จากประชาชาติธุรกิจ
"ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...." ที่เริ่มต้นผลักดันเข้าสู่กระบวนการสภา โดย "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ
ได้รับการขานรับจากหลายฝ่าย กระทั่งล่าสุด มี "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" ถูกยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว รวม 4 ฉบับ คือ 1.ฉบับของ พล.อ.สนธิ 2. ฉบับของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) 3.ฉบับของ ส.ส.เสื้อแดง และ 4.ฉบับของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.
แม้ "ทั้ง 4 ฉบับ" จะเป็นคนละร่างฯ แต่เป้าหมายเดียวกันคือ "ปลดล็อกวิกฤต" ด้วยการย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง ระหว่าง "วันที่ 15 ก.ย. 2548 - 10 พ.ค. 2554" และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
โดยครอบคลุมเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการ "รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549" ทั้งหมด
แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือใน มาตรา 5 ของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ พล.อ.สนธิ และ ส.ส.พท. ที่ระบุว่า "ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด"
โดย "ฝ่ายค้าน" และ "ฝ่ายต่อต้าน" ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในส่วนนี้ โดยอ้างว่า เป็นความพยายามช่วยเหลือ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการ "ลบล้างผลทางกฎหมาย" ของคดีความที่ดำเนินการโดย "คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)" ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549
ส่วนฝ่าย "พท." ผ่านการอธิบายของ "นายวัฒนา เมืองสุข" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยืนยันว่า เป็นการลบล้างผลอันเกิดจากการดำเนินการของ "องค์กรพิเศษ" ที่ตั้งมาโดยไม่ชอบ และเปิดทางให้มีการดำเนินการโดยกระบวนการที่ถูกต้อง
จากการตรวจสอบพบว่าคดีที่ "คตส." ดำเนินการไว้มีทั้งสิ้น 13 คดี และแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
"คดีที่ศาลตัดสินแล้ว"
1.คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ที่มีจำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และภริยา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี ฐานกระทำผิดกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรมการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 100 แต่ให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณไว้
2.คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ได้มอบหมายให้อัยการส่งฟ้อง คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน โดยศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ คนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภา 2 ปี
แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินของศาลอาญา ให้ยกฟ้อง "คุณหญิงพจมาน-นางกาญจนาภา" ส่วนนายบรรณพจน์ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่อัยการสูงสุดจะตัดสินใจ "ไม่ฎีกา"
3.คดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพวก รวม 44 คน ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 44 คน เนื่องจากพบว่าไม่ได้กระทำความผิด
4.คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน ซึ่ง คตส.ยื่นฟ้อง "ครม.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคณะ" และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันเป็นจำเลย
ซึ่งศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาให้จำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 2 ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานคณะบอร์ดกองสลาก 2 ปี นายพสก ภักดี อดีต ผอ.กองสลาก 2 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 ไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงมีการออกหมายจับ
5.คดีร่ำรวยผิดปกติ ให้ทรัพย์สิน 76,621 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และเงินปันผล จำนวน 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
"คดีที่อยู่ในชั้นศาล"
6.สืบเนื่องจากคดีร่ำรวยผิดปกติ ทำให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่องศาลฎีกา ว่า พ.ต.ท.ทักษิณแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯไว้ ถึง 6 ครั้ง ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้
7.คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า มูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นจำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้
8.คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปฯ ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นจำเลยเพียงคนเดียว และศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้
9.คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม. มูลค่า 6,800 ล้านบาท ที่มีนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบบัญชีพยาน โดยจำหน่ายคดีในส่วนนายสมัครที่เสียชีวิตไปแล้ว
"คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน" โดย ป.ป.ช.หรืออัยการสูงสุด
10.คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่มีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา
11.คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคมกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา
12.คดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคมกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา
13.คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ และนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน