สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกิดในสหรัฐ โตในยุโรป ออกผลในเอเชีย (1) โดย : จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

เกิดในสหรัฐ โตในยุโรป ออกผลในเอเชีย (1)



“ผลิตภาพ” หรือที่คนไทยบางส่วนมักคุ้นเคยกับคำว่า การเพิ่มผลผลิต นั้นเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในราวปีค.ศ.1911
เมื่อ Frederick W. Taylor ได้ทำการศึกษาและสังเกตวิธีการทำงานของคนงานในเหมืองแร่แห่งหนึ่ง แล้วพบว่าจากการที่คนงานแต่ละคนใช้พลั่วตักแร่ด้วยวิธีการและท่าทางที่แตก ต่างกัน ทำให้ได้จำนวนแร่ที่ไม่เท่ากัน นอกจากนั้นแนวคิดดังกล่าวยังนำมาใช้เพื่อหาแนวทางขจัดความสิ้นเปลืองวัตถุ ดิบและพลังงาน เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวพลังงานที่สำคัญคือ ถ่านหิน กระบวนการผลิตก็ใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีการคิดประดิษฐ์เครื่องจักรที่ทันสมัยแล้วก็ตาม จากการศึกษาเขาพบว่า ความสิ้นเปลืองวัตถุดิบและพลังงานเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ วิธีการปฏิบัติงาน และความรับผิดชอบของคนงาน

นอกจากสาเหตุสองประการข้างต้น Taylor ยังพบว่าเพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการบริหารงาน Taylor จึงมุ่งศึกษาวิธีการปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต เน้นศึกษา "ระยะเวลาและความเคลื่อนไหวในการทำงาน" เขาได้สรุปผลการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. ต้องศึกษาวิธีการปฏิบัติงานในกระบวนการผลิตแต่ละส่วนอย่างละเอียด
2. พัฒนาวิธีการปฏิบัติงานให้ได้ผลดีที่สุด
3. คัดเลือกและฝึกฝนคนงานให้ปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กำหนดให้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ฝ่ายบริหารต้องมีความรับผิดชอบต่อการวางแผนการทำงาน กำหนดวิธีการทำงานให้ชัดเจน และเลือกสรรคนงานอย่างเหมาะสม
5. คนงานก็ต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ฝ่ายบริหารกำหนดให้

จึงคิดว่าหากเขาสามารถค้นคิดวิธีการทำงานที่ได้ผลดีที่สุด และกำหนดเป็นมาตรฐานให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตาม ก็จะทำให้ได้จำนวนแร่มากที่สุด Taylor ยังคิดต่ออีกว่าถ้ากำหนดปริมาณงานที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่มอบหมาย ก็จะส่งผลให้คนงานปฏิบัติงานได้เต็มความสามารถ ฝ่ายบริหารก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการทำงานของคนงานอีก การใช้มาตรฐานกำหนดวิธีการทำงานเพื่อให้สามารถควบคุมและวัดผลงานได้นี้เอง คือจุดเริ่มต้นของคำว่า “ผลิตภาพ” ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารงานยุคเริ่มแรกของวงการ อุตสาหกรรม จนได้รับการยอมรับและพัฒนาเพิ่มเติมมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน

การพัฒนาผลิตภาพเริ่ม เป็นรูปเป็นร่างขึ้นตามลำดับ เทคนิควิธีการใหม่ๆได้พัฒนาขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางด้านสถิติ มีการนำเทคนิควิธีการทางสถิติมาใช้ในการพัฒนางานด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตความก้าวหน้าในการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ในครัว เรือนนั้น ยังไม่มีความสำคัญเทียบเท่ากับการผลิตยุทธปัจจัยหรืออาวุธทางทหาร ซึ่งต้องการคุณภาพที่สูง และมีความเที่ยงตรงแม่นยำอย่างมาก อีกทั้งยังต้องสามารถทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น หนาวมาก หรือร้อนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่วิทยาการความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สหรัฐอเมริกา ถือกำเนิดขึ้นในวงการทหารก่อน การบริหารจัดการทางด้านการผลิตก็เช่นเดียวกัน การผลิตยุทธปัจจัยต่างๆจึงเข้มงวดอย่างมาก มาตรฐานการผลิตจึงต้องสูงเป็นพิเศษ นี่เองจึงเป็นที่มาของมาตรฐานทางทหาร หรือที่เรียกว่า Military Standard

แม้ว่าพัฒนาการของอุตสาหกรรมในสหรัฐจะสูงกว่าหลายชาติในโลก โดยเฉพาะในเอเชีย แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่แพ้สงคราม ต้องตกอยู่ในสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และต้องพลิกฟื้นประเทศขึ้นมาใหม่ การส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ไปช่วยบูรณะและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ให้แก่ญี่ปุ่น กลับกลายเป็นว่าได้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถต่อยอดความรู้ที่ได้จากสหรัฐ และพัฒนาจนกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัยมากกว่า สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่าสหรัฐในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

นี่เองเป็นผลให้ภาคเอกชนของสหรัฐต้องปรับตัวอีกครั้ง จากการรับถ่ายทอดความรู้ที่มาจากสิ่งที่ภาคการทหารคิดค้นไว้ในช่วงแรก มาเป็นการสร้างความรู้ขึ้นใหม่ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับภาคเอกชนมากกว่า จนกระทั่ง C. Jackson Grayson ผู้ก่อตั้ง APC (American Productivity Center) ขึ้นในปี 1977 ได้บุกเบิกและเผยแพร่ความรู้เพื่อยกระดับสมรรถนะและผลิตภาพให้ สูงขึ้น ผ่านการฝึกอบรมมากมาย หลักสูตรแรกที่สร้างขึ้นมีชื่อว่า "How to Plan and Manage a Successful Productivity Improvement Program" หรือการวางแผนและจัดการแผนปรับปรุงผลิตภาพอย่าง มีสัมฤทธิผล โดยพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมาชุดหนึ่ง และในปี 1981 ยังได้นำสมาชิกในสภา (White House Cabinet Member) ไปศึกษาดูงานที่ Japan Productivity Center ของญีปุ่น เพื่อขับเคลื่อนผลิตภาพใน ภาคการบริหารและผู้ทำงานในสำนักงาน White Collar Worker และในปี 1985-1987 APC ยังได้เป็นผู้นำในการศึกษาเพื่อสร้างเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐ อเมริกาอีกด้วย

สำหรับการพัฒนาผลิตภาพใน ยุโรป ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสงครามสงบ ได้มีความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหรัฐอเมริกาภายใต้ Marshall Plan ในปี ค.ศ. 1948 และในปี 1949 คำว่า ผลิตภาพ (Productivity) ก็ได้กลายเป็นนโยบายหลักที่สหรัฐอเมริกามีต่อยุโรป การเพิ่มผลิตภาพเป็น ความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของยุโรป อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือทางนโยบายการเมืองที่เรียกว่า “The Politics Productivity” อีกด้วย เพราะในอดีตหลายชาติในยุโรปมีวิธีการปกครองที่ออกไปทางเผด็จการหรือ คอมมิวนิสต์

การก่อตั้ง European Productivity Agency (EPA) ในปี ค.ศ. 1953 ภายใต้องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป (the Organization for European Economic Co-operation – OEEC) เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้แนวคิดด้านผลิตภาพขยาย ตัวไปทั่วยุโรป โดยในช่วงเริ่มต้น EPA มีหน้าที่ในการนำแนวคิด เทคนิควิธีการ และเครื่องมือใหม่ๆจากสหรัฐมาปรับใช้ในการพัฒนายุโรป OEEC ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองหลังจากนั้น 8 ปี เมื่อผนวกเอาสหรัฐอเมริกา และคานาดาเข้ามาในกลุ่มกลายเป็น The Organization for Economic Co-operation and Development  หรือ OECD ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน

ที่สำคัญนิยามและความหมายของผลิตภาพใน เชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดขึ้นโดย EPA ในปี ค.ศ.1958 สรุปใจความสั้นๆได้ว่า “สำนึกในจิตใจที่จะมุ่งแสวงหาทางปรับปรุงสิ่งต่างๆในวันนี้ ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้ และพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้” ยังถูกใช้อ้างอิงให้เป็นคำนิยามของคำว่าผลิตภาพในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

Tags : เกิดในสหรัฐ โตในยุโรป ออกผลในเอเชีย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

view