สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง จริยธรรมของการบริหารภาครัฐ โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง  จริยธรรมของการบริหารภาครัฐ
โดย พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
เมื่อวันที่  9  กรกฎาคม  2548  ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


จริยธรรมแบ่งเป็น  2  มุมมอง  คือ
        (1)  จริยธรรมตามหลักนิติรัฐ  ยึดหลักการว่า  การบริหารงานใดได้ดำเนินการถูกต้องตามบทกฎหมาย  ถือว่าการบริหารงานนั้นถูกต้องตามจริยธรรม
    มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดนี้ว่า  อาจมีปัญหาเรื่องความไม่ครอบคลุม  เพราะกฎหมายมักจะเกิดขึ้น  ภายหลังจากที่เกิดปัญหา  และเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดซ้ำอีก  จึงออกกฎหมายมาบังคับใช้  ดังนั้น  กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอในการกำกับพฤติกรรมการบริหารงานให้อยู่ในกรอบของจริยธรรม ได้ทุกกรณี
    จริยธรรมตามหลักนิติรัฐยังมีจุดอ่อน  กล่าวคือ  ผู้มีอำนาจอาจจะละเว้นไม่ออกกฎหมาย เพื่อลิดรอนสิทธิของ กลุ่มตนเอง ก็ได้  เช่น นักการเมืองไม่จดทะเบียนกับคู่สมรสเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ระบุว่าคู่สมรสของ นักการเมือง ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ  นักการเมืองและหรือข้าราชการระดับสูงสั่งการด้วยวาจา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติในเรื่องที่ไม่ถูกต้องโดยตนเองไม่ต้องรับผิดชอบ และการกำหนดตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอยู่นอกกรอบของกฎหมาย เช่น ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ตำแหน่งนี้มิใช่ตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย ผู้ดำรงตำแหน่งจึงไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ
        (2)  จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม  ยึดหลักความพยายามแสวงหาว่า  ความดีที่ควรยึดถือ ควรเป็นอย่างไร  แล้วนำมาใช้เป็นมาตรฐานจริยธรรม  กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ
    จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรมจึงมีความครอบคลุมกว้างขวางกว่าจริยธรรมตามหลักนิติรัฐ  อย่างไรก็ตาม  จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรมมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ  ขาดบทบังคับการลงโทษเมื่อมีการละเมิด  เป็นความแตกต่างจากจริยธรรมตามหลักนิติรัฐ 
    จริยธรรมของการบริหารนั้น  มีมาตั้งแต่โบราณกาล  ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  มีหลักธรรมของพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่า  ทศพิธราชธรรม  นั่นคือ  จริยธรรมในการปกครองราชอาณาจักร  มีหลักธรรมที่เรียกว่าจักรวรรดิวัตร  คือ  วัตรของพระจักรพรรดิ  หรือพระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงบำเพ็ญสม่ำเสมอมี  12  ประการ  ก็เป็นจริยธรรมเช่นเดียวกัน
    ปัจจุบันโลกาภิวัฒน์ส่งผลให้ปัจจัยในการบริหารงานเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมาก  ก่อให้เกิดคำใหม่ ๆ  เช่น  รัฐชาติ  รัฐตลาด  ประเทศพัฒนาแล้วได้สร้างระเบียบใหม่ของโลก  เพื่อกำกับดูแลประเทศกำลังพัฒนา  สร้างธนาคารโลก  องค์การการค้าโลก  ให้มีบทบาทในการดูแลเงินกู้จากประเทศกำลังพัฒนา  เพื่อให้แน่ใจว่า  ประเทศลูกหนี้จะใช้เงินอย่างถูกต้อง  ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง  และสร้างกติกาเพื่อควบคุม  เรารู้จักกติกานั้นกัน ในชื่อว่า  กู๊ด  กัฟเวอร์แนนซ์  (Good  Governance)  คำที่ยังไม่มีคำแปลเป็นไทยอย่างเป็นทางการ
    หลักสำคัญของ  กู๊ด  กัฟเวอร์แนนซ์    มี  5  ประการ  คือ
                (1)  แอ๊คเคานด์อะบิลิตี้  (Accountability) แปลว่า  ความน่าเชื่อถือและมีกฎเกณฑ์ชัดเจน
                (2)  ทรานสพาเรนซี่  (Transparency)  แปลว่า  ความโปร่งใส 
                (3)  พาร์ติซิเพชั่น  (Participation)  แปลว่า  การมีส่วนร่วม
                (4)  พรีดิกต์อะบิลิตี้  (Predictability)  แปลว่า  ความสามารถคาดการณ์ได้  และ
                (5)  ความสอดคล้องของหลัก  4  หลักการข้างต้น    ตำราฝรั่ง  อ่านแล้วน่าสนใจมาก  แต่การนำมาใช้กับการบริหารของไทย  อาจจะเหมาะในบางส่วนและ จำต้องเพิ่มแนวคิดที่เราได้รับมาจาก ประสบการณ์การบริหารเพิ่มเติมเข้าไป  เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดต่อ การบริหารของไทย
    ผมมีความเห็นว่า จะต้องพูดถึงคุณธรรมควบคู่กับจริยธรรม  จะต้องใช้ทั้ง  2  มุมมอง  เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และ เสริมซึ่งกันและกัน
    รัฐธรรมนูญ  มาตรา  77  บัญญัติว่า  รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง  จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและ จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ข้าราชการ  และพนักงานหรือลูกจ้างอื่น ๆ ของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ  และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่
    จากเงื่อนไขบังคับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และ วิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี   พ.ศ.  2546 เพื่อเพิ่มพันธะความรับผิดชอบทางการบริหารของหัวหน้าส่วนราชการ  เพิ่มประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  คุณภาพการบริหาร  และความโปร่งใส  เป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชน
ตรวจสอบผลงานของภาครัฐได้
    ยิ่งไปกว่านั้น  รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายและการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายล้วนเป็นการแนะแนวทางที่ดีมาก  ถ้าภาครัฐทำได้สำเร็จ  ประเทศของเราจะพัฒนาไปไกลมากทีเดียว  จึงขอเอาใจช่วยให้สัมฤทธิผล
    การพูดถึงการบริหาร  ต้องพูดถึงผู้บริหาร  เพราะเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน  บางกรณีเป็นเรื่องเดียวกัน  จริยธรรมของการบริหารภาครัฐจะไม่มีทางเกิดผลสำเร็จได้ถ้าผู้บริหารไม่มีจริยธรรม
    อนึ่ง  การที่ประเทศต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  เช่น  สหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญของ    จริยธรรม เพราะเชื่อว่า  การบริหารที่ยึดหลักกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี        
หรือกู๊ดกัฟเวอร์แนนซ์ได้  และจริยธรรมของการบริหารงานภาครัฐย่อมนำไปใช้ในการบริหารงานภาคเอกชนได้ด้วย
    การใช้จริยธรรมและคุณธรรมในการบริหารงานภาครัฐและภาคเอกชน  ผู้บริหารจะต้องมีจิตสำนึกที่จะนำสิ่งที่ดีไปใช้  และขจัดสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป  สิ่งเหล่านี้คือ
        (1)  ความซื่อสัตย์  เป็นจริยธรรมทั้งของการบริหารภาครัฐและของผู้บริหาร  ความซื่อสัตย์ในการบริหารงาน คือความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร  ความซื่อสัตย์ไม่ได้หมายถึงการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  แต่ต้องถูกต้องตามจริยธรรมและศีลธรรมด้วย
        ความซื่อสัตย์มิได้หมายเฉพาะตนเองมีความซื่อสัตย์เท่านั้น แต่ตนเองมีความซื่อสัตย์เท่านั้น แต่หมายถึง ต้องควบคุมให้คนรอบตัวเรามีความซื่อสัตย์ การบริหารและผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์ เพราะมีกิเลสก่อให้เกิดปัญหา การทุจริตและประพฤติมิชอบ องค์กร องค์การใด ผู้บริหารมีกิเลสต้องขจัดด้วยหิริโอตตัปปะ   
        (2) กฎหมาย  เป็นที่ยอมรับกันว่า  กฎหมายไม่สามารถอุดช่องโหว่การบริหารของผู้บริหาร  ที่จะแสวงหา ผลประโยชน์ให้แก่ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กฎหมายวางมาตรฐานขั้นต่ำของการประพฤติชอบไว้เท่านั้น  แต่มาตรฐานทางจริยธรรมในเรื่องของการประพฤติชอบและความซื่อสัตย์นั้นสูงกว่ากฎหมาย 
    ในบางเรื่องกฎหมายเขียนว่าไม่ผิด  แต่เมื่อเอามาตรฐานทางจริยธรรมมาจับก็อาจถือว่าผิดได้  เช่น  เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะเรื่องของตนเอง  แต่ไม่ได้ห้ามไปถึงครอบครัวและญาติพี่น้อง  จึงมีการกล่าวกันว่ากฎหมายบางฉบับไม่เป็นธรรม
        (3)  ความเป็นธรรม  บอกยากว่าความเป็นธรรมคืออะไร  บ้างว่าความเป็นธรรมอยู่ที่กฎหมาย  ถ้าทำถูกกฎหมายก็ถือว่าเป็นธรรม  บ้างว่าความเป็นธรรมอยู่ที่จิตสำนึกของผู้บริหาร  ก็ไม่น่าจะถูกนัก  เพราะ   ผู้บริหารลำเอียงได้บ้างก็ว่า  ถ้าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุดถือว่าเป็นธรรม
    ผมเห็นว่า  ความเป็นธรรมของผู้บริหาร  น่าจะหมายถึง  การบริหารโดยให้โอกาสแก่คนยากจน       ด้อยโอกาสคนที่เสียเปรียบในสังคม  ให้คนเหล่านั้นพัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคมสูงขึ้น    อย่างมีหลักการและเหตุผล  ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงและมีความได้เปรียบอยู่แล้ว  ควรจะต้องยอมเสีย ประโยชน์บ้าง  
    รัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา  30  วรรค  4  บัญญัติว่า  มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือ         ส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลอื่นย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
    อนึ่ง  ผมยังเห็นว่าในความเป็นธรรมต้องมีความยุติธรรมอยู่ด้วย  ผู้บริหารจะต้องไม่ลุแก่อำนาจใช้อำนาจเบียดบังผู้อื่นใช้ช่องว่างของกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ตนเอง  ผู้บริหารจะต้องมีมาตรฐานในการบริหารเพียงมาตรฐานเดียวไม่ใช่สองหรือหลายมาตรฐาน  เพื่อนำไปปฏิบัติต่างกรรมต่างวาระกัน  หรือไม่มีมาตรฐานเลยนึกจะทำ   อย่างไรก็ทำเพราะมีอำนาจ
        (4)  ประสิทธิภาพ  เป็นเรื่องเข้าใจง่ายและจริยธรรมของการบริหารงาน  ที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับ
เรื่องนี้   คือ  ในตัวประสิทธิภาพเองอาจไม่สอดคล้องกับจริยธรรม  กรณีนี้จะเลือกอะไร  สำหรับผมเลือกจริยธรรม  เพราะผมเชื่อว่า  เราสามารถหาหนทางที่จะให้ประสิทธิภาพไปด้วยกันได้กับจริยธรรม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความซื่อสัตย์   ความโปร่งใส  หรือความเป็นธรรม
        (5)  ความโปร่งใส  เป็นเรื่องเข้าใจง่ายและเป็นจริยธรรมของการบริหารงาน  เช่นเดียวกันปัจจุบันมีการเรียกร้องเรียกหาความโปร่งใสกันมาก  เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการบริหารภาครัฐได้  เรามี  บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร  บัญญัติให้รัฐเปิดเผยข้อมูลอันเป็น
สาธารณประโยชน์แก่ประชาชน  การหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยข้อมูลถือได้ว่าขัดจริยธรรม
        (6) ความมั่งคงของรัฐ  เราใช้จริยธรรมในการบริหารเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ   ความมั่นคง
ของรัฐคือผลประโยชน์ของรัฐอย่างหนึ่ง  การใช้จริยธรรมในการบริหารความมั่นคงอาจจะกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  จึงจำเป็นต้องหาความสมดุลให้ได้  ปัญหา  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีอยู่ และอาจจะคงมีต่อไปเพราะผู้บริหารอาจจะยังหาความสมดุลไม่พบ
        (7)  ค่านิยม  เรื่องนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อจริยธรรม  ค่านิยมของคนไทยที่ชัดเจนในปัจจุบัน  คือ  ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าความร่ำรวยสร้างชื่อเสียง  เกียรติยศ  และฐานะได้  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยรีบสร้าง
ความร่ำรวยโดยไม่แยแสต่อจริยธรรม  และที่แปลกแต่จริงและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง  คือ  เรามักจะนิยมยกย่อง
คนร่ำรวยว่าเป็นคนดี น่าเคารพนับถือ  โดยไม่ใส่ใจว่าเขาเหล่านั้นร่ำรวยมาด้วยวิธีใด  และดูหมิ่นคนจนต่าง ๆ  นานา  ว่าเหม็นสาบ  มอซอ  พูดไม่เพราะ  มีความรู้น้อย  ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย  ตราบใดที่เหม็นสาบ
คนยากคนจน ยังร้องเพลง  "กอดกับคนจนหน้ามลยังบ่นว่าเหม็น"  ไม่มีทางแก้ปัญหาความยากจนสำเร็จ  
    สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่มีในตำรามาเล่าสู่กันฟังก็คือ  "ความรัก"  มีคำกล่าวกันว่า  ความรักเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เป็นความปรารถนาดี  เป็นความห่วงอาทร  ใครก็ตามที่มีความรัก  ย่อมมุ่งพยายามที่จะให้สิ่งที่เรารัก  มีความสุข  มีความเจริญ  มีความมั่นคง  เช่น  ความรักของพ่อแม่ลูก
องค์การก็ทำนองเดียวกัน  ถ้าเรารักองค์การ  เราจะปรารถนาดี  เราจะมุ่งมั่นเพื่อองค์การ  เราจะมุ่งมั่นนำ  จริยธรรมและคุณธรรมไปใช้ในการบริหารองค์การ  มีคำกล่าวภาษาอังกฤษว่า  "To  love  is  not  to  give, to  love  is  to care "  น่าจะให้ความกระจ่างชัดดี
    "ผมขอยืนยันว่า  จะทำการสิ่งใด  ถ้าเราไม่มีความรักในสิ่งนั้น  ก็ป่วยการเปล่า  ไม่มีทางสำเร็จ  ผู้บริหารใดมีความรักองค์การของตน  จะใช้จริยธรรมในการบริหารและจะได้รับผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศ"
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท  เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2548  ความตอนหนึ่งว่า  "ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน  จะต้องรู้ตระหนักในการเสียสละ  อันได้แก่
การสละสำคัญสองประการ  คือ  สละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่  และเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตัวประการหนึ่ง  กับสละความคิดจิตใจที่ต่ำทรามต่าง ๆ  อีกประการหนึ่ง  จึงจะเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของคนทั้งปวง  และสามารถดำรงตำแหน่งหน้าที่อย่างมีเกียรติ  มีศักดิ์ศรี  และมีความมั่นคงตลอดไป"
    ผมเชื่อและมั่นใจอย่างยิ่งว่า  ถ้าคนไทยรับพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสไว้เหนือเกล้าฯ  และ            นำไปประพฤติปฏิบัติ  การกระทำใด ๆ  ย่อมบังเกิดผลดี  ผลสำเร็จ  เป็นคุณและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน        อย่างแท้จริง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10   กรกฎาคม  2548  หน้า 2
view