สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนจาก QE2 ถึง QE3 กลยุทธ์ไม้ตาย หรือได้ไม่คุ้มเสีย

จาก ประชาชาติธุรกิจ


เศรษฐกิจ สหรัฐที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ภาวะตกต่ำทุกขณะ ประกอบกับรัฐบาลวอชิงตันอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ลดการขาดดุลงบประมาณโดยการ หั่นรายจ่าย จนไม่อาจงัดมาตรการออกมากระตุ้นการเติบโตได้ในเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานเดียวที่ดูจะเป็นที่พึ่งของตลาด คือธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ซึ่งก็เหลือเครื่องมือให้หยิบใช้ไม่มากนัก หลังให้คำมั่นว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ต่อปีอีก 2 ปี

นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า ตัวเลือกของเฟดในขณะนี้ได้แก่การซื้อคืนพันธบัตรรอบใหม่ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (Quantitative Easing : QE3) ซึ่งหวังผลลดอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว, ลดอัตราดอกเบี้ยที่เฟดจ่ายให้กับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อกระตุ้นให้ สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้น, ขยายระยะเวลาครบกำหนดของตราสารที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของตน และเพิ่มตัวเลขเงินเฟ้อเป้าหมายในระยะกลาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจของภาคครัวเรือนและธุรกิจให้ใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เสียงเรียกร้องใช้กลไกแรก ดูจะดังกระหึ่มที่สุด

เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ตระหนักดีว่า ตลาดคาดหวังให้ธนาคารกลางออกมาตรการซื้อคืนตราสารอีกครั้ง เพราะจะช่วยผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์วิ่ง ขึ้นเหมือนที่ QE2 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐสดใสอยู่นาน 9 เดือนจนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา แต่บทเรียนชี้ว่า อานิสงส์จากมาตรการเช่นนี้อาจส่งไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เห็นได้จากระดับการจ้างงานที่แทบไม่ผงกหัว ตลอด จนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทรุดลง

เดอะ การ์เดี้ยนชี้ว่า กลไกผ่อนคลายเชิงปริมาณถูกออกแบบมาเพื่อดึงต้นทุนการกู้เงินระยะยาวให้ต่ำลง เมื่อธนาคารกลางซื้อคืนพันธบัตร ซัพพลายในตลาดตราสารก็จะหด ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เพราะราคาพันธบัตรเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงข้ามกับอัตราผลตอบแทน ตราสารยิ่งแพงผลตอบแทนก็ยิ่งดิ่งลง หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถ ก่อหนี้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก และยังช่วยให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคกู้ยืมด้วยต้นทุนที่ต่ำลงตามไปด้วย

แต่ ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนบอนด์รัฐบาลวอชิงตันต่ำเป็นประวัติการอยู่แล้ว เพราะตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำรอบสองในทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก จึงยากที่ QE ครั้งที่สามจะฉุดดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลงกว่าที่เป็นอยู่ได้ และไม่แน่ชัดว่าหากดอกเบี้ยต่ำลงอีกจะช่วยกระตุ้นสินเชื่อได้อย่างที่หวัง เพราะขณะนี้ธุรกิจขาดแรงจูงใจในการขยายการผลิต เนื่องจากดีมานด์ของผู้บริโภคตกต่ำ ไม่ใช่เพราะต้นทุนกู้ยืมสูง

นอก จากนี้สถานการณ์เมื่อปีกลายก็สมเหตุสมผลที่จะใช้กลไกดังกล่าวมากกว่าปีนี้ มาก เศรษฐกิจมะกันไม่เพียงซบเซาหนัก แต่ยังจ่อเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ช่วงไตรมาสสองของปี 2553 อยู่ที่ 0.2% เทียบกับ 3.1% ในช่วงเดียวกันของปีนี้

ทว่าสภาพคล่องล้นเกินในตลาด เงินจากการซื้อคืนตราสาร ทำให้มีเงินทุนไหลไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ และเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์มหาศาล โดยเฉพาะน้ำมัน ดันราคาเชื้อเพลิงให้กระฉูด ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า "เป็นเหมือนการขโมยอำนาจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ต้องกระเบียดกระเสียรมากขึ้น แทนที่จะเต็มใจควักกระเป๋ากว่าเดิม"

การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของจีน และหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าจากแดนลุงแซมนำไปสู่ดีมานด์อัน แข็งแกร่งต่อแร่โลหะ น้ำมัน และพืชเกษตร กดดันให้ราคาในตลาดโลกพุ่งขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าพลอยขยับตาม คนอเมริกันจึงต้องบริโภคสินค้าแพงกว่าแต่ก่อน

ยังไม่รวมปัจจัยเงิน ดอลลาร์ที่อ่อนค่าต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทรง ๆ ทรุด ๆ ของสหรัฐ รวมถึงผลของมาตรการ QE2 โดยนับจากสิงหาคมปีกลาย ที่เบอร์นันเก้ประกาศจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 6 แสนล้านดอลลาร์ ค่าเงินของมะกันก็อ่อนคงลงไป 11% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ของโลก ในแง่หนึ่งอาจช่วยกระตุ้นการส่งออก แต่ในอีกแง่ก็ทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อ

แม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะขจัดปัญหาเงินฝืดที่เฟด วิตกไปได้ แต่ในภาวะที่ค่าแรงแทบไม่เขยื้อน เงินเฟ้อสูงส่งผลให้รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงหดลง ผู้บริโภคยิ่งระมัดระวังการใช้จ่าย เศรษฐกิจมะกันที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศจึงแทบไม่เห็นวี่แวว กระเตื้อง

วอลสตรีต เจอร์นัล ตั้งข้อสังเกตว่า ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อทะลุ 3% และดอกเบี้ยใกล้แตะ 0% หากเฟดดึงดันใช้ QE3 ดัชนีราคาผู้บริโภคอาจกระฉูดชนิดฉุดไม่อยู่ กดดันให้ธนาคารกลางจำต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ให้คำมั่นไว้ว่า จะคงเดิมไปจนถึงกลางปี 2556 เฟดจะสูญเสียความน่าเชื่อถือและอิทธิพลที่มีต่อตลาด ทำให้การดำเนินนโยบายในอนาคตยากลำบากมากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลบีบให้ เบอร์นันเก้อยู่บนทางสองแพร่งระหว่างออก QE3 ซึ่งจะส่งอานิสงส์ไปยังตลาดเงิน แต่ซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือถ้าไม่ใช้มาตรการนี้ ตลาดหุ้นอาจยิ่งทรุด และกระทบชิ่งมายังเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ไม่ว่าเลือกทางไหนก็มีคนต้องเจ็บตัว อยู่ที่ว่าจะมากน้อยเพียงใด

Tags : บทเรียนจาก QE2 QE3 กลยุทธ์ไม้ตาย ได้ไม่คุ้มเสีย

view