สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สธ.แนะ8สัญญาณง่วงโชเฟอร์รถ

จาก โพสต์ทูเดย์

โฆษกสธ. แนะผู้เดินทางกลับบ้านหลังฉลองสงกรานต์  ให้ระวัง 8 สัญญาณง่วงของโชเฟอร์ขณะขับรถ อาทิ หาวบ่อย ใจลอย ขับรถส่ายออกนอกเส้นทาง ตาปรือ ต้องให้จอดรถเพื่องีบทันที อย่าให้ฝืนขับเพราะเสี่ยงอันตรายเกิดอุบัติเหตุ   หรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับรถแทน

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 16 – 17 เมษายน 2554 คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับเข้าทำงานหลังหยุดยาวฉลองสงกรานต์ติดต่อกันหลาย วัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาหลับใน ซึ่งเกิดจากการขาดการผักผ่อนติดต่อกันหลายวัน ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ประชาชน ควรเตรียมตัววางแผนก่อนเดินทางกลับ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำหน้าที่ขับรถ ควรนอนพักผ่อนในเวลากลางคืนให้เพียงพออย่างน้อย 7 – 9 ชั่วโมง ในกรณีที่ต้องเดินทางไกล    และขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมได้  เช่น   ยาแก้หวัด   ยาแก้แพ้    ยาแก้ไอ       ยานอนหลับ   ยาคลายเครียด  ยากันชัก เป็นต้น     หากหาผู้ผลัดเปลี่ยนขับรถได้ จะเป็นการดี

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ในระหว่างเดินทางขอให้ผู้ขับขี่ และผู้ที่นั่งโดยสารมาด้วย  ช่วยกันสังเกตสัญญาณของอาการหลับในของผู้ขับซึ่งมี 8 ประการ ได้แก่

1.หาวบ่อยและต่อเนื่อง

2.ใจลอยไม่มีสมาธิ

3.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย

4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2- 3 กิโลเมตรที่ผ่านมา  

5.รู้สึกหนักหนังตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ มองเห็นภาพไม่ชัด

6.รู้สึกมึนหนักศีรษะ

7.ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง และ

8.มองข้ามสัญญาณไฟ และป้ายจราจร

หากมีอาการดังกล่าวเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้หยุดขับรถและจอดรถในที่ปลอดภัยเพื่องีบหลับประมาณ 15 นาที ก่อนขับต่อ หรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับรถแทน อย่าฝืนขับเพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ทั้งนี้การแก้อาการง่วงนอนขณะขับรถ มีหลายวิธี  เช่น รับประทานของขบเคี้ยวที่มีรสเปรี้ยวหรือดื่มเครื่องดื่มแช่เย็นที่ช่วยให้สด ชื่นกระปรี้กระเปร่า หรือเปิดหน้าต่างรถ เพื่อถ่ายเทอากาศ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอน๊อกไซด์ในรถและให้ลมโชยปะทะหน้า เปิดเพลงฟังดังๆจังหวะเร็ว และร้องตามไปด้วยก็จะช่วยให้ไม่เกิดอาการง่วงนอนได้  โดยผลของอาการง่วงนอนต่อการขับขี่รถ จะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ การตัดสินใจผิดพลาด เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จะแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ

Tags : สธ. สัญญาณง่วง โชเฟอร์รถ

view