สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอเอ็มเอฟส่งซิกอัดยากกระตุ้นเศรษฐกิจกันใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

เศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในห้วงอันตรายครั้งใหม่ และเหล่าผู้กำหนดนโยบายก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการใหม่ๆ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

“เศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในห้วงอันตรายครั้งใหม่ และเหล่าผู้กำหนดนโยบายก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวให้แข็งแกร่งขึ้น” คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวไว้ในงานสัมมนาทางเศรษฐกิจที่ไวโอมิง สหรัฐ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยังส่งสัญญาณด้วยว่า นโยบายการเงินยังควรเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ไม่ใช่รัดกุม เพราะ “ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอยนั้น มีมากกว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อ” โดยแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานและอาหารจะเริ่มบรรเทาลง ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเช่น สหรัฐและยุโรป ก็จะยังคงไม่สูงมากนัก

ตีความหลักๆ ได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกหรืออย่างน้อยที่สุดก็เขตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป จะเข้าสู่ยุคของการกระตุ้นจีดีพีกันอีกครั้ง

และแน่นอนว่าทิศทางของซีกโลกตะวันตกครั้งนี้ ทำให้ซีกโลกเอเชียและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายต้องเตรียมตั้งรับให้ดีด้วย

ทิศทางการใช้มาตรการกระตุ้นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดสำหรับหลายฝ่าย เพราะเมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและยุโรปจะพบว่า ทั้งคู่อยู่ในภาวะที่ “ไร้ทางเลือก” ทว่าถ้อยแถลงของหัวเรือไอเอ็มเอฟครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นการกระทุ้งไปยังเหล่าผู้กำหนดนโยบายทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของ โลกตะวันตก ให้ “เร่ง” ดำเนินมาตรการกันอย่างเป็นระบบและชัดเจนโดยไม่ควรซื้อเวลาให้ผ่านไป เพราะอาจสายเกินแก้

หลักใหญ่ใจความอยู่ที่ยุโรปและสหรัฐ 2 หัวหอกผู้นำพาทิศทางเศรษฐกิจโลก

ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อของลาการ์ด มีเป้าหมายกระทุ้งโดยตรงไปที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดอีกครั้ง โดยอีซีบีถือเป็นธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแห่งแรกที่ประกาศขึ้น อัตราดอกเบี้ย จากที่ระดับต่ำเพราะผลพวงวิกฤตการณ์ภาคการเงินในปี 2008 โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อีซีบีนำโดย ฌอง โคลด ตริเชต์ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.5%

แต่ในทางกลับกัน เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 อย่างเยอรมนี กลับมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ได้เพียง 0.1% จากที่โตได้ 1.3% เมื่อช่วงไตรมาสแรก จนแทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะชะงักงัน ขณะที่เศรษฐกิจของ 17 ประเทศกลุ่มยูโรโซนซึ่งยังติดบ่วงหนี้ ก็ขยายตัวได้แค่ 0.7% เท่านั้น การใช้นโยบายการเงินเชิงเข้มงวดกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงอาจจะไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมกับยุโรปในเวลานี้

นอกจากเศรษฐกิจมหภาคแล้ว ไอเอ็มเอฟยังได้แสดงความเป็นห่วงไปยังสถาบันการเงินยุโรป โดยเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปเร่งดำเนินการเพิ่มทุนโดยด่วน ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวลกันว่าแบงก์หลายแห่งอาจเข้าไปซื้อตราสารหนี้ของ ประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ เช่น กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ กันในจำนวนมหาศาล และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเงินการธนาคารในยุโรปตามมา

ขณะที่ในสหรัฐนั้น แม้ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสร้างความผิดหวังให้ตลาดทุนโลก ไม่ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในระบบ (QE 3) ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันก่อนหน้า แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้ทำให้นักลงทุนในตลาดตื่นตระหนกกันอย่างที่ผ่านๆ มา ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ก็ปิดตลาดพลิกกลับมาเป็นบวกได้หลังลบไปกว่า 200 จุด

ทั้งนี้เพราะนักลงทุนต่างเชื่อว่าเฟด เพียงแค่ซื้อเวลาเท่านั้น จะช้าหรือเร็ว เฟดหรือรัฐบาลอเมริกันก็จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวิธีใดวิธี หนึ่งออกมา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ยังง่อนแง่นอยู่เต็มที่และยังจำเป็นต้องรับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อ เนื่อง ตัวเลขผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานรายใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้นอีก 5,000 ไปอยู่ที่ 4.17 แสนคน ขณะที่ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการยึดจำนองบ้านและราคาบ้านที่ตกลง

เบอร์แนนคีเองได้กล่าวในการประชุมประจำปีของเฟด เมื่อวันที่ 26 ส.ค. โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงครึ่งปีหลัง “น่าจะ” ขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง หลังจีดีพีโตได้ 1% ในไตรมาส 2 จากที่บวก 0.4% ในไตรมาสแรก การจะใช้กลไกทางการเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจึงต้องไปพิจารณากันอีกครั้งในการ ประชุมเฟดครั้งหน้า ระหว่างวันที่ 2021 ก.ย.

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เฟดต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนขึ้น อาจเป็นเพราะมาตรการทางการเงิน ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตร QE สองครั้งก่อนหน้า ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อย่างครั้งล่าสุดที่ปั๊มเงินเข้าระบบอีกถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ทว่าเศรษฐกิจอเมริกันก็ยังไม่สามารถกระเตื้องได้เท่าที่ควร เฟดจึงเบนเข็มไปกระทุ้งรัฐบาลถึงการออกมาตรการทางการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลไกทางการเงินหรือการคลัง แต่อย่างน้อยสหรัฐเองก็ยอมรับถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นออกมา

หากการกระตุ้นครั้งนี้มาจากนโยบายรัฐเพื่อหวังฟื้นจีดีพีก็น่าจะถือเป็น เรื่องดีของเศรษฐกิจโลกไปด้วย ทว่าหากเป็นการกระตุ้นด้วยกลไกทางการเงินผ่านการเพิ่มสภาพคล่องเหมือนครั้ง ที่ผ่านๆ มา ก็น่าห่วงไม่น้อยว่าจะเกิดภาวะทุนนอกไหลทะลักเข้าตลาดเกิดใหม่อีก ทั้งเพื่อการเก็งกำไรส่วนต่างดอกเบี้ย การเก็งกำไรค่าเงิน และการเก็งกำไรอื่นๆ ในตลาดทุน ในยุคที่เอเชียกำลังอยู่ในยุคอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่วเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ถ้าตะวันตกเปลี่ยนทิศ เอเชียก็อาจต้องปรับเปลี่ยนด้วยเพื่อตั้งรับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้...

Tags : ไอเอ็มเอฟ ส่งซิก อัดยา กระตุ้นเศรษฐกิจกันใหม่

view