สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุบัติเหตุรถตู้กับอุปทานหมู่ในโลกออนไลน์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล


จากเหตุการณ์ อุบัติเหตุรถตู้พลิกคว่ำกลางทางด่วนโทลล์เวย์ อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน ได้สร้างปรากฏการณ์ความเกลียดชังบนโลกออนไลน์
ซึ่ง ปลุกแรงกระเพื่อมให้สังคมไทยต้องหันมามองตัวเองอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการสร้างเครือข่ายคนที่เห็นร่วมกัน เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อหญิงสาวผู้ต้องสงสัยในฐานะผู้ก่อเหตุโศกนาฏกรรมใน ครั้งนี้
 

กระแสความขุ่นเคืองและต้องการจะแก้แค้นถือกำเนิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่มีการเสนอข่าวการชนของรถตู้ประจำทางสาย สวทช. รังสิต-กรุงเทพฯ กับรถเก๋งซีวิคสีขาว โดยการนำเสนอในระยะแรกเป็นเพียงการรายงานข่าวอุบัติเหตุทั่วๆ ไป ซึ่งสร้างเพียงความตระหนกตกใจถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยกับรถโดยสารประจำ ทางอย่างรถตู้บนเส้นทางโทลล์เวย์ ที่นับจำนวนรวมได้กว่าหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา
 

ในวันแรกสำนักข่าวกระแสหลักต่างเน้นการทำประเด็นข่าวไปที่การรายงานความ เสียหาย จำนวนผู้ตาย และเจาะลึกไปยังกรณีการขับขี่ยวดยานของรถประจำทางอย่างรถตู้ เป็นสำคัญ แรงกดดันถาโถมไปที่รถตู้ในแนวโน้ม ที่ไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับสวัสดิการของผู้ใช้บริการได้ อย่างไรก็ตาม เพียงชั่วข้ามคืน กระแสข่าวในโลกออนไลน์กลับสวนทางเล่นประเด็นที่ตรงกันข้ามกับสำนักข่าวกระแส หลัก นั่นคือ การเจาะลึกเข้าไปยังภาพบันทึกในกล้องวงจรปิดของโทลล์เวย์ พร้อมกับมุ่งประเด็นการโจมตีไปยังรถเก๋งส่วนตัวที่ชนท้าย จนนำไปสู่สาเหตุของความเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้ การชงประเด็นเริ่มเบี่ยงมาที่ผู้ขับขี่รถเก๋ง ทั้งในแง่ของการจับผิดจากกล้องวงจรปิด การเจาะลึกข้อมูลส่วนตัว อายุของผู้ขับขี่ที่ลื่นไหลไปมาระหว่าง 16-18 ปี รวมถึงภาพถ่ายของเจ้าของรถ ขณะใช้อุปกรณ์สื่อสารหลังจากอุบัติเหตุ
 

จากการสร้างเครือข่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของบรรดาผู้สื่อข่าวออนไลน์ใน แง่มุมที่ต่างออกไปจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนกระแสหลัก เป็นประหนึ่งเหมือนคลื่นสึนามิก่อนวันปีใหม่ที่เป็นระลอกกระเพื่อมแบบเนิบ นาบไปสู่คลื่นถาโถมที่รุนแรง สร้างกระแสจู่โจมมุ่งเป้าไปยังรถเก๋งคู่กรณี ภายใต้แรงกระตุ้นในแง่ของการเรียกร้องความเป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้กระแสสังคมในโลกออนไลน์สามารถถ่วงดุลการรับรู้ให้กับคนในสังคม ภายใต้เนื้อหาที่สะท้อนความหวาดระแวงของการ "เล่นเส้น" ในฐานะลูกคนใหญ่คนโตของคู่กรณีในเหตุการณ์ดังกล่าว
 

การปั่นกระแสความเกลียดชังที่มีต่อตัวบุคคลในกรณีดังกล่าว นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ที่ขับเคลื่อนอารมณ์และความคิดเห็นของ ตัวบุคคลไปสู่อารมณ์และความคิดเห็นในระดับสาธารณะ
 

ในยุคใหม่ หรือที่เรียกกันว่า "การล่าแม่มด" ซึ่งสามารถพลิกผันได้ในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุผลที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์อันคุกรุ่นของคนออนไลน์ ซึ่งสร้างกระแสความเกลียดชังอยู่ในขณะนี้ คือ อุบัติเหตุดังกล่าวมีลักษณะของคู่กรณีที่ถูกสถาปนาขึ้นในความขัดแย้งเชิง สถาบันและชนชั้น กล่าวคือ กรณีรถตู้และผู้โดยสาร ซึ่งนำเสนอภาพตัวแทนของชนชั้นกลางในเมืองที่ต้องดิ้นรนในการดำเนินชีวิต ประจำวัน โดยอาศัยรถประจำทาง ทั้งนี้ แต่ละบุคคลต่างมีประวัติของการต่อสู้ชีวิต ซึ่งแม้จะไม่ตรากตรำเท่ากับชนชั้นรากหญ้าก็ตาม แต่ก็สะท้อนความเป็นปัญญาชนและปัจเจกชน ที่ต่อสู้ชีวิตมาด้วยน้ำมือของตน ภายใต้ระบบและกลไกเท่าที่ประเทศไทยแห่งนี้จะเอื้ออำนวยให้ได้ หลายๆ คนบนรถโดยสาร คือ ผู้ที่ผ่านระบบการคัดเลือกเข้าในสถานศึกษาชั้นนำตามระบบคุณธรรม (Merit system) หลายๆ คน คือ อดีตนักเรียนทุนที่ตะเกียกตะกาย ไขว่คว้าโอกาสทางการศึกษา เพื่อเลื่อนฐานะและชีวิตการงานให้ดีขึ้นด้วยความรู้ ความสามารถของตนเองล้วนๆ ในขณะที่ทางฝั่งคู่กรณีที่เป็นคนขับรถเก๋ง ได้ถูกสร้างภาพในลักษณะของการเป็นคุณหนูไฮโซ นามสกุลใหญ่ ไร้สำนึกและความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใต้ภาพลักษณ์ที่คนในสังคมออนไลน์ปั้นแต่งให้เป็น "ลูกอำมาตย์" ที่พร้อมจะมีอำนาจเหนือกฎหมายแบบส่อเค้าลาง ว่า จะมีอำนาจของ "พ่อมด" ปกป้องอยู่เบื้องหลัง
 

เครือข่ายบอกต่อในโลกออนไลน์ในกรณีดังกล่าวทำให้ต้องตั้งข้อสงสัยใน อิทธิพลของสื่อออนไลน์ ซึ่งหลายๆ คน ตั้งความหวังว่า ด้วยศักยภาพของสื่อออนไลน์ ที่อนุญาตให้ผู้รับสารสามารถตอบโต้แบบสองทาง (Interactive) นี้ จะเพิ่มการมีส่วนร่วมในการสื่อสารในลักษณะของการเป็นผู้รับสารที่กระตือ รือร้น (active audience) ซึ่งจะทำให้ผู้รับสารสามารถมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลที่หลากหลายถี่ถ้วน ขึ้น โดยจะไม่ถูกล้างสมอง จูงจมูกด้วยการโฆษณาชวนเชื่อแบบง่ายๆ เหมือนกับการรับข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่มักจะเป็นการส่งสารทางเดียวอีกต่อไป ความหวังดังกล่าวนับเป็นดูเหมือนจะถูกท้าทายด้วยกลไกทางจิตวิทยาของการเกิด อุปทานหมู่ในโลกออนไลน์ ที่ต่างช่วยกันสร้าง คลิก เมนท์ และส่งต่อๆ กันไปจนกลายเป็นการอัดฉีดข้อมูลข่าวสารที่ผสมผสานกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ คนในสังคมชนิดที่รวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง
 

ความหวาดระแวงของสังคมออนไลน์ในกรณีอุบัติเหตุรถตู้ดังกล่าวนับเป็นอุป ทานหมู่ ที่มาจากจิตใต้สำนึกของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งหาได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่ หากแต่เกิดจากการกดทับของโครงสร้างทางชนชั้นที่นับวันจะถูกท้าทายด้วย เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ที่เคยอยู่ใต้อาณัติมีพื้นที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ ตนเองในสังคมอยุติธรรมที่ตนดำรงอยู่ได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ความสูญเสียดังกล่าวสูญเปล่าไปเพียงแค่คำอธิบายว่ามันเป็น "อุบัติเหตุ" ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

Tags : อุบัติเหตุรถตู้ อุปทานหมู่ โลกออนไลน์

view