแห่งยังปรนเปรอ ผู้บริหารระดับสูงด้วยงบประมาณ "เลี้ยงดู ปูเสี่อ" กันอย่าง "อิ่มหมีพีมัน" แม้แต่เงินติดกัณฑ์เทศน์ยังมีงบประมาณจัดหาให้ หรือเบิกได้ !

การ โกงกันจนเป็นปกติวิสัยก็เห็นได้จากการที่ข้าราชการระดับสูงในบางประเทศได้ รับสิทธิไปนั่งในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ บางคนถ่างนั่งหลายเก้าอี้ ซึ่งแค่นั้นก็ไม่รู้จะ "อู้ฟู่" จากเบี้ยประชุมและอภิสิทธิ์อื่น ๆ กันขนาดไหนแล้ว รัฐวิสาหกิจบางแห่งกำหนดกรรมการได้ใช้บริการของรัฐวิสาหกิจไปตลอดชั่วชีวิต แม้จะพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องรถประจำตำแหน่ง จะเห็นได้ว่ากรรมการและผู้บริหารของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนใหญ่โตบางประเทศ ได้งบฯซื้อรถประจำตำแหน่งราคาหลายล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมค่าซ่อม ค่าน้ำมันที่ "ซด" กันมหาศาลต่างน้ำ

นอกจากนี้ ในเวลาเดินทางบิ๊ก ๆ ทั้งหลายยังได้ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ และโรงแรมชั้นหนึ่ง กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน จะสังเกตได้ว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจบางประเทศบินไปไหนต่อไหนบ่อยจนเสมือนการ ทำงานที่รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นงานอดิเรก ทุกวันนี้คงหาใครได้ยากที่จะใจแข็งถอนตัวจากอภิสิทธิ์มหาศาลเหล่านี้ เพราะต่างถือหลัก "น้ำขึ้นให้รีบตัก" หรือ "T who T it" (ทีใครทีมัน)

บาง ท่านอาจสงสัยว่า ทำไมวิสาหกิจขนาดใหญ่จึง "ปรนเปรอ" พนักงานได้อย่าง "น่าอิจฉา" ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ โบนัส และอื่น ๆ ที่สูงกว่าวิสาหกิจทั่วไป เรื่องนี้คงไม่ใช่เพราะผู้บริหารของวิสาหกิจเหล่านั้นมีความเก่งกล้าสามารถ เหนือมนุษย์ที่ตรงไหน แต่เป็นเพราะวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นวิสาหกิจ (กึ่ง) ผูกขาด เช่น สาธารณูปโภค สถาบันการเงิน หรือเป็นวิสาหกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ เป็นต้น

วิสาหกิจเหล่านี้ อาศัยต้นทุนที่ต่ำจากสถานะ (กึ่ง) ผูกขาดหรือจากการขุดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ทำให้ได้กำไรงามจึง "โยน" ผลประโยชน์มาให้พนักงาน อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่าพนักงานของวิสาหกิจเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยการผลิต หลักเลย ปัจจัยการผลิตหลักกลับเป็นอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร หรือกระทั่งใบอนุญาตหรือสัมปทานต่างหาก พนักงานอภิสิทธิ์ชน เหล่านี้จึงเป็นแค่ "เบี้ย" เท่านั้น

อาจสรุปได้ว่าการกระทำในทำนอง โกงเช่นนี้ นอกจากไม่อาจสร้างแบรนด์ให้กับวิสาหกิจแล้ว ยังเป็นการกัดกร่อนทำลายแบรนด์ของตนเอง สังคมสูญเสียความ เชื่อมั่น ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับความเสียหาย เงินปันผลก็อาจไม่ได้รับ หรือได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่สำคัญผู้บริโภคก็ต้องแบกรับภาระมากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น ต่อให้วิสาหกิจเหล่านี้ทำกิจกรรม CSR ประเภทอาสาทำดี ช่วยเหลือสังคม ปลูกป่า บริจาคกันเป็นบ้าเป็นหลังอย่างไรก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากเป็นเพียงการ "แก้ผ้าเอาหน้ารอด" "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" หรือกระทั่ง "ลูบหน้าปะจมูก" หรือกลายเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้บริหารวิสาหกิจนั้น ๆ ได้สร้างชื่อเสียงเพื่อปูทางสู่การเมือง หรือสู่การมีสถานะชั้นสูงในสังคม

วิสาหกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนในทุกประเทศที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและมี CSR จึงต้องแก้ไขปัญหาการโกงในมิติของการให้สวัสดิการที่เกินพอดีนั่นเอง

Tags : สวัสดิการ ดีเกินไป คอร์รัปชั่น ขาด CSR

view