สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารจัดการวิกฤติ ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สนั่น อังอุบลกุล


วิกฤติที่เกิดจากภัยพิบัติในโลกขณะนี้ ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า
  การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั้งคิด ล้วนมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และห่วงโซ่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ และค่อยๆ สร้างความหายนะให้แก่มนุษยชาติของเราในที่สุด

 ในปี 2553 นี้ ได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มีจำนวนครั้งมากที่สุดปีหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผ่นดินไหว การเกิดสึนามิ ฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด เกิดภาวะอากาศหนาวจัด และร้อนจัด ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนี้ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นภาวะวิกฤติที่เราจะละเลยไม่ได้

 ขณะนี้ มีผู้นำหลายประเทศพยายามเรียกร้องให้ประชากรโลก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำระดับนานาชาติเอาใจใส่และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังใน การดำเนินการต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันและแก้ไข สภาวะโลกร้อนก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป การบริหารจัดการภาวะวิกฤติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระดับระหว่าง ประเทศ เป็นเรื่องยากเพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ยาก

 ดังนั้น ในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติในเรื่องนี้ อาจต้องเริ่มต้นที่หน่วยงานระดับองค์กรที่ CEO ของแต่ละองค์กรสามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติอันเป็นสภาวะไม่ปกติ ก็ต้องใช้กรรมวิธีแตกต่างไปจากเดิมๆ ที่เราเคยทำกัน Professor Behnam N.Tabrizi แห่งมหาวิทยาลัย Standford ได้กล่าวถึง หลักการของการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงในหนังสือ Rapid Transformation ไว้ว่า  "Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงในฐานราก (Fundamental) ของความเชื่อและการกระทำ ที่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (1)(All- Encompassing)  อย่างบูรณาการ (2) (Integration) โดยมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วฉับพลัน (3) (Fast) ด้วยหัวใจและความเชื่อมั่นที่เต็มร้อย (4) (Passionate Commitment buy-in) ดังนั้น การจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงต้องดำเนินการตาม 4 ขั้นตอนดังกล่าว"

 ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ได้มีการทำ Transformation มาแล้วกว่า 2-3  ปี นำโดย Guru ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฉีดพลาสติกจากต่างประเทศ กรรมวิธีในการทำ Transformation จะคล้ายคลึงกับ 4 ขั้นตอนของ Professor Behnam โดยเริ่มจากการกำหนด Strategy ที่ครอบคลุมทุกภารกิจของธุรกิจ (All-Encompassing) มีการกำหนด Process ในการผลิตและการทำงานใหม่ควบคู่ไปกับการปลูกฝังวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับ Strategy และ Process ที่ออกแบบไว้
 การทำ Transformation ในครั้งนั้น ศรีไทยฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่เพียงแต่สามารถพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เคยมีการทำกันแบบ เดิมๆ แต่ยังสามารถคิดต่อยอด จนทำให้เรามีอัตราความเร็ว ในการผลิตของเครื่องจักรเทียบเคียงได้กับระดับ World Class ส่งผลให้มีการใช้พลังงานน้อยลง ใช้เครื่องจักรและพื้นที่น้อยลง ใช้จำนวนบุคลากรน้อยลง แต่มีทักษะและความชำนาญเพิ่มขึ้นสามารถกระจายไปทำงานอย่างอื่นที่มีคุณค่า มากขึ้นได้

 ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เรียนรู้ว่า บางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร็วเท่ากับธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม การคิดต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์รวมของทั้งองค์กร จากการทำ Transformation ดังที่กล่าวมา จากวันนั้น ถึงวันนี้ เรายังมี Momentum ของการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกภาคส่วนขององค์กร ส่วนที่เราเป็นห่วงและพยายามทำอยู่ตลอดเวลา คือ การไม่ให้องค์กรมีบรรยากาศและวัฒนธรรมของการทำงานแบบ "ทำไปวันๆ" โดยไม่กระหายที่จะสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า โดยที่คนอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้

 ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก และการดำเนินการในเรื่องการป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สิ่งที่ศรีไทยซุปเปอร์แวร์มีความเชื่อและลงมือทำมาโดยตลอด คือ การสร้างจิตสำนึกให้แก่คนที่อยู่ใกล้ตัวก่อน คือ คนในครอบครัวและคนในองค์กร เริ่มจากการทำเรื่องง่ายๆ เช่น เวลาประชุมน้ำที่เสิร์ฟในห้องประชุมไม่ต้องเติมเต็มแก้ว ดื่มหมดแล้วค่อยเติมใหม่หรือการไม่มีอาหารเหลือในจานข้าว ต้องกินให้หมด และขณะนี้ ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการรณรงค์ และผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อใช้ใส่อาหารที่เหลือในแต่ละมื้อนำกลับไปรับประทานที่บ้านด้วย

Tags : การบริหาร จัดการวิกฤติ ช่วงที่ สภาพอากาศเปลี่ยน

view