สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตาเบอร์แนนคี คิวอี3มีสิทธิ์รีเทิร์น

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต่างจับตามองสถานการณ์ในลิเบียอย่างใกล้ชิด เพราะความเป็นไปของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญย่อมส่งผลกระเทือนต่อราคา น้ำมันในตลาดโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั่วโลกต้องหันกลับมาจับตามองยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐด้วยใจระทึกอีกครั้ง

เพราะอีกเพียงแค่วันเดียว เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บุคคลสำคัญผู้กำหนดความเป็นความตายของเศรษฐกิจประเทศจะขึ้นแท่นออกแถลงการณ์ ในงานประชุมสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐประจำปีที่แจ็คสัน โฮล์ ในไวโอมิง วันที่ 26 ส.ค.นี้

บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดคงยังจำกันได้แม่น ว่าในวันนี้ เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว เป็นวันที่เบอร์แนนคีขึ้นกล่าวในงานประจำปีโดยส่งสัญญาณว่า เฟดจะกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน เฟดก็ทุ่มเงินกว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อพันธบัตรในตลาดระลอกใหญ่

จึงไม่ผิดนัก หากถือว่าวันดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้มาตรการนโยบายผ่อนคลายเชิง ปริมาณรอบ 2 หรือ คิวอี 2 ของเฟดซึ่งได้ใจบรรดานักเก็งกำไรแบบเต็มๆ แต่ทำให้ทั่วโลกต่างเข็ดขยาดไปตามๆ กัน

อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีที่ผ่านไปกับนโยบายคิวอีสองรอบ ดูเหมือนว่าฐานะเศรษฐกิจของสหรัฐจะไม่ได้เป็นไปตามที่เฟดวาดหวังไว้เลยแม้แต่น้อย

ที่สำคัญกว่านั้น สถานการณ์แวดล้อมทุกอย่างของสหรัฐในขณะนี้ เหมือนเมื่อตอนที่ประธานเฟดประกาศใช้นโยบายคิวอี 2 อย่างไม่มีผิดเพี้ยน เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังคงซบเซา จนเสี่ยงกับภาวะถดถอย และสถานการณ์หนี้ของยุโรปที่ยังอันตราย

สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ใกล้เคียงกันนี้ ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนจากหลายสำนัก ต่างคาดการณ์ไปในทำนองเดียวกันว่า ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง โดยเบอร์แนนคีมีสิทธิใช้โอกาสเดียวกันนี้ ส่งสัญญาณชัดเจนถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

ทั้งนี้ ในบรรดาทางเลือกที่เฟดมีอยู่ในมือทั้งหมด นักวิเคราะห์จากนิวยอร์ก ไทมส์เห็นว่า ทางเลือกที่เบอร์แนนคีอาจจะกล่าวถึงในวันศุกร์นี้ก็คือการทุ่มเงินมหาศาล กว้านซื้อสินทรัพย์หลักของสหรัฐอีกระลอก หรือก็คือ นโยบายคิวอี 3 ที่ใครหลายคนอาจรอคอย ควบคู่ไปกับการคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ และขยายอายุผลตอบแทนพันธบัตร โดยมีเป้าหมายหนึ่งเดียวก็เพื่อเอื้อให้เกิดการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในระบบ จนส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมามีความคึกคักสดใสอีกครั้ง

นอกจากนี้ บรรดานักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งยังคาดการณ์เพิ่มเติมว่า เฟด น่าจะปรับเพิ่มระดับตัวเลขเงินเฟ้อในระยะกลาง เพื่อสนับสนุนให้ธนาคาร ธุรกิจและผู้บริโภค นำเงินออกมาใช้จ่ายได้อย่างสบายใจมากขึ้น

สัญญาณแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดที่ว่านี้ แม้จะยังไม่ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่สร้างความยินดีให้กับนักลงทุนในตลาดไม่น้อย เพราะโดยในทันทีที่เริ่มมีความหวังว่าเฟดจะลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นในสหรัฐนับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ดัชนีโดยรวมในตลาดต่างปรับขึ้นกันทั่วหน้าถึง 3% ขณะที่ดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ 500 เพิ่มขึ้นที่ 3.4% ดัชนีแนสแด็กเพิ่มขึ้น 4.3% และดัชนีดาวโจนส์ อุตสาหกรรมอยู่ในที่ระดับเหนือ 1.1 หมื่นจุด

เรียกได้ว่า หลายฝ่ายต่างคาดหวังอย่างแรงกล้าว่า ในแถลงการณ์ เบอร์แนนคีจะต้องเอ่ยถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า แม้ว่าเบอร์แนนคีจะไม่ได้เอ่ยถึงนโยบายคิวอี 3 ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า โลกจะได้เห็นคิวอี 3 อีกครั้งแน่นอน เพราะสหรัฐจำเป็นต้องการการกระตุ้นเพื่อการเติบโต

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่ว่านี้ อาจจะไปไกลเกินเลยกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ หากพิจารณาโดยคำนึงถึงท่าทีและความเคลื่อนไหวของเฟดที่ออกมาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) เพิ่งจะกำหนดระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ในระดับใกล้ศูนย์ไป จนถึงกลางปี 2556 เป็นอย่างน้อย ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงมองกันว่าเป็นไปไม่ได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณสำคัญอีกครั้ง ภายในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า การตัดสินใจกำหนดนโยบายของเฟด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประธานเฟด เช่นเบอร์แนนคีเพียงแค่คนเดียว แต่ต้องอาศัยการอนุมัติลงประชามติของคณะกรรมการทั้งหมดเสียก่อน

ทั้งนี้ ผลงานการกระตุ้นเศรษฐกิจของคิวอี 2 ที่ผ่านมาที่ไร้ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจนน่าพอใจ ทำให้คณะกรรมการเฟดเริ่มมีความเห็นที่แตกต่างออกไป และมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว จนยากที่เบอร์แนนคีจะเอ่ยปากส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่

ขณะเดียวกัน อุปสรรคสำหรับเบอร์แนนคีอีกประการหนึ่งก็คือ จำนวนตัวเลขคนว่างงานที่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และมีสิทธิเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากบรรดาสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ เริ่มเดินหน้าประกาศปลดพนักงานหลายพันคน

เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดเงินเข้าสู่ระบบทำให้เกิดการใช้จ่าย แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือภาวะเงินเฟ้อ หรือก็คือภาวะข้าวยากหมากแพงที่จะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อคนตกงาน การประกาศใช้คิวอี 3 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องไม่ทำให้ราคาสินค้าในตลาดปรับตัวสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ไมเคิล เฟโรลิ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จาก เจ.พี.มอร์แกนมองว่าเป็นข้อจำกัดที่เฟดต้องการเวลาในการศึกษาและดูทิศทางของ ตลาดให้ดีมากกว่านี้เสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจ

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมนึกถึงแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งเป็นแรงกดดันจากภายนอกที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจของเฟด ยิ่งเป็นช่วงที่ใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ และการรักษาสมดุลงบประมาณของรัฐกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่มีความสำคัญอย่าง มากในการหาเสียงเลือกตั้ง

ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้รัฐบาลต้องยอมเจ็บตัวโดยการขาดดุลงบประมาณอีกครั้ง คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อาหารและน้ำมัน อาจจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มตลาดทั่วโลก โดยมีปัจจัยหนุนจากความวุ่นวายในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และจากสภาพอากาศที่เลวร้ายจนทำให้การเก็บเกี่ยวไม่เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งถ้าราคาอาหารและน้ำมันปรับตัวแพงขึ้น แน่นอนว่าคนต้องเลือกที่จะประหยัดอดออมมากกว่าใช้เงิน และจะสวนทางกับความตั้งใจที่เฟดต้องการจะกระตุ้นให้มีการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม เหตุผลทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเฟดจะไม่เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเลย เพราะเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐในขณะนี้ จำเป็นต้องใช้ยาขนานแรงผลักดันให้เดินไปข้างหน้า

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่เป็นไปได้มากว่า เฟดจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพียงแต่อาวุธที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ใช่นโยบายคิวอี 3 ตามที่นักลงทุนในตลาดหลายคนคาดหวังและแถลงการณ์ของเบน เบอร์แนนคี อาจส่งสัญญาณถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ ที่น่าลุ้นระทึกต่อไปว่า หากไม่ใช่คิวอี 3 แล้ว เฟดจะใช้อะไร

Tags : จับตาเบอร์แนนคี คิวอี3 มีสิทธิ์รีเทิร์น

view