สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระวัง...ไบโพลาร์จะมาเยือน

จาก โพสต์ทูเดย์

โรคไบโพลาร์ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ถ้าหากเป็นแล้วไม่รีบรักษาหรือบำบัด อาจเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว 

มีข้อมูลที่เป็นสถิติสากลระบุว่า ในปี 2546 มีคนเป็นโรคซึมเศร้า 5-25% และประมาณ 1-2% ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ซึ่งในปี พ.ศ.2563 องค์การอนามัยได้โลกคาดการณ์ว่า “โรคซึมเศร้า” จะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ และที่น่าเป็นห่วงพบว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าด้วย

รู้จัก...โรคไบโพลาร์

นพ.โกวิทย์ นพพร จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าว่า ไบโพลาร์ เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนชนิดหนึ่ง มาจากคำว่า “bi” แปลว่าสอง และ “polar” ที่แปลว่า ขั้ว รวมแล้วแปลว่าโรคสองขั้ว หมายถึงอารมณ์ที่ขึ้นลงผิดปกติ คือสุขมากเกินไปจนเข้าข่ายคึกคัก และทุกข์มากเกินไปจนเข้าข่ายซึมเศร้าทว่าอารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอารมณ์ โกรธ เสียใจ แต่หมายถึงการแสดงออก สีหน้าพฤติกรรม ที่เกิดจากมุมมองที่มีต่อตนเอง มุมมองต่อผู้อื่น มุมมองต่อสิ่งแวดล้อม และมุมมองต่ออนาคต

จิตแพทย์แห่งโรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวถึงลักษณะการแปรปรวนอารมณ์ของผู้ที่ป่วยโรคไบโพลาร์ว่า จะ มีระดับการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ที่ผิดปกติเป็นเวลานานๆ อันส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคนรอบข้าง ในขั้วที่สุขมาก ผู้ป่วยจะมีอาการครื้นเครง บางครั้งก้าวร้าว หงุดหงิด เห็นคนอื่นแล้วไม่ถูกใจไปหมด ตนถูกคนเดียว พูดมาก นั่งไม่นิ่ง มีพลังทางเพศสูง มั่นใจตัวเองสูง ความคิดบรรเจิด ตัดสินใจเร็ว ทำให้การยับยั้งชั่งใจไม่ค่อยดี พวกนี้จะมีความคิดมีโปรเจกต์เยอะ บางคนถึงขนาดกู้หนี้ยืมสินจะสร้างฟาร์มกวาง เลี้ยงกวาง ใช้เงินเก่ง ไม่มีสมาธิ เพราะว่าความคิดมันวิ่งเร็วมาก เปลี่ยนจากโปรเจกต์หนึ่งไปอีกโปรเจกต์หนึ่งได้อย่างเร็ว

 

ส่วนอารมณ์ขั้วทุกข์จะมีลักษณะซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่ายกับชีวิต เฉยชา หงุดหงิด กังวล นอนไม่หลับ กินไม่ค่อยได้ ไม่มีแรง รู้สึกไม่สบายต่างๆ นานา ชอบคิดว่าตนเป็นโรคนั้นโรคนี้และคิดว่าตนได้ทำอะไรผิด

“บางคนอาจจะบอกว่าความคิดมันวนเวียนได้ยินเสียงข้างๆ หูเรื่อยๆ สมมติเอาสตางค์แม่ไปตอนเด็ก 50 สตางค์ ก็จะรู้สึกผิดมาก รู้สึกว่าต้องชดใช้กรรมนี้ หนักเข้าก็เกิดความรู้สึกอยากตาย พวกนี้จะไม่มีสมาธิ สมองไม่ทำงาน หลายคนเรียนไม่รู้เรื่อง บางคนไม่รู้ว่าตนซึมเศร้าแต่มาหาหมอเพราะว่าเขาทำงานไม่ได้ ไม่มีสมาธิแล้วเฉื่อยชา เหมือนไฟตก แบตเตอร์รี่ไม่มี ไฟก็จะอ่อนลงหรี่ลงๆ”

นพ.โกวิทย์ กล่าวว่า ลักษณะการดำเนินของโรคไบโพลาร์ อารมณ์ 2 ขั้ว จะหลายแบบ ขึ้นแล้วก็ลงกลับไปกลับมา บางคนขึ้นอย่างเดียวแล้วก็ลงมาปกติแล้วขึ้นใหม่ บางคนโชคร้ายมีทั้งขึ้นทั้งลง ซึ่งทั้งขึ้นทั้งลงจะมีระยะกลับมาปกติได้อาจสั้นหรือยาวก็ได้ คนโชคดีอาจถึง 5 ปี 10 ปี คนที่โชคร้าย เพียง 1-2 อาทิตย์หรือ 1 เดือนจะเป็นอีก เช่น เศร้าแล้วหาย แล้วก็เศร้าและหายอีก ซึ่งโรคนี้จะเป็นๆ หายๆ ได้ หรือแบบซึมเศร้าหนักเลยแล้วอยู่อย่างนั้น อาจอยู่มาเป็นปีๆ จนลืมไปว่าอารมณ์ตัวเองเป็นปกติตั้งแต่เมื่อไหร่ นึกว่าอารมณ์นี้เป็นอารมณ์ปกติของตัวเองก็จะมองโลกในแง่ร้าย ไม่มีความมั่นใจ

ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกัน

นพ.โกวิทย์ อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นโรคไบโพลาร์ได้นั้นมีอยู่ 4 ข้อหลัก คือ 1.มีญาติพี่น้องที่ป่วยหรือเคยเป็นโรคไบโพลาร์ 2.คนที่มีความเครียดสูง 3.คนที่ติดยาหรือมีการใช้สารเสพติด และ 4.บุคคลที่เกิดวิกฤตขึ้นในชีวิต ทั้งนี้จากการศึกษาจากพันธุกรรมมีส่วน เช่น ลูกฝาแฝด ถ้าพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นก็มีโอกาสเป็น 10% หากแฝดไข่ใบเดียว คนหนึ่งเป็น อีกคนจะเป็นได้ 90% ถ้ากรณีแฝดไข่ 2 ใบ คนหนึ่งเป็นอีกคนมีโอกาสเป็น 10-25% นอกจากนี้ยีนยังเป็นตัวสร้างรหัสที่ควบคุมปฏิกิริยาการตอบสนอง ฉะนั้นคนที่มียีนผิดปกติจะทำให้มีความไวหรือเซนซิทีฟต่อสิ่งที่มากระตุ้นให้ เกิดอาการซึมเศร้าได้เร็วขึ้น

ส่วนการป้องกันจิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า มีทั้งการป้องกันไม่ให้เป็นโรคและป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ โดยต้องให้ความเคร่งครัดเรื่องการใช้ยาทุกชนิดรวมถึงอาหารเสริม หมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่เข้าข่ายของโรค และควรหลีกเลี่ยงยาเสพติด นอกจากนั้นการรับประทานยารักษาโรคอื่นๆ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะยาบางตัวอาจมีผลต่อระดับสารเคมีในสมองได้ อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักาให้หายขาดได้ เพราะต้นตอของโรครู้ได้ชัดว่าเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยาทางด้านสารเคมีในสมอง

“เมื่อทราบว่าสารเคมีตัวไหนขาดหรือมีมากเกินไปแพทย์ก็จะแก้ไขตรงจุดโดย ให้ยาไปควบคุมสารเคมีตัวนั้นกับผู้ป่วย นอกจากนั้นก็อาศัยวิธีการรักษาด้วยการบำบัด เช่น จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กลุ่มบำบัด และครอบครัวบำบัด โดยแพทย์จะให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าถ้าหากมีวินัยในการรักษาและทานยาอย่าง สม่ำเสมอก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในบางรายที่มีอาการหนักอาจต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ ในการเสริมสร้างกำลังใจเพื่อสู้กับโรคไบโพลาร์นั้นต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ อยู่เสมอ ต้องสร้างเป้าหมายในชีวิต หมั่นรับกำลังใจจากคนใกล้ชิด ใช้เวลาทำกิจกรรมนันทนาการอบ่อยๆ ต้องฝึกผ่อนคลายลดความเครียด

จะเห็นว่าโรคไบโพลาร์ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ถ้าหากเป็นแล้วไม่รีบรักษาหรือบำบัด อาจเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น ติดยาเสพติด มีปัญหาด้านการเงิน ทำผิดกฎหมาย มีปัญหาการปรับตัวและความสัมพันธ์กับผู้อื่น และที่ร้ายแรงที่สุดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ 

Tags : ระวัง ไบโพลาร์ จะมาเยือน

view