สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดผลสอบกิจการพลังงาน ไร้ธรรมภิบาล-ประโยชน์ทับซ้อน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สาเหตุผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงสร้างการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ที่เปิดทางให้ข้าราชการนั่งในบอร์ดบริษัทเอกชน
วัน ที่ 3 ก.พ. คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง "ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ" ภาคที่ 2  ซึ่งเป็นผลการศึกษาระหว่างเดือนพฤษภาคม 2552-ธันวาคม 2553 โดยเตรียมรายงานผลการศึกษาดังกล่าวเข้าสู่การประชุมวุฒิสภาในกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2554 นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาล
  การศึกษา 4 กรณี ประกอบด้วย 1. กรณีความไม่โปร่งใสในการจัดการรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียม 2. กรณีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานด้านพลังงาน  3. กรณีความทับซ้อนในผลประโยชน์ของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  4. กรณีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และ 5.กรณีค่าเงินบาทแข็งกับราคาน้ำมันที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่เป็นธรรม
  ใน ประเด็นแรกนั้น การศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ประเทศไทยเริ่มมีการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมตั้งแต่ พ.ศ. 2466 และได้พบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มมากขึ้น กระทั่งในปี 2552 ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอันดับที่ 23 และเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 35 จาก 224 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมของไทย
  แต่เมื่อมาพิจารณาถึง รายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2524-2552 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุในรายงานประจำปี 2552 ว่า มี การพัฒนาปิโตรเลียมขึ้นมาเป็นมูลค่ารวม 2,628,647.5 ล้านล้านบาท แต่มีรายได้จากค่าภาคหลวงเป็นเงินเพียง 329,729.26 ล้านบาท คิดเป็น  12.54% และตั้งแต่ปี 2528-2551 มีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 429,212.28 ล้านบาท ดังนั้น หากรวมกันแล้วรัฐมีรายได้จากการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทยสัดส่วน 28.87% ของมูลค่า
  การเทียบจากเอกสารสรุประบบสัมปทานของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พบว่าประเทศไทยได้รับเงินส่วนแบ่งจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมในอัตราที่ต่ำ สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับรายรับจากค่าภาคหลวง โดยมิได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการทำสัมปทาน
  ขณะที่ประเทศกัมพูชาจะได้ ส่วนแบ่งกำไรอีก 40-60% จากการขุดเจาะน้ำมัน และส่วนแบ่งอีก 35% จากการผลิตก๊าซธรรมชาติ ส่วนสหภาพพม่าได้ส่วนแบ่งกำไรอีก 50-80% จากการขุดเจาะน้ำมัน และได้ส่วนแบ่งกำไรอีก 45-60% จากการผลิตก๊าซ
  ใน รายงานผลการตรวจสอบ ระบุว่า ระหว่างปี 2546-2551 ทั่วโลกตื่นตัวต่อการปรับปรุงส่วนแบ่งรายได้จากปิโตรเลียมให้สูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาปิโตรเลียมมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เช่น ในมาเลเซีย คาซัคสถาน เวเนซุเอลา โบลิเวีย อินเดีย รัสเซีย อังกฤษ แองโกลา แอลจีเรีย ลิเบีย ทรินิแดด แอนโทบาโค รัฐอลาสกา ในสหรัฐอเมริกา และรัฐอัลเบอร์ทา ของแคนาดา
  ในส่วนของไทยนอกจากไม่ได้ปรับวิธีการ และส่วนแบ่งจากการให้สัมปทานเพิ่มเหมือนประเทศอื่นแล้ว ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทั้งการให้และแก้ไขสัมปทานโดยไม่จำกัด และให้อำนาจรัฐมนตรีสามารถพิจารณาลดหย่อนค่าภาคหลวงจากเดิมไม่เกิน 30% เป็น ไม่เกิน 90% ทั้งที่ค่าภาคหลวงของไทยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวดำเนินการในปี 2550 และภายหลังเพียง 62 วัน รัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้อนุมัติสัมปทานทั้งสิ้น 22 สัมปทาน และ 27 แปลงสำรวจ
  นอก จากนี้ ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 5 และ 6 ในปี 2550 ให้ข้าราชการระดับสูง สามารถไปดำรงตำแหน่งในนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้น และให้ข้าราชการที่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการ และกรรมการ หรือผู้บริหารในนิติบุคคลที่รับสัมปทาน ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐวิสาหกิจที่ตนเองเป็นกรรมการ
  สำหรับกรณีกลไก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในรายงานผลการตรวจสอบ ระบุว่า กองทุนน้ำมันมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมัน เชื้อเพลิง โดยใช้กลไกการเก็บเงินเข้ากองทุน และจ่ายเงินชดเชยในการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ  แต่ปัจจุบันกองทุนกลายเป็นกองทุนประกันรายได้ และผลกำไรของเอกชน ทั้งขาดการตรวจสอบในเรื่องการใช้จ่ายเงินจากภาคประชาชน ทั้งที่เงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันมาจากผู้ใช้น้ำมัน  แต่ถูกใช้ไปกับการชดเชยการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทั้งที่ภาคส่วนที่ใช้แอลพีจีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ ปิโตรเคมี
  ใน รายงานของคณะอนุกรรมาธิการยังศึกษาถึงการกำหนดลักษณะ และคุณภาพของเอ็นจีวีตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ที่ให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ได้ไม่เกิน 18% ของปริมาตร ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้มี Co2  ในเนื้อก๊าซไม่เกิน 3-6%
 การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวของกระทรวงพลังงาน ได้ระบุเพื่อปรับให้ค่าพลังงานความร้อนของก๊าซแต่ละแหล่งให้อยู่ในระดับใกล้ เคียงกัน แต่การปรับค่าดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการปล่อย Co2 ในระดับสูง โดยหากเทียบจำนวนรถเอ็นจีวีที่มีกว่า 2 แสนคันในปัจจุบันใช้เอ็นจีวีรวมกัน 2 ล้านตัน พบว่ามีการปล่อย  Co2 ถึง 700,000 ตันต่อปี
 นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการยังมีการตรวจสอบกรณีที่เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ช่วงที่เงินบาทแข็งค่าตั้งแต่เดือนมกราคม- พฤศจิกายน 2553 เปรียบเทียบฐานราคาเดือนธันวาคม 2553 พบว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 4.84% ส่วนน้ำมันในรูปดอลลาร์สูงขึ้นเฉลี่ย 4.73%  เมื่อคำนวณแล้วราคาน้ำมันดิบจากแหล่งดูไบมีราคาลดลง 0.49 % แต่ช่วง 11 เดือน ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลไม่ได้ลดลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนต้องบริโภคน้ำมันสูงเกินจริงไป 30,000 ล้านบาท
  นางสาว รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า ปัญหาที่พบนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากมีการปฏิบัติที่ขัดกับหลักธรรมาภิบาลหลาย ประการในภาคพลังงาน โดยเฉพาะในเรื่องการแยกบทบาทหน้าที่ (Segregation of Duty) และแยกบทบาทอำนาจ (Separation of Power) เช่น ในกรณีที่ปลัดกระทรวงพลังงานนั่งเป็นประธาน และกรรมการ ในบริษัทลูก และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ทั้งนี้ การขาดหลักธรรมาภิบาลดังกล่าวย่อมนำไปสู่การครอบงำนโยบายของรัฐโดยธุรกิจเอกชนได้
  ทั้ง การทับซ้อนกันในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล และบทบาทในฐานะกรรมการในธุรกิจพลังงานยังมีโอกาสที่จะมีการครอบงำนโยบายรัฐ โดยกลุ่มทุนพลังงาน และขาดกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
  นางสาวรสนา กล่าวว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เห็นได้ชัด คือ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานก่อนชงเรื่องให้กับคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (กพช.) และมีอำนาจในการใช้เงินกองทุนน้ำมัน  แต่มีโครงสร้างที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และมีข้าราชการระดับสูงอย่างปลัดกระทรวงพลังงานเป็น กรรมการ และหลายครั้งปลัดกระทรวงถูกมอบหมายให้นั่งเป็นประธาน กบง. ทั้งที่ปลัดกระทรวงมีตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนในธุรกิจพลังงานที่กระทรวงพลังงานต้องเข้าไปกำกับดูแล เป็นต้น
  ทั้ง นี้ กลไกการกำกับดูแล และตรวจสอบที่ไม่มีธรรมาภิบาลดังกล่าว ส่งผลให้นโยบายที่ออกมาสอดคล้อง และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงาน อย่างกรณีของ Co2 ในเอ็นจีวี ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้มีการนำก๊าซดิบที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซมาใช้เป็นเอ็นจีวี ทำให้ไม่ต้องสร้างโรงแยกก๊าซใหม่ และทำให้ต้นทุนอยู่ในระดับต่ำหรือไม่ 
  หรือ กรณีของโครงสร้างราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นน้ำมันที่ยังคงอ้างอิง ราคาในโรงกลั่นที่สิงคโปร์มาตลอดหลายสิบปี ทั้งที่เป็นราคาที่ถูกกำหนดตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการลงทุนใน กิจการโรงกลั่นน้ำมันของต่างประเทศ ทำให้ต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นน้ำมันสามารถขายน้ำมันที่กลั่นในประเทศใน ราคานำเข้า โดยใช้ "ราคาเทียบเท่าการนำเข้าอิงตลาดสิงคโปร์" ซึ่งเรียกว่า "ราคาอิงตลาดสิงคโปร์" คือ ราคาที่โรงกลั่นสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง และค่าโสหุ้ยต่างๆ ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว
  นางสาว รสนา กล่าวตอนท้ายว่า การขาดหลักธรรมาภิบาลในภาคพลังงาน ทำให้ประชาชนสูญเสียประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ และในราคาที่เป็นธรรม ทั้งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนของพลังงานของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 19 % ของจีดีพี
  รายงานดังกล่าว กรรมาธิการจะเสนอรัฐบาล เพื่อให้มีการแยกโครงสร้างการกำกับดูแลนโยบายของข้าราชการ และการนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนออกจากกัน และจัดสรรการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะก๊าซจากแหล่งในประเทศทั้งในรูปแอลพีจีและเอ็นจีวี ที่ต้องจัดสรรให้กับภาคครัวเรือนและยานยนต์ก่อน และต้องอยู่ในระดับราคาที่เป็นธรรม

Tags : เปิดผลสอบ กิจการพลังงาน ไร้ธรรมภิบาล ประโยชน์ทับซ้อน

view