สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศไทยภายใต้ Family Business

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : บุญชัย ปัณฑุรอัมพร


ประเทศเราต้องการ “หมอเศรษฐกิจ” ที่สามารถจูงใจให้ทุก Sector เข้าใจแนวคิดและความตั้งใจอันดีของรัฐบาลและนำไปปฏิบัติพร้อม ๆกันทั่วประเทศ

ความตั้งใจของรัฐบาลที่จะลดช่องว่างระหว่าง “คนมี” และ “คนไม่มี” ให้แคบเข้า และเพื่อประโยชน์ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยการเร่งรัดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้นแบบตั้งตัวกันไม่ทัน แต่ก็ให้ชดเชยด้วยนโยบายลดภาษีนิติบุคคลเป็น 23%


วันนี้เราจะมาดูธุรกิจ 4 ระดับกันว่า นโยบายดันค่าแรงกับลดภาษี จะเป็นผลบวกหรือผลลบกับระดับไหนมากน้อยอย่างไร ความตั้งใจของรัฐบาลจะเป็นจริงหรือไม่ ถ้าจะทำให้เป็นจริง “ประเทศไทยภายใต้ Family Business” จะช่วยได้อย่างไร


ขอไล่เรียงจากธุรกิจระดับที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก่อน นั่นคือ ระดับสี่ : ธุรกิจที่ใช้แรงงานสูงมาก ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มี Brand แต่ผลิตขายให้ Brand ของผู้ซื้อในต่างประเทศ หรือเรียกว่า ธุรกิจ ‘OEM’ (Original Equipment Manufacturing) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ผลกำไรต่อหน่วยต่ำ เนื่องจากราคาขายได้ถูกกำหนดโดยลูกค้า ธุรกิจนี้มีคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากหลายๆ ประเทศทั่วโลก มาวันนี้เป็นธุรกิจที่ไม่มีปัจจัยบวกเหลืออยู่เลย ดอกเบี้ยสูง ค่าเงินบาทแข็ง ค่าแรงสูง ทำให้ไม่สามารถขายได้ ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นผู้สร้างงานให้กับผู้คนมาโดยตลอด จำเป็นต้องเน้นการผลิตด้วยปริมาณเพื่อความอยู่รอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นโยบายลดภาษี 7% ไม่ได้เป็นบวกแม้แต่น้อย และไม่สามารถชดเชยกับค่าแรงที่สูงขึ้นได้ เพราะผลกำไรสุทธิอยู่ในระดับต่ำ ผู้ประกอบการบางรายอยู่ในภาวะขาดทุนตั้งแต่เงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ


ขณะที่นโยบายดันค่าแรง ยิ่งจะส่งผลลบ เพราะไม่เพียงแต่ต้องจ่ายค่าแรงให้กับผู้คนหมู่มาก ค่าแรงที่สูงขึ้นถึง 40% ยังเป็นฐานในการคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ค่าประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จ (Provident Fund) พนักงานรายเดือนที่มีอยู่เก่า ต้องได้รับการปรับเงินเดือนกันยกแผงทุกระดับ เพื่อไม่ให้เกิดอาการน้อยใจว่าผู้ที่จบใหม่ได้รับถึง 15,000 บาทต่อเดือน ความคาดหวัง ที่กำลังซื้อภายในประเทศจะสูงขึ้นเมื่อผู้คนมีรายได้มากขึ้น ก็ไม่ได้เป็นตัวช่วยให้ธุรกิจ OEM อยู่รอดแต่อย่างใด เพราะมิได้มีการขายภายในประเทศ หากไม่สามารถปรับตัวแบบเร่งด่วนในระยะสั้น ธุรกิจระดับนี้คงจะต้องเลิกรากันไป


ระดับสาม ธุรกิจที่ใช้แรงงานสูง ไม่มีเทคโนโลยี มี Brand ที่เพิ่งเริ่มต้น ภาพโดยรวมก็คล้ายคลึงกับระดับสี่ เพียงแต่มีการปรับตัวในช่วงเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นจาก 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อสามปีก่อน เป็นการปรับตัวโดยเน้นผลิตให้กับ Brand ของตนเอง ทำตลาดเอง ลดสัดส่วนของโครงสร้างรายได้จาก OEM มาสู่ Brand ให้มากยิ่งขึ้น แต่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานในการผลิต ผลกระทบจากสองนโยบายก็ไม่ต่างกับธุรกิจในระดับสี่มากนัก เพราะอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน (Transition) อาจจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่า ตรงที่มี Brand ที่เพิ่มราคาขายให้สูงขึ้นได้ แต่ก็ต้องเสี่ยงกับยอดขายต่อหน่วยที่อาจจะต่ำลง การวางงบประมาณในปีใหม่ของธุรกิจระดับนี้ อาจจะต้องวางแบบติดลบผูกพันต่อเนื่องกันสองถึงสามปีตามแบบฉบับงบประมาณของภาครัฐ


ระดับสอง ธุรกิจที่ใช้แรงงานสูง มีเทคโนโลยีร่วมด้วย มีเงินทุนสูง มี Brand ติดตลาดมายาวนานหลายปี หรือเป็น Brand ที่ครองใจผู้ซื้อมาช้านาน สามารถตั้งราคาสูงได้ มีผลกำไรดี แม้จะต้องใช้แรงงานเป็นหลัก แต่ก็ได้พัฒนาการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว นโยบายลดภาษี 7% จึงเป็นผลบวกชดเชยกับค่าแรงที่สูงขึ้นได้พอสมควร รายได้ของผู้คนที่สูงขึ้นก็ก่อให้เกิดการจับจ่ายมากขึ้น (Purchasing Power) การเพิ่มราคาสินค้าจึงเป็นทางออกเพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุนกำไรมากจนเกินไป


ระดับหนึ่ง ธุรกิจที่ไม่ใช้แรงงาน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีเงินทุนสูง มี Brand ติดตลาดระดับโลก ธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับนี้ ถือว่าได้อานิสงส์จากทั้งสองนโยบาย เพราะมีผลกำไรสุทธิสูง การลดอัตราภาษีนิติบุคคล จึงเป็นผลบวกให้ผลประกอบการดูดียิ่งขึ้น เงินเดือนระดับปริญญาตรีก็เกิน 15,000 บาทมาช้านาน นโยบายดันค่าแรงให้สูงขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ใช้จ่ายมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ (High Consumption) จึงส่งผลให้เกิดยอดขายสูงขึ้นได้อย่างง่ายดาย


จาก “ผลลบ” และ “ผลบวก” ที่ไม่เท่าเทียมกัน ความตั้งใจของรัฐบาลที่จะลดช่องว่างระหว่าง “คนมี” และ “คนไม่มี” ให้แคบเข้า และเพื่อประโยชน์ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ อาจจะได้รับผลในตรงกันข้าม เพราะ “ช่องว่าง” อาจจะยิ่ง “ห่าง” ออกไป อีกทั้งประโยชน์ก็ยังไม่ได้ตกไปสู่ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ  ทางออกของภาคธุรกิจก็ยังคงวิ่งหนีห่างสวนทางกับความตั้งใจของรัฐบาล ด้วยการลดจำนวนแรงงาน ลดกำลังผลิต ลดสวัสดิการ ย้ายฐานการผลิต  ปิดกิจการ ภาคธุรกิจที่เคยช่วยเหลือแรงงานมาตลอดกลับต้องปิดตัวไป ในขณะที่ธุรกิจที่มิได้ส่งเสริมด้านแรงงานกลับได้รับผลกำไรที่ดีมากยิ่งขึ้น ตลอดจนราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็วิ่งหนีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น


ประเทศไทยภายใต้ Family Business ในที่นี้หมายถึงอย่างไร ขอยกตัวอย่างปรัชญาการทำงานในอาชีพหมอใจบุญของพี่ชายผมครับ พี่ชายผมเป็นหมอสูตินรีเวช พี่หมอเคยเล่าให้ฟังว่า “พี่หมอจะถามคนไข้เสมอว่ามีอาชีพอะไร ถ้าเป็นคนมีฐานะดี พี่หมอจะคิดราคาค่าฝากครรภ์สูงไว้ ถ้าเป็นคนมีฐานะปานกลางก็จะคิดราคามาตรฐาน คนมีฐานะยากลำบากพี่หมอก็จะไม่คิดเงินเลย คนมีฐานะยากลำบากมาก พี่หมอไม่เพียงแต่ไม่คิดเงินแต่ยังชำระค่าใช้จ่ายค่ายาให้อีก”


แม่ค้าขายกล้วยแขก ขายน้ำเต้าหู้ ขายพวงมาลัย  ที่อยู่ตามตรอกซอยแถวบ้านต่างรู้จักพี่หมอของผมดี พี่หมอยังบอกอีกว่า “ปรัชญาการเป็นหมอใจบุญแบบมองทุกคนเป็นพี่น้องกัน เป็นคนใน ครอบครัวเดียวกัน คนมีมากให้ช่วยคนมีน้อย เป็นปรัชญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์หมอที่ศิริราชผู้ซึ่งพี่หมอให้ความเคารพ ศรัทธาต่อคำสอนและได้นำมาปฏิบัติเสมอมา”


นี่แหละครับ “ประเทศไทยภายใต้ Family Business”  ทุก Sector ต้องสามัคคีเป็นพี่น้องกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน คิดย้อนกลับ ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุ้นเคยมาหลายทศวรรษ ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงกับผู้ที่อยู่ในสถานะที่ดีกว่า เพื่อให้ธุรกิจที่อ่อนแอกว่าอยู่รอด,  Suppliers ขายวัตถุดิบให้กับบริษัทที่แข็งแรงกว่าในราคาที่แพงกว่า เพื่อนำมาชดเชยกับบริษัทผู้ซื้อที่อ่อนแอกว่า,  ห้างร้านคิดค่าเช่าพื้นที่กับบริษัทที่แข็งแรงในอัตราที่สูงกว่า,  แนวคิดของเจ้าของกิจการ หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ต้องเห็นความสำคัญของพนักงานเป็นอันดับหนึ่ง ผู้บริหารไม่คาดหวังโบนัสที่สูงไปกว่าพนักงานทั่วไป ยิ่งระดับสูงยิ่งให้รับน้อยเพื่อนำเงินไปชดเชยให้พนักงานทั่วไป พนักงานทุกระดับเข้าใจและรู้ซึ้งถึงการปรับเปลี่ยนในแนวนี้ มีความตั้งใจ ขยันขันแข็ง ทำงานให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาครัฐก็ควรปรับนโยบายลดภาษีช่วยเหลือให้เหมาะสมกับสถานะของธุรกิจแต่ละระดับ แต่ละอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมให้คิดสูงกว่า 30% ในขณะที่บางอุตสาหกรรมให้คิดต่ำกว่า 23% ตลอดจนออกมาตรการช่วยเหลือพิเศษทางการเงิน (Subsidy) แก่อุตสาหกรรมบางประเภท ช่วยเยียวยาให้มีเวลาปรับตัวไม่ต้องล้มหายตายจากกันไป


ไม่มียาวิเศษตัวใดที่จะรักษาได้ทุกโรคกับคนไข้ที่แตกต่างกัน ยาที่ให้ต้องถูกกับโรคที่เป็น ในเวลาที่เหมาะสม  ประเทศเรายังต้องการ “หมอเศรษฐกิจ” ที่สามารถจูงใจให้ทุก Sector เข้าใจแนวคิดและความตั้งใจอันดีของรัฐบาลและนำไปปฏิบัติพร้อมๆกันทั่วประเทศ


หาไม่แล้ว แนวคิดและความตั้งใจอันดีของรัฐบาล ก็คงเป็นได้แค่  Ideology ที่แปลว่า “มโนคติวิทยา ความคิดที่เป็นไปไม่ได้” เท่านั้น

Tags : ประเทศไทย ภายใต้ Family Business บัญชี ฝึกอบรม สำนักงานบัญชี ทุจริต ทำบัญชี ที่ปรึกษา สอบบัญชี การจัดการ เศรษฐกิจการลงทุน

view