สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หัวหน้างานกับการสอนงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ HR Corner

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ tamrongsakk@gmail.com



ท่านลองทายซิครับว่า วิธีการพัฒนาพนักงานที่ดีที่สุด คือวิธีใด...

เมื่อ ถามอย่างนี้ ผมเชื่อว่า หลายท่านคงจะคิดเรื่องวิธีการฝึกอบรมก่อนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการส่ง พนักงานไปเข้ารับการอบรมตามสถาบัน จัดฝึกอบรม หรือการจัดฝึกอบรมภายในองค์กรของท่านเอง

แต่การฝึกอบรมไม่ใช่วิธีการหรือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการพัฒนาบุคลากรหรอกครับ !

เพราะเครื่องมือหรือวิธีการที่ดีที่สุดในการพัฒนาบุคลากรคือ "การสอนงาน" ครับ

ถ้าจะถามว่า "แล้วใครจะเป็นผู้สอนงานล่ะ ?" ก็ตอบได้ว่าคือ "หัวหน้างาน" ยังไงล่ะครับ

เพราะ ผมมักจะเปรียบเทียบหัวหน้างานกับลูกน้อง และพ่อแม่กับลูกอยู่เสมอ ๆ ว่ามีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือพ่อแม่ก็ย่อมจะต้องใกล้ชิดกับลูก และจะต้องคอยให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำตลอดจน สอนลูกในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ลูกเป็นคนเก่งคนดีมีความสามารถ จนกระทั่งยืนบนขาของตัวเองได้ยามที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยในอนาคต เพราะพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไปหรอกครับ

หัวหน้างานกับลูกน้อง ก็เหมือนกัน หัวหน้าที่ดีก็จะต้องคอยให้คำปรึกษาหารือและให้คำแนะนำ สอนงานลูกน้อง เพื่อที่ว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้าลูกน้องจะได้เติบโตขึ้นมาทดแทนหัวหน้างาน ยามเมื่อหัวหน้าไม่อยู่ในตำแหน่งนี้ ซึ่งไม่ควรจะเป็น "คนนอก" เข้ามาเสียบแทนในตำแหน่งนี้จริงไหมครับ

ดังนั้น หัวหน้าที่ดีจึงจำเป็นจะต้อง สอนงานเพื่อเตรียมความพร้อมของลูกน้องเพื่อให้เติบโตขึ้นมาทดแทนตัวเองใน อนาคต ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นหัวหน้าที่รักและหวังดีกับลูกน้อง

ซึ่ง การสอนงานนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นการสอนงานอย่างเป็นทางการในลักษณะการจัด ฝึกอบรมในห้องอบรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่หัวหน้าสามารถจะสอนงานลูกน้องได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการร่วม ปรึกษาหารือ, การพาไปติดต่องานหรือแนะนำให้ผู้อื่นรู้จักและให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ กับลูกน้อง, การรับฟังและช่วยลูกน้องในการแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ฯลฯ

เมื่อเห็นความสำคัญอย่างนี้แล้วหัวหน้างานควรจะปฏิบัติอย่างไรในการสอนงาน ลูกน้อง ผมจึงขอเสนอแนวทาง ดังนี้

1.หัว หน้างานควรจะต้องรู้จักลูกน้องของตัวเอง เช่น รู้ว่าลูกน้องแต่ละคนทำงานเป็นอย่างไร มีความละเอียดรอบคอบ มากน้อยแค่ไหน มีบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยใจคออย่างไร เหมาะกับงานลักษณะไหน ซึ่งหัวหน้างานนั้นทำงานกับลูกน้องและ เห็นกันอยู่ทุกวันจึงควรจะต้องสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกน้อง ตลอดจนควรจะมีการพูดคุยหารือกันเรื่องงาน ซึ่งจะทำให้หัวหน้างานเห็นวิธีคิด วิธีการแก้ปัญหา จุดเด่นจุดอ่อนของพนักงานแต่ละคนได้มากยิ่งขึ้น

2.หัว หน้างานควรจะต้องหาทางเลือกสำหรับการพัฒนาลูกน้องหลาย ๆ รูปแบบโดยไม่ยึดติดกับการฝึกอบรมเพียงเรื่องเดียว หรือคิดว่าการฝึกอบรมเป็น ทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นหัวหน้างานควรคิดหาวิธีอื่นในการพัฒนาลูกน้อง เช่น การมอบหมายงานพิเศษให้ทำ มอบหมายให้เป็นคณะกรรมการจัดงานปีใหม่ของบริษัทเพื่อฝึกการทำงานร่วมกับคน อื่น เป็นต้น

ซึ่งการมอบหมายงานพิเศษเหล่านี้จะทำให้หัวหน้างานมี ข้อมูลจากการทำงาน ของลูกน้องมากขึ้น เพื่อมาประกอบการหาทางเลือกในการพัฒนาลูกน้องไปให้ตรงกับศักยภาพด้วยนะครับ

3.หัวหน้างานควรจะต้องวางแผนพัฒนาลูกน้องไว้ 3 ประการ คือ

- ระบุได้ว่าลูกน้องควรจะพัฒนาอะไร เช่น ลูกน้องบางคนอาจจะเหมาะกับการพัฒนาเพื่อให้เป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็น ผู้บริหาร ลูกน้องบางคนอาจจะเหมาะกับการพัฒนาให้เป็นผู้ชำนาญหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่เขาอาจจะไม่เหมาะกับการพัฒนาให้เป็นผู้บริหาร ซึ่งหัวหน้างานจะต้องมองแวว ของลูกน้องแต่ละคนได้ดีกว่าคนอื่น ๆ เพราะตนเองทำงานกับลูกน้องอยู่ทุกวัน จริงไหมครับ

- จะจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับลูกน้องอย่างไร เพราะลูกน้องบางคนเหมาะกับการมอบหมายงานพิเศษให้ทำ บางคนเหมาะกับการให้คำปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง บางคนเหมาะกับการส่งไปเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีความถนัดในการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป

ดังนั้น หัวหน้างานจึงควรสังเกตลักษณะของลูกน้องแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ดังกล่าว

- ลูกน้องจะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง หน่วยงาน และองค์กรได้อย่างไร

เมื่อ หัวหน้างานเข้าใจแนวทางการพัฒนาเพื่อการสอนงานลูกน้องทั้ง 3 ประการ ข้างต้นแล้ว ก็ลองนำไปประยุกต์กันดู สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะฝากไว้ในท้ายบทความนี้ก็คือ ทัศนคติในการสอนงานสำหรับหัวหน้างานเป็นเรื่องสำคัญนะครับ

หากท่านคิดอยู่เสมอว่า เมื่อไรที่ท่านสอนงาน ท่านกำลังทำบุญด้วยการสร้างคนให้เขามีความรู้ความสามารถ ท่านกำลังเป็นผู้ให้

กล่าว คือ เป็นผู้ให้สติปัญญาความรู้ความสามารถกับคนอื่น ซึ่งคนคนนั้นก็คือลูกน้องของท่านเอง เพื่อให้เขาได้เจริญเติบโตก้าวหน้าในอาชีพการงานต่อไปในอนาคต และสังคมไทยก็เป็นสังคมที่เคารพนับถือคนที่เป็นครูบาอาจารย์ด้วยนะครับ

และแน่นอนว่าท่านจะเป็น "ครู" ที่อยู่ในใจของลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอครับ

ขอให้หัวหน้างานทุกท่านเป็นครูที่มี ลูกศิษย์เยอะ ๆ นะครับ

Tags : หัวหน้างาน การสอนงาน

view