สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายงานติดตามผลโครงการ โทรศัพท์สาธารณะทางไกล ชนบท ระดับหมู่บ้าน

รายงานการติดตามผลโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทระดับหมู่บ้าน
พ.ศ. 2539 - 2541 (ครั้งที่ 2)
บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)


    โครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทระดับหมู่บ้าน พ.ศ. 2539-2541 เป็นโครงการหนึ่งที่สำคัญของ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมเป็นโทรศัพท์ระบบหนึ่งตามโครงการฯ ที่มีต้นทุนในการดำเนินการสูง ทั้งในส่วนของค่าติดตั้งอุปกรณ์และ ค่าเช่าใช้บริการและค่าเช่าใช้อุปกรณ์รวมค่าใช้บริการโทรศัพท์ และสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการโทรศัพท์สาธารณะในภาพรวม
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทระดับหมู่บ้าน พ.ศ. 2539-2541 ของ บมจ. ทศท มาแล้ว 2 ครั้ง ดังนี้
1. ปีงบประมาณ 2544 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กันยายน 2544 และจัดทำ “รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทระดับหมู่บ้าน พ.ศ. 2539 – 2541” ส่งให้กับ บมจ. ทศท ซึ่งมี 3 ข้อตรวจพบ และ 1 ข้อสังเกต ดังนี้
(1) การดำเนินงานโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด
(2) การติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามโครงการฯ ไม่เหมาะสม
(3) ปัญหาในการบำรุงรักษาและการจัดเก็บรายได้โทรศัพท์สาธารณะตามโครงการฯ
(4) ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานตามโครงการฯ
2. ปีงบประมาณ 2546 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ตามข้อเสนอแนะของรายงานการตรวจสอบฯ ซึ่งยังพบปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการโครงการฯ ดังนั้น สตง. จึงจัดทำ “รายงานการติดตามผลฯ” ส่งให้กับ บมจ. ทศท ซึ่งมี 3 ข้อตรวจพบ และ 1 ข้อสังเกต ดังนี้
(1) การบำรุงรักษาโทรศัพท์สาธารณะตามโครงการฯ
(2) การจัดเก็บรายได้โทรศัพท์สาธารณะตามโครงการฯ
(3) การรับแจ้งเหตุเสียโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามโครงการฯ
(4) ข้อสังเกตต่อการบริหารจัดการโยกย้ายโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามโครงการฯ
ปีงบประมาณ 2547 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า ข้อเสนอแนะในประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตต่าง ๆ ตามรายงานการติดตามผลฯ เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งควรติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ อีกครั้ง โดยการตรวจสอบในเบื้องต้น บมจ. ทศท ได้จัดส่งคำชี้แจงการดำเนินงานโครงการฯ ตามข้อเสนอแนะของ สตง. ซึ่งมีการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการฯ หลายประการ สรุปได้ดังนี้
1. กำลังดำเนินการจัดตั้งส่วนงานขึ้นมารับผิดชอบงานโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทโดยตรง
2. จัดประชุมชี้แจงนโยบายและติดตามงานในส่วนภูมิภาค
3. กำลังดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์เพื่อลดปัญหาเหตุเสียของโทรศัพท์และเพิ่มรายได้
4. จัดทำโครงการนำร่องการสร้างมูลค่าเพิ่มโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท
5. กำหนดจัดฝึกอบรมในประเทศ หลักสูตร Operation & Maintenance ให้กับพนักงาน
6. จัดเตรียมแผนในการว่าจ้างเอกชนเพื่อดำเนินการไขเหรียญ บำรุงรักษาสายกระจายและเครื่องโทรศัพท์ ตลอดจนทำความสะอาดตู้โทรศัพท์
7. มีคำสั่งให้ฝ่ายปฏิบัติการภาคทั่วประเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับการขอความร่วมมือกับประชาชน/ผู้ใช้บริการ ให้ช่วยแจ้งเหตุเสีย และกำกับให้ส่วนปฏิบัติการจังหวัดดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการในการแจ้งเหตุเสีย ที่กำหนดไว้แล้วอย่างเคร่งครัด
8. จัดทำแผนการโยกย้ายอุปกรณ์โทรศัพท์ระบบดาวเทียมไปติดตั้งให้บริการในพื้นที่ที่ยังไม่มีโทรศัพท์สาธารณะ ให้บริการ จำนวน 188 แห่ง
    การดำเนินการของ บมจ. ทศท ตามคำชี้แจงในข้างต้น สามารถพิจารณาได้ว่า บมจ. ทศท ยังไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม สรุปดังนี้
การดำเนินการตามข้อตรวจพบที่ 1 การบำรุงรักษาโทรศัพท์สาธารณะตามโครงการฯ
    บมจ. ทศท ยังไม่ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการและวิธีการในการบำรุงรักษาโทรศัพท์ การจัดสรรบุคลากรเกี่ยวกับ การบำรุงรักษาโทรศัพท์ให้เพียงพอ รวมทั้งการจัดฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงโทรศัพท์
การดำเนินการตามข้อตรวจพบที่ 2 การจัดเก็บรายได้โทรศัพท์สาธารณะตามโครงการฯ
    บมจ. ทศท ยังไม่ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการและวิธีการในการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับรายได้เพื่อวางแผนในการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพ
การดำเนินการตามข้อตรวจพบที่ 3 การรับแจ้งเหตุเสียโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามโครงการฯ
    บมจ. ทศท ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาปรับปรุงระบบการรับแจ้งเหตุเสีย สำหรับขั้นตอน และ วิธีในการแจ้งเหตุเสียสถานีลูกข่ายอุปกรณ์โทรศัพท์ระบบดาวเทียมที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว พบว่า ส่วนปฏิบัติการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด
การดำเนินการตามข้อสังเกตที่ 1 การบริหารจัดการโยกย้ายโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามโครงการฯ
บมจ. ทศท ยังไม่มีการสั่งการให้ส่วนปฏิบัติการจังหวัดดำเนินการสำรวจจุดติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม ที่ไม่เหมาะสมเพื่อจัดทำแผนการโยกย้ายโทรศัพท์ฯ
    อย่างไรก็ตาม สตง. ได้มีการสอบทานข้อมูลตามคำชี้แจงของ บมจ. ทศท ในส่วนภูมิภาค ซึ่งพบปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและปัญหาใหม่ที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการฯ ทั้งหมด 2 ข้อตรวจพบ และ 2 ข้อสังเกต ดังนี้
(1) การใช้ประโยชน์โทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
(2) บมจ. ทศท จ่ายค่าเช่าใช้บริการอุปกรณ์โทรศัพท์ระบบดาวเทียมโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด
(3) ข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลพื้นฐานโทรศัพท์
(4) ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสมของจุดติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม
ทั้งนี้มีรายละเอียดข้อตรวจพบและข้อสังเกตสรุปได้ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1
การใช้ประโยชน์โทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
1. จากการสุ่มตรวจสอบ โดยการทดสอบการใช้งานจริงโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม จำนวน 209 เลขหมาย พบว่า โทรศัพท์ฯ ใช้งานไม่ได้ ร้อยละ 40.67 ของโทรศัพท์ฯ ที่สุ่มตรวจสอบ สำหรับโทรศัพท์ฯ ที่ใช้งานได้ มีโทรศัพท์ฯ ที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก  เพียง 50 เลขหมายเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 23.92 ของโทรศัพท์ฯ ที่สุ่มตรวจสอบ
2. จากการสุ่มตรวจสอบตู้โทรศัพท์สาธารณะ จำนวน 193 ตู้ พบว่า ตู้โทรศัพท์ฯ ไม่อยู่ในสภาพปกติ ร้อยละ 76.16 ของตู้โทรศัพท์ฯ ที่สุ่มตรวจสอบ
3. จากการตรวจสอบรายงานสรุปรายได้โทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนธันวาคม 2546 รวม 8 เดือน จำนวน 827 เลขหมาย พบว่า มีเลขหมายโทรศัพท์ฯ ที่มีรายได้เป็นศูนย์ตั้งแต่ 1 – 8 เดือน จำนวน 538 เลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 65.05 ของเลขหมายที่สุ่มตรวจสอบ
ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้โทรศัพท์ฯ ใช้งานไม่ได้ขณะทดสอบมาจากอุปกรณ์ปลายทางซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ บมจ. ทศท มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ คือ ขาดการบำรุงรักษาโทรศัพท์ (Preventive Maintenance) ระบบการรับแจ้งเหตุเสียไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาโครงสร้างและอัตรากำลัง ขาดอะไหล่ และข้อจำกัดของโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม ส่งผลกระทบหลายประการ ได้แก่ บมจ. ทศท จ่ายค่าเช่าฯ โดยที่โทรศัพท์ฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และ บมจ. ทศท ต้องสูญเสียรายได้ ตลอดจนอาจทำให้ บมจ. ทศท สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่

ข้อตรวจพบที่ 2 บมจ. ทศท จ่ายค่าเช่าใช้บริการอุปกรณ์โทรศัพท์ระบบดาวเทียม โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์
จากการตรวจสอบรายงานสรุปเลขหมายโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมที่ถูกระงับการให้บริการ (บมจ. ทศท แจ้งให้บริษัทคู่สัญญาระงับการให้บริการโทรศัพท์ฯ จำนวน 2,494 เลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 13.25 ของเลขหมายโทรศัพท์ฯ ทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด และจากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ฯ ที่ถูกระงับการให้บริการหากคำนวณเป็นต้นทุนที่ บมจ. ทศท ต้องจ่ายเป็นค่าเช่าฯ ให้กับบริษัทคู่สัญญา โดยที่ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชน คิดเป็นเงินประมาณ 410,700,000 บาท
สาเหตุที่ทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์ฯ ถูกระงับการให้บริการเป็นจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน คือ ขาดการติดตามจากผู้ที่รับผิดชอบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับสูง

ข้อสังเกตที่ 1 การบริหารจัดการข้อมูลพื้นฐานโทรศัพท์
จากการขอเอกสารข้อมูลพื้นฐานโทรศัพท์และตรวจสอบเอกสาร ตลอดจนสังเกตการณ์ในพื้นที่จริง พบว่า บมจ. ทศท ยังไม่มีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี ซึ่งพิจารณาได้จาก
1. ไม่ได้จัดทำข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญต่อการบริหารจัดการ
2. ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลไม่มีการนำข้อมูลพื้นฐานที่มีความสำคัญมาใช้ในการบริหารจัดการ
3. ไม่มีการรายงานผล ไม่มีการรายงานข้อมูลพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการให้กับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

ข้อสังเกตที่ 2
ความเหมาะสมของจุดติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม
มีโทรศัพท์ฯ ที่ติดตั้งในพื้นที่/จุดที่ไม่เหมาะสมจำนวน 18 เลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 8.61 ของโทรศัพท์ฯ ที่สุ่มตรวจสอบ โดยมีโทรศัพท์ฯ ที่ติดตั้งใกล้เคียง (ไม่เกิน 100 เมตร) กับโทรศัพท์ระบบอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 5.26  และมีโทรศัพท์สาธารณะแบบตู้หยอดเหรียญ/Pinphone ที่ติดตั้งคู่กับเครื่องโทรศัพท์ของผู้ดูแลหรือหน้าบ้านผู้ดูแล คิดเป็นร้อยละ 3.34 ของโทรศัพท์ที่สุ่มตรวจสอบ
สรุปข้อเสนอแนะตามประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ให้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการดังนี้
1. เร่งดำเนินการจัดตั้งส่วนงานที่รับผิดชอบงานโทรศัพท์สาธารณะชนบท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการบริหาร จัดการและเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล
2. เร่งแก้ปัญหากรณีที่มีเลขหมายโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมถูกระงับการให้บริการเป็นจำนวนมากและ เป็นระยะเวลานานอย่างเร่งด่วน โดย
    2.1 ให้ส่วนปฏิบัติการจังหวัดทุกแห่งสำรวจจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ฯ ที่ถูกระงับการให้บริการ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีคุมเลขหมายโทรศัพท์ฯ ดังกล่าวให้ถูกต้องและครบถ้วน
    2.2 กำหนดนโยบายและวิธีแก้ปัญหากรณีผู้ดูแลมีหนี้ค้างชำระหรือการโยกย้ายจุดติดตั้งโทรศัพท์ เพื่อให้โทรศัพท์สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
    2.3 กำหนดระเบียบและขั้นตอนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการระงับและการเปิดให้บริการโทรศัพท์สาธารณะระบบ ดาวเทียม
    2.4 สร้างความเข้าใจให้ผู้ที่รับผิดชอบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโทรศัพท์สาธารณะระบบ ดาวเทียม ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการโทรศัพท์ฯ ให้สามารถบริการประชาชนและจัดเก็บรายได้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
3. กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการโทรศัพท์ฯ พร้อมทั้งมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในการติดตาม อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
3.1 การบำรุงรักษาโทรศัพท์ (Preventive Maintenance)
กำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบำรุงรักษาโทรศัพท์ในเชิงป้องกัน
3.2 ระบบการรับแจ้งเหตุเสีย
- ประชาสัมพันธ์เลขหมายโทรศัพท์ที่ใช้ในการโทรแจ้งเหตุเสียให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึงกัน
- จัดโครงการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโทรศัพท์สาธารณะของหมู่บ้าน
3.3 การบริหารจัดการข้อมูลพื้นฐานโทรศัพท์
- มอบหมายให้ส่วนงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานโทรศัพท์สาธารณะชนบท ในฐานะเป็นศูนย์กลางในการบริหาร จัดการ เร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล
- ให้ส่วนปฏิบัติการจังหวัดเร่งสำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐานโทรศัพท์ที่สำคัญต่อการบริหารจัดการ
- จัดอบรม/สัมมนาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนปฏิบัติการจังหวัดในฐานะ เป็นผู้จัดทำข้อมูลในเบื้องต้น
4. สำรวจความต้องการอะไหล่ (Spare Parts) รวมทั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการซ่อมบำรุง
5. สำรวจจำนวนบุคลากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการไขเหรียญ การตรวจแก้หรือบำรุงรักษาโทรศัพท์
6. ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพการให้บริการของบริษัทคู่สัญญาให้เป็นไปตามสัญญาเช่าบริการสถานีลูกข่ายฯ ในเรื่องดังต่อไปนี้
    - กรณีบริษัทคู่สัญญาผิดเงื่อนไขของสัญญาเช่าบริการสถานีลูกข่ายฯ โดยเฉพาะกรณีที่สถานีลูกข่าย ระบบดาวเทียมเกิดขัดข้องเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
    - การจัดหาและเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมในจำนวนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อปริมาณเลขหมายโทรศัพท์ฯ ที่เปิดให้บริการ
    - คุณภาพอุปกรณ์โทรศัพท์ระบบดาวเทียม
7. พิจารณาทบทวนผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะจากรายงานการตรวจสอบของ สตง. อีกครั้ง เพื่อช่วยให้ การปรับปรุง แก้ไขผลการดำเนินงานโครงการฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนรวบรวมผลการตรวจสอบ และข้อเสนอแนะในประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตของ สตง. ดังกล่าวข้างต้น เผยแพร่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของผู้บริหารระดับสูงและส่วนปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียมเป็นเพียง 1 ใน 5 ระบบตามโครงการโทรศัพท์สาธารณะ ทางไกลชนบทระดับหมู่บ้าน พ.ศ. 2539-2541 เท่านั้น กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสุ่มตรวจสอบ เฉพาะโทรศัพท์สาธารณะระบบดาวเทียม เนื่องจากเป็นโทรศัพท์ที่มีต้นทุนในการดำเนินการสูงและค่อนข้าง มีปัญหาในการบริหารจัดการ ดังนั้นข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะในเบื้องต้นเกี่ยวกับ โทรศัพท์สาธารณะ ระบบดาวเทียม บมจ. ทศท ควรนำไปพิจารณาปรับใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการโทรศัพท์สาธารณะ ในระบบอื่น ๆ ตามโครงการฯ ด้วย

อ่านฉบับเต็ม

view