สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โมเดลจัดการน้ำ (ท่วม) อย่างยั่งยืน !! ขจัดฝันร้ายซ้ำซาก...วิกฤตที่แก้ได้

จากประชาชาติธุรกิจ



น้ำ ท่วมใหญ่ค่อนประเทศไทยปีนี้ สร้างความเสียหายไปทุกหย่อมหญ้า คนไทยเสียชีวิตจากน้ำท่วมและดินถล่มครั้งนี้กว่า 200 ราย ประชาชนกว่า 2 ล้านครัวเรือน เดือดร้อนและบอบช้ำอย่างหนัก ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมกระทบกับภาวะเศรษฐกิจราว 2 หมื่นล้านบาท

แม้ วันนี้ ปัญหาน้ำท่วมจะค่อย ๆ คลี่คลาย บางพื้นที่อย่างภาคใต้ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ แต่หลังวิกฤตจากน้ำท่วมต้องฟื้นฟูอีกมากมาย คำถามคือคนไทยจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ปีต่อ ๆ ไปน้ำจะไม่ท่วมอีก แล้วประเทศไทยมีแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนหรือไม่ ?

"ชวลิต จันทรรัตน์" กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ทีมฯ เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญหลังจากนี้คือจะทำอย่างไรให้มีแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

ชวลิตอธิบายว่า ปีนี้ที่ฝนตกมากเป็นฝนที่มาจากลมและพายุที่พัดผ่าน ได้แก่ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปกติฝนจะเริ่มตกประมาณเดือนพฤษภาคม และตกปกคลุมเกือบทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีฝนที่เกิดจากพายุหมุนเขต ร้อนที่เกิดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพายุจรที่พัดมาทางทิศตะวันออกของประเทศ ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชั่น รวมทั้งพายุหมุนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

"...แนวพายุจรที่พัดผ่าน ประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม ร่นต่ำลงไปทางภาคใต้เร็วและมากขึ้น ฝนก็จะมาหยุดแถวจังหวัดชัยนาท ลงมาที่อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา จากนั้นก็กระโดดลงภาคใต้ไปชุมพร กระทั่งร่องฝนเลื่อนลงเร็วไปยังสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่"

ชวลิต บอกว่า ปกติแล้วปริมาณฝนเฉลี่ยวัดได้ มีค่าตั้งแต่ 1,000-4,000 ม.ม.ต่อปี ซึ่งน้ำขนาดใหญ่ ต่ำกว่า 4,000 ม.ม. อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ หากน้ำมากขนาด 4,500-5,000 ม.ม. อาจเอาไม่อยู่แล้ว เนื่องจากยังไม่มีมาตรการจัดการน้ำท่วมขนาดใหญ่ที่เหมาะสม ถ้าน้ำท่วมอีก คันกั้นน้ำพังแถวสิงห์บุรี อ่างทอง อาจมีคนเสียชีวิตมากกว่านี้ นี่คือความเสี่ยงในอนาคต

โมเดลแก้น้ำท่วมซ้ำซาก

เขา ยังบอกว่าอีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อนที่มีผลเช่นกัน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในทุก ๆ 19 ปี ต่อรอบของการเปลี่ยนแปลง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ตลอดจนการหมุนเวียนของกระแสลมกับกระแสน้ำทุก 5 ปี ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ และลานิญา ก็มีผลต่อประมาณน้ำในแต่ละปีด้วย

จากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัจจุบันจึงมีการคิดโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมหลายโมเดล ได้แก่ "โครงการแก้มลิง" ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากปัจจุบันน้ำใน ทุ่งเกษตร เมื่อถูกน้ำท่วม การบริหารจัดการพื้นที่ยังไม่ค่อย เหมาะสมนัก เพราะการที่น้ำเข้าไปก่อนเวลาอันสมควร ทำให้รองรับน้ำขนาดใหญ่ไม่ได้

"ที่เราต้องการคือต้องการตัด ยอดน้ำ กันพื้นที่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรมชลประทานก็กำหนดพื้นที่ศึกษาเป็น 2 พื้นที่ คือพื้นที่ลุ่มต่ำตอนบน และพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง ใช้พื้นที่ที่เคยน้ำท่วมเป็นกรณีศึกษา มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2549"

วิธีการก็คือเลือกพื้นที่ที่เคยเกิด น้ำท่วมเป็นประจำ บริหารจัดการพื้นที่ตรงนั้น ให้เอาน้ำเข้าไปในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดระดับน้ำ ลดความเสียหายในภาพรวมได้ ปรากฏว่าศึกษามาแล้ว พื้นที่ตอนบนเรามีอยู่ 5 พื้นที่ แต่พบว่าไม่ค่อยเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ที่ควบคุมน้ำยาก แต่พื้นที่แก้มลิงยังเป็นอยู่

แต่ พื้นที่ตอนล่างมีอยู่ 8 พื้นที่ ก็จะมีการศึกษา เพื่อดูว่าน่าจะเก็บกักน้ำได้เท่าไหร่ ควรจะผันน้ำเข้าไปในจังหวะไหน นอกจากนี้กำลังศึกษาเรื่องอาคาร เพราะอยากจะปล่อยเข้าตามเวลาที่เราต้องการ ฉะนั้นต้องมีอาคารควบคุมว่าถึงเวลานี้ เราถึงจะเปิดให้ น้ำเข้า หรือเปิดให้น้ำคายกลับออกมา

"ตรงนี้ก็จะมีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งจะช่วยแก้น้ำท่วมขนาดกลางได้ เราเอาแนวคิดนี้ไปคุยกับชาวบ้านส่วนใหญ่ เขาก็เห็นด้วย เพราะเขาคิดว่าไม่ว่าอย่างไร หากไม่ทำอะไร น้ำก็ท่วมอยู่แล้ว โครงการนี้อยู่ในช่วงออกแบบและศึกษาความเหมาะสม แล้วจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป"

โครงการต่อมาคือ "การขุดคลองผันน้ำ" เป็นการลดความเสี่ยงน้ำท่วมในเมืองใหญ่ การผันน้ำออก ก็คิดทางเลือกไว้หลายทาง แนวที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็มีเส้นคลองชัยนาท ซึ่งเดิมเป็นคลองส่งน้ำ ต้นคลองใหญ่ปลายเล็ก ระหว่างทางจะถูกดึงน้ำไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นน้ำจะเหลือน้อยลง ๆ ตรงนี้ก็กำลังผันน้ำอยู่ แต่ได้ในปริมาณที่จำกัด

อีกเส้นทางคือที่เมืองอ่างทอง เพราะระดับน้ำจะสูงตลอดเวลา ก็น่าจะมีการปรับปรุงคลองบางแก้ว เป็นคลองที่เชื่อมต่อระหว่างอ่างทองกับแม่น้ำลพบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำออกจะได้ลดระดับน้ำ

อีกทางเลือกหนึ่งที่มองไว้ก็ คือ ถ้าจะให้เบ็ดเสร็จในตัวคงต้องมี "คลองเจ้าพระยา 2" ก็มีการศึกษามาพอสมควรตั้งแต่สมัย 2526 บังเอิญโชคดี เรามีวงแหวนรอบที่หนึ่ง คือ รัชดาภิเษก วงแหวนรอบสองคือวงแหวนที่มีอยู่ในปัจจุบันไปสุวรรณภูมิ

ฉะนั้นขณะนี้เรามีการศึกษาวงแหวนรอบที่สาม หรือ"วงแหวนฝั่งตะวันออก" โดยมีคลองผันน้ำอยู่ตรงกลาง ซึ่งอยู่ในแผนนานแล้ว วงแหวนนี้ไปสอดคล้องกับแนวที่จะดึงน้ำออกมา ก็มีความคิดกันว่าน่าจะสร้างเป็นคลองผันน้ำไปด้วย ถนน 2 ข้างเวนคืนมากขึ้น ถนน 2 ข้าง คลองผันน้ำอยู่ตรงกลาง หรืออาจจะมีรูปแบบอื่นก็ได้ แต่รูปแบบนี้น่าจะเหมาะสมในขณะนี้

บูรณาการร่วมมือร่วมใจ

อย่าง ไรก็ตามทั้งหมดเป็นเพียงแนวคิด ซึ่งน่าจะทำเป็น เมกะโปรเจ็กต์ แต่เรื่องสำคัญคือต้องผลักดันให้เป็นแนวความคิดร่วมจากหลายฝ่าย ล่าสุดเสนอแนวคิดให้กรมชลประทาน ซึ่งก็ เห็นด้วยให้กรุงเทพฯ และให้กรมทางหลวงดูด้วย

"ชวลิต"กล่าวว่า โมเดลทั้งหมดอยากให้กรมทางหลวงและ กรมชลประทานทำด้วยกัน เพราะการเวนคืนเป็นปัญหาหนักที่สุด ถ้าเวนคืนเพื่อทำคลองระบายน้ำอย่างเดียว แรงต่อต้านก็สูง แต่ถ้าเราเวนคืนมาเพื่อทำถนน และทำคลองทั้งระบายน้ำ และคลองเพื่อการประปาด้วย ถนน 2 ข้างก็เป็นพื้นที่ที่จะขยายเป็นหมู่บ้านจัดสรรได้ คนไปอยู่ในพื้นที่ชานเมืองที่ร่มรื่น มูลค่าที่ดินที่ถนนตัดผ่านก็สูงขึ้น การที่เวนคืนสักปี 2 ปี อย่างมากก็น่าจะเรียบร้อย ถ้าเรียบร้อยการก่อสร้างก็ไม่น่าจะเกิน 3 ปี

กระนั้นก็ตาม "ชวลิต" เห็นว่า สิ่งที่ควรทำอย่างแรกสุดคือการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ให้ช่วยและร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะพื้นที่ความเสี่ยงน้ำท่วมยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี จันทบุรี ซึ่งมีผังเมืองคล้ายเมืองหาดใหญ่ เป็นเมืองใหญ่ ยังไม่มีมาตรการป้องกันมากนัก นอกจากระบบเตือนภัย

"ผมคิดว่า เรื่องใหญ่ที่สุดของปัญหาน้ำท่วมคือ การจัดวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสร้างระบบป้องกันให้ดี ส่วนเรื่องผังเมืองต้องควบคุมให้เติบโตในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ต้องให้ชาวบ้านตระหนักรู้ถึงระบบเตือนภัย ไม่ประมาท"

และ เมื่อเร็ว ๆ นี้"ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา" ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุปน กันอยู่ โดยสภาพการใช้น้ำในปัจจุบันมีลักษณะทั้งการใช้น้ำข้ามสาขาการผลิต การขยายพื้นที่ทำเกษตรเพิ่มขึ้นและบางส่วนก็ขยายไปในพื้นที่อนุรักษ์ การทำเกษตรเพิ่มขึ้นยอมต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมก็เข้ามาใช้พื้นที่และต้องการใช้น้ำเช่นกัน

ดร.อดิศร์ กล่าวว่า จากงานศึกษาวิจัยมีข้อมูลที่สะท้อนออกมาซ้ำซากคือ เรื่องความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำแทบไม่มีแล้ว และสภาพป่าที่เหลือน้อยเต็มที

"ในช่วง 2-3 เดือนที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ยังมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่มีสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เช่น ช่วงนี้น้ำท่วมแล้วอีกไม่นานจะมีปัญหาน้ำแล้ง การที่ปัญหาสองอย่างมันเกิดขึ้นในเวลาห่างกันไม่นาน ผิดปกติ ย่อมฟ้องถึงปัญหาการขาดความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฉะนั้นการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำมีส่วนที่จะช่วยควบคุมการไหลของน้ำ และน่าจะช่วยป้องกันทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วย แต่คงไม่ช่วยทั้งหมด ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นด้วย"

ดร.อดิศร์เสนอว่า ควรมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและดูแลการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนให้เข้มข้น มีการสร้างเขื่อนอาจยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอจากจำนวนประชากรที่เพิ่ม ขึ้นและ ต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้นน้ำซึ่งทำการเกษตรที่ต้องการใช้น้ำมากขึ้น ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำเหลือเพียงพอสำหรับคนพื้นราบ

"การมองการ บริหารจัดการน้ำเป็นจังหวัด แล้วปล่อยให้แต่ละจังหวัดสร้างเขื่อนกั้นสองฟากแม่น้ำตามอำเภอใจเพื่อไม่ให้ จังหวัดตัวเองน้ำท่วม การแบ่งพื้นที่อย่างเลือกปฏิบัติ เช่น ปกป้องบางพื้นที่ไม่ให้ท่วม แต่ให้น้ำไปท่วมในพื้นที่อื่นแทน ในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้เกิดคำถามกินใจว่า สิทธิในการป้องกันพื้นที่ตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน นโยบายการกั้นน้ำ ไม่ให้ท่วมจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ต้องดูระบบใหญ่ ๆ ทั้งหมด"

นี่คือโจทย์ใหญ่เรื่องน้ำที่มิอาจมองข้ามแม้แต่เสี้ยววินาที มิฉะนั้นคนไทยต้องฝันร้ายซ้ำซาก !

Tags : โมเดลจัดการน้ำท่วม อย่างยั่งยืน ขจัดฝันร้าย ซ้ำซาก วิกฤตที่แก้ได้

view