สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ามุม ทีดีอาร์ไอ จำนำข้าว รัฐก่อหนี้ - คุณภาพข้าวด้อย

ผ่ามุม'ทีดีอาร์ไอ'จำนำข้าว'รัฐก่อหนี้-คุณภาพข้าวด้อย'

จำนำข้าวทัศนะ'ทีดีอาร์ไอ'หนี้สะสมโครงการรับจำนำเก่าสูงถึง 1.4 แสนล้าน ชาวนาได้ประโยชน์เพียง37%และแนวโน้มคุณภาพข้าวจะตกต่ำแถมโรงสีได้กำไรฟรีๆ
วันที่ 4 กันยายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดแถลงข่าว “กลับไปสู่การจำนำข้าวเปลือก” โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และดร.อัมมาร สยามวาลา ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซอยรามคำแหง 39 โดยตั้งคำถามถึงรัฐบาลเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก


มุมมองของสองนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เห็นว่านโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลโดยตั้งราคาข้าวขาวตันละ 1.5 หมื่นบาทนั้น เป็นการกำหนดราคาเกินกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ที่อยู่ในระดับตันละ 1 หมื่นบาท หรือสูงขึ้นถึง 50% ส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยลดลงทันที เพราะผู้ซื้อจะไม่ตอบรับราคาข้าวที่สูงเพิ่มขึ้น โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม ผู้ซื้อจะหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ปรับราคาขายสูงขึ้นเท่าไทย ส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดทันที


 นอกจากนี้ การส่งออกข้าวลดลงทำให้มีข้าวสต็อกอยู่ในประเทศปริมาณมาก แม้จะเป็นการเก็บไว้ในสต็อกของรัฐบาล แต่การดำเนินการเช่นนี้ทำให้ไทยต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลข้าวที่เก็บไว้จำนวนมหาศาล หากไม่ระบายตามเวลาที่เหมาะสมข้าวจะเสียหาย


 "ผมไม่ได้หวังให้ยกเลิกโครงการรับจำนำ เพราะรัฐบาลหาเสียงไว้แล้วก็ต้องดำเนินการ เรื่องนี้เข้าใจดี แต่ราคาที่กำหนดสูงขึ้นกว่าราคาปัจจุบันถึงเท่าตัว ถามว่าคนซื้อที่ไหนจะซื้อของแพงทั้งที่มีข้าวจากประเทศอื่นและธัญพืชชนิดอื่นให้เลือกซื้ออีกมาก สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ จากนี้ข้าวจะกองอยู่ในประเทศมหาศาล รัฐบาลจะจัดการอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจน แล้วราคาข้าวในประเทศที่แพงขึ้นผู้บริโภคจะดูแลกันอย่างไร เรื่องนี้ก็ไม่ชัดเจน ตัวแทนรัฐบาลออกมาโม้ไปวันๆ "ดร.อัมมาร ระบุ


 แนวทางการแก้ปัญหา หลังรัฐบาลยืนยันเดินหน้ารับจำนำข้าวในราคาสูงต่อไปนั้น เห็นว่าควรเน้นการผลักดันข้าวให้ออกไปนอกประเทศให้มากที่สุด แม้จะต้องยอมให้ราคาต้นทุนที่รับจำนำมาและราคาภายในต่างกับราคาส่งออกก็ตาม เพราะต้องให้การส่งออกสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยวิธีการ คือ ให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการส่งออกข้าวแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นรัฐบาลจะกำหนดขายข้าวให้ผู้ส่งออกในราคาที่เหมาะสมแข่งขันได้ แต่รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ต้องควบคุมให้มั่นใจว่าผู้ส่งออกรายนั้นๆ จะส่งออกข้าวไปต่างประเทศจริง


 นอกจากนั้นต้องดูแลให้เกิดการส่งออกจริงๆ ไม่ให้เกิดการเวียนเทียนหาประโยชน์ จากส่วนต่างราคาข้าวในประเทศและข้าวส่งออก เพราะส่วนต่างดังกล่าวรัฐบาล จะต้องจัดหางบประมาณมาอุดหนุน ซึ่งวิธีการนี้จะดีกว่าการนำเงินมาใช้จ่ายกับการเก็บข้าวไว้ในสต็อก ซึ่งมีแต่จะรอวันที่ข้าวจะเสียหายตามสภาพ และต้องใช้เงินในการดูแลเก็บรักษาสต็อกสูงมากในแต่ละปีที่มีการจำนำ


 ส่วนสถานการณ์ภายหลังจากนี้ตลาดส่งออกข้าวของไทย จะต้องปรับตัวตามพฤติกรรมการบริโภคของตลาดที่ไทยเคยมีอยู่ เพราะประเทศที่มีระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจดี จะลดการบริโภคข้าวลงตามลำดับ ทำให้ตลาดข้าวของไทย จะต้องส่งออกไปไกลมากขึ้น ได้แก่ แอฟริกา ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องราคาเป็นหลัก หากข้าวมีราคาแพงตลาดเหล่านี้ พร้อมบริโภคธัญพืชอื่นทดแทนทันที่ อย่างไรก็ตาม ตลาดสำคัญในภูมิภาคเดียวกับไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็ยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวต่อไป แต่ก็เป็นตลาดที่ให้ความสำคัญด้านราคาเช่นกัน


จำนำ 2 ปี สต็อกบวม-ค่าบริหารพุ่ง
 ทั้งนี้ โครงการรับจำนำปี 2547/2548 -2549/2550 จากข้อมูลสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า ทำให้ข้าวในสต็อกรัฐบาลมีมากถึง 10.33 ล้านตัน มีการระบายออกมา 5.49 ล้านตัน เหลือข้าวค้างสต็อกอยู่ 4.84 ล้านตัน

 ส่วนข้อมูลจากการวิจัยของทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สต็อกข้าวที่เพิ่มขึ้นทุก 10% ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง 2% ขณะที่ค่าใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2548/2549 สำหรับเก็บรักษาข้าว 5.248 ล้านตัน เป็นค่าเช่าโกดังและเก็บรักษา 930 ล้านบาท ค่าจ้างสีแปรสภาพ กระสอบ และขนส่ง 3.32 พันล้านบาท ค่าสูญเสีย 660 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส.และจดทะเบียน 2.35 พันล้านบาท ค่าบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายของ อคส. กรมการค้าภายใน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 360 ล้านบาท รวม  7.62 พันล้านบาท

พ่อค้าแห่ตุนฟันส่วนต่าง
 ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ ก็ได้สะท้อนเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พ่อค้าหลายรายเร่งซื้อข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไปเก็บไว้ เพื่อหวังส่วนต่างราคาปัจจุบันกับราคาข้าว หลังโครงการรับจำนำเปิดดำเนินการ ทำให้ข้าวในประเทศมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความลำบาก แม้รัฐบาลจะมีแผนให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) จัดทำข้าวถุงธงฟ้าราคาพิเศษช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน แต่ศักยภาพของ อคส.สามารถช่วยประชาชนได้ทั่วถึงหรือไม่ หากต้องพึ่งพาเอกชนให้ดำเนินการ ยังเกิดคำถามว่าจะเป็นเอกชนรายใด ประเด็นคำถามเหล่านี้ รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน

 นอกจากนี้ โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547-2552  รัฐบาลมีหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส.จำนวน 1.4 ล้านบาท (ณ 31 ก.ค. 54) เป็นหนี้จากการกู้มาใช้ซื้อข้าวเข้าโครงการแต่รัฐบาลขายข้าวไม่หมด หนี้ดังกล่าวเป็นบัญชีจำแลงที่อยู่นอกระบบงบประมาณแผ่นดิน

งบแทรกแซง 5 หมื่น ล.ชาวนาได้ 7 พันล.
 ทั้งนี้โครงการจำนำข้าวในปี 2548/2549 จำนวน 5.25 ล้านตัน รัฐบาลกู้เงินมาจ่ายค่าจำนำข้าว 44,797 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายแฝงอีก 6,961 ล้านบาท รวมต้นทุนประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท รัฐบาลได้เปิดประมูลขายข้าวในราคาต่ำ มีรายรับเข้ามาเพียง 32,628 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดทุน 19,130 ล้านบาท
 แม้รัฐบาลจะใช้เงินแทรกแซงจำนวนมาก แต่มีชาวนาได้ประโยชน์เพียง 7 พันล้านบาท หรือ 37% ของผลประโยชน์ทั้งหมด ผู้ส่งออกได้ประโยชน์ 4.47 พันล้านบาท หรือ 24% โรงสี 323 แห่ง จาก 2,000 แห่ง ได้ประโยชน์ 3.46 พันล้านบาท หรือ 18%

 งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ยังระบุด้วยว่า การรับจำนำส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด โดยคุณภาพข้าวจะตกต่ำลง เพราะทั้งชาวนา โรงสี ไม่ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพเพราะรัฐซื้อในราคาเท่ากันโดยไม่สนใจคุณภาพ มีข้าวจากกัมพูชา พม่า เข้ามาร่วมโครงการผ่านโรงสีที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ขณะที่โรงสีได้กำไร โดยไม่ต้องใช้ฝีมือในการค้าขาย ตลาดกลางค้าข้าว จะหายไปจากระบบเปลี่ยนมาเป็นโรงสีแทน ขณะนี้กำลังการผลิตโรงสีมีส่วนเกินอยู่ 60 ล้านตัน หากไม่มีโครงการจำนำ โรงสีบางแห่งต้องล้มละลาย

 นอกจากนี้ การรับจำนำยังก่อให้เกิดการแสวงหากำไรส่วนเกินที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม โดยชาวนาได้รับในสัดส่วน 38% ของเม็ดเงินจากโครงการและมีเพียง 5.2 แสนคน จาก 4 ล้านครัวเรือน โดยโรงสีได้ประโยชน์ 300-500 แห่ง จาก 2,000 แห่ง ผู้ส่งออกได้ประโยชน์ 10-20 ราย จากจำนวนผู้ส่งออก 150 รายและผู้ส่งออก 2 รายแรก ได้ประโยชน์ 2,641 ล้านบาท

ระบบพัง รัฐ "มองโลกเข้าข้างตัวเอง"
 นักวิชาการจาก ทีดีอาร์ไอ ยังตั้งข้อสังเกตุด้วยว่าหากรัฐต้องการยกระดับราคาข้าวในปีนี้ รัฐหนีไม่พ้นต้องเก็บสต็อกตลอดจนปีหน้าจะต้องเก็บสต็อกเพิ่ม เพราะหากระบายสต็อกออกมาราคาก็จะตกต่ำลง ส่งผลให้เกิดสต็อกสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีที่มีการรับจำนำ สร้างภาระการคลังให้กับประเทศ ผู้บริโภคต้องซื้อข้าวราคาแพง
 ทั้งนี้ การเก็บข้าวราคาสูงเข้าสต็อกทำให้ข้าวสารแพง ผู้บริโภคเดือดร้อน ถ้าจะไปอุดหนุนให้ข้าวราคาถูก รัฐจะขาดทุนเพิ่ม เงินอุดหนุนจะตกกับผู้บริโภคไม่ใช่ชาวนาแล้วจะให้ใครมาเป็นผู้ขายข้าวราคาถูกให้รัฐ ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่เก็บสต็อกแต่ต้องการให้ข้าวราคาสูงจะต้องเอามาเผาทิ้ง เป็นไปไม่ได้ ในทางการเมือง ถ้าไม่เก็บสต็อก ระบายออกก็ขาดทุน รัฐบาลจึงต้องคิดเรื่องจำนำ สต็อกและการระบาย อย่างเป็นพลวัตมากกว่าการคิดแบบปีต่อปี


 "การที่รัฐบาลเชื่อว่าขายข้าวได้ 1.5 หมื่นบาท บวกค่าแปรสภาพ 500 บาท ค่าฝากเก็บ 55 บาทต่อตัน คำถามคือประเทศไหนจะซื้อในราคานี้ ที่บอกว่าหากตลาดโลกไม่รับซื้อ รัฐบาลจะวางแผนให้ชาวนาลดการผลิต คำถาม คือ รัฐบาลจะอาศัยอำมาตย์หน้าไหนมากำหนดให้ชาวนา แต่ละคนลดการผลิตข้าวตามที่รัฐต้องการ รัฐบาลมองโลกแบบเข้าข้างตัวเองหรือเปล่า" ดร.นิพนธ์ระบุ

Tags : ผ่ามุม ทีดีอาร์ไอ จำนำข้าว รัฐก่อหนี้ คุณภาพข้าวด้อย

view