สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อพิพาทการประเมินราคาเพื่อเก็บอากรสำหรับสินค้านำเข้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์


การนำเข้าสินค้า ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรนำเข้า โดยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและพิธีการตามกฎหมายศุลกากร
ส่วนอากรที่ต้องเสียให้เป็นไปตามที่กำหนดในพิกัดอัตราอากรขาเข้าท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดหลายฉบับ นอกจากนี้ผู้นำเข้ายังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรด้วย และอาจต้องเสียภาษีสรรพสามิตหากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย
 

พิกัดศุลกากรคือระบบการจำแนกประเภทสินค้าและระบุชื่อสินค้า โดยประเทศไทยใช้พิกัดศุลกากรระบบ ฮาร์โมไนซ์ (Harmonized system : HS) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งมีประเทศเกือบทั่วโลกใช้ระบบนี้
 

พิกัดอัตราอากรขาเข้าท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราอากรขาเข้า จะเป็นตารางจำแนกประเภทสินค้าตามระบบ HS โดยประเภทสินค้าจะกำหนดรหัสตัวเลข 4 หน่วย และประเภทย่อยกำหนดรหัสตัวเลข 6 หน่วย และได้กำหนดอัตราอากรสำหรับสินค้าแต่ละประเภท หรือประเภทย่อยไว้ด้วย อัตราที่กำหนดมีทั้งอัตรา “ตามราคา” (Ad valorem) และอัตรา “ตามสภาพ” อัตราตามราคาหมายถึงอัตราเป็นร้อยละ ของราคาสินค้าที่นำเข้า ซึ่งอากรขาเข้าจะแปรผันตามราคาสินค้า ส่วนอัตราตามสภาพคืออัตราที่เรียกเก็บตามหน่วยของสินค้าซึ่งเป็นอัตราตายตัว เช่นชิ้นละ หรือกิโลกรัมละ สินค้าบางประเภทกำหนดไว้ทั้งอัตราตามราคาและอัตราตามสภาพ ในการเสียอากรจะขึ้นอยู่กับว่า อัตราใดสูงกว่าต้องชำระตามอัตรานั้น
 

การดำเนินการพิธีการนำเข้า ผู้นำเข้าต้องยื่นใบขนสินค้าและเอกสารที่เกี่ยวกับการนำเข้าตามที่กำหนด และเป็นหน้าที่ของผู้นำเข้าต้องสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรและราคาสินค้าที่นำเข้า ซึ่งจะเป็นฐานในการคำนวณอากรขาเข้า สินค้าต่างพิกัดกันอาจมีอัตราภาษีที่ต้องเสียต่างกัน จึงอาจมีข้อโต้แย้งในการจำแนกพิกัดสินค้าเกิดขึ้นระหว่างผู้นำเข้า กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ ซึ่งทางกรมศุลกากรก็ได้เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากรได้ แต่ก็มีบางรายบางกรณีเป็นข้อพิพาทฟ้องร้องจนถึงศาลฎีกา
 

สำหรับสินค้านำเข้าที่ต้องเสียอากรตามราคานั้น กฎหมายศุลกากรเดิมของไทยใช้ราคาตลาดหรือ “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” อันหมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด ไม่รวมค่าอากร ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้ โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้ากรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใดเป็นฐานในการประเมินอากรขาเข้า ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาประเมินราคาสินค้านำเข้าค่อนข้างมาก มีข้อโต้แย้งเรื่องการประเมินราคาระหว่างผู้นำเข้าและเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นคดีสู้กันจนถึงศาลฎีกาปีละหลายคดี
 

การประเมินราคาสินค้านำเข้าเพื่อจุดประสงค์ทางศุลกากรซึ่งรวมถึงการเรียกเก็บอากรขาเข้าด้วย เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นตามบทบัญญัติของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) จึงได้บัญญัติเรื่องการประเมินราคาเพื่อศุลกากรไว้ในข้อ 7 เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการประเมินราคาสินค้านำเข้าเพื่อจุดประสงค์ทางศุลกากร แต่ข้อ 7 ของแกตต์ดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนพอเพียงที่จะแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ในการทำความตกลงจัดตั้ง
 

องค์การการค้าโลกเมื่อปี 2537 ประเทศสมาชิกจึงได้จัดทำความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยศุลกากรและการค้า เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกออกใช้บังคับด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีระบบการประเมินราคาสินค้าเพื่อความมุ่งประสงค์ทางศุลกากร ที่มีความเป็นธรรม มีความเป็นเอกภาพ และมีความเป็นกลาง ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้ราคาศุลกากรที่กำหนดขึ้นตามอำเภอใจหรือสมมติขึ้นเอง
 

โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงดังกล่าว จึงต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้า เพื่อการศุลกากร เพื่อรองรับและให้สอดคล้อง กับความตกลงดังกล่าว ด้วยการตราพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 ออกใช้บังคับ
 

พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 ได้ยกเลิกคำนิยามคำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” ตามกฎหมายศุลกากร และใช้คำว่า “ราคาศุลกากร” แทน ซึ่งได้แยกความหมายเป็นสองกรณีคือ กรณีส่งของออกและกรณีนำของเข้า ในกรณีนำของเข้าหมายความว่า ราคาของเพื่อการมุ่งหมายในการจัดเก็บอากรตามราคา อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ราคาซื้อขายของที่นำเข้า หรือราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน หรือราคาหักทอน หรือราคาคำนวณ   หรือราคาย้อนกลับ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ราคาตามลำดับดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้เพิ่มบทบัญญัติให้การกำหนดราคานำเข้าเพื่อการประเมินอากร จะต้องรวมรายการค่าประกันภัยและค่าขนส่งของด้วย คือกำหนดให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. นั่นเอง และต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวง และประกาศกรมศุลกากร กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประเมินราคาที่สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าวออกใช้บังคับด้วย เจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกราคานำเข้าที่ประเมินตามคำนิยามที่แก้ไขใหม่และตามเกณฑ์ของกฎกระทรวงที่ออกตามนี้ว่า “ราคาแกตต์”
 

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทย ใช้ราคาแกตต์ ในการประเมินราคา เพื่อเรียกเก็บอากรสำหรับสินค้านำเข้าแล้ว มีข้อสังเกตว่า (ตามข้อมูลคำพิพากษาฎีกาถึงปี 2551) ยังไม่ปรากฏว่ามีข้อพิพาทในการประเมินราคาสินค้านำเข้าเป็นคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเลย แต่กลับปรากฏว่ามีคดีข้อพิพาทที่ไทยถูกรัฐบาลต่างประเทศฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อองค์การการค้าโลกสองคดี คือคดีที่สหภาพยุโรปฟ้องไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 กรณีการประเมินราคาเพื่อเรียกเก็บอากรสำหรับการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหภาพยุโรป และคดีที่ประเทศฟิลิปปินส์ฟ้องไทยเมื่อ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 กรณีการประเมินราคาเพื่อเรียกเก็บอากรสำหรับบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ ซึ่งล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมาองค์การการค้าโลกตัดสินให้ไทยแพ้คดี โดยมีข่าวว่าทางไทยจะยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อพิจารณารูปคดีแล้ว หืดคงจะขึ้นคอแน่

Tags : ข้อพิพาท การประเมินราคา เพื่อเก็บอากร สินค้านำเข้า

view