สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เราควรช่วยเอกชนปรับตัวกับ AEC อย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร bandid.econ@gmail.com


เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมไปพูดในงานสัมมนาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เรื่อง AEC ปี 2015 และความท้าทายที่จะมีต่ออุตสาหกรรมไทย AEC
หรือ Asean Economic Community ก็คือนโยบายเปิดเสรี เพื่อให้การเคลื่อนไหวของการค้า การลงทุน รวมถึงแรงงานระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียน สามารถทำได้สะดวกขึ้น ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป เพื่อให้ตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน เป็นตลาดเดียว สนับสนุนโดยความเป็นเสรีของเงินทุนและปัจจัยการผลิตที่จะสามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ระหว่างประเทศในอาเซียนได้ พูดง่ายๆก็คือ ธุรกิจที่เริ่มต้นในประเทศอาเซียน ประเทศใดประเทศหนึ่ง จะสามารถขยายไปทั่วอาเซียนได้อย่างเสรี ซึ่งหมายถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น และความสามารถในการทำรายได้ที่สูงขึ้น


ดังนั้น AEC จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะต่อไป ผ่านการเติบโตของการใช้จ่ายภายในอาเซียน โดยมีการขยายตัวของการค้า และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อน แทนการค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ และสหภาพยุโรปที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนมาก่อน

 
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปัญหาการว่างงาน และปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐ และสหภาพยุโรปขณะนี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่การแก้ไขจะใช้เวลา และการแก้ไข จะทำให้ทั้งสหรัฐ และยุโรปจะขยายตัวในอัตราต่ำในระยะต่อไป และอาจลากยาวเป็นปีหรือหลายปี ผลก็คืออัตราการขยายตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ก็คือ สหรัฐ กลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงอังกฤษ และญี่ปุ่น จะต่ำกว่าของประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน รัสเซีย ประเทศในเอเชีย รวมถึงกลุ่มอาเซียน และประเทศตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกาต่อเนื่อง ความแตกต่างนี้จะดึงดูดให้เงินทุนต่างประเทศ ไหลเข้าสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ในปริมาณที่มาก เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า เงินทุนไหลเข้าเหล่านี้ อย่างที่ทราบ จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

 
แต่ที่สำคัญ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวโมเดลการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน ที่ใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะประเทศอุตสาหกรรมหลัก อย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป ที่เคยเป็นตลาดส่งออกหลักของอาเซียน จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง ดังนั้น ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนจากนี้ไป จะต้องพึ่งการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออกภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันมากขึ้น ตรงนี้เองที่ทำให้ AEC จะเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันการใช้จ่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ขยายตัว บนฐานประชากรกว่า 500 ล้านคน ปัจจุบันการเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนดังกล่าว กำลังเกิดขึ้น ล่าสุดการส่งออกของไทยไปกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐ และสหภาพยุโรปสัดส่วนได้ลดต่ำลงเป็น ประมาณร้อยละ 20 ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอาเซียนได้เกิดขึ้นแล้ว และคงจะเข้มข้นขึ้น หลังปี 2015 เมื่อการเปิดเสรีของตลาดอาเซียนตาม AEC มีผลทางปฏิบัติจริง

 
คำถามที่ตามมา ก็คือ เราควรมีนโยบายอย่างไร ที่จะสนับสนุนเอกชนไทยให้สามารถปรับตัว และหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลก และการเกิดขึ้นของ AEC  ในเรื่องนี้ ผมได้เสนอแนะนโยบายในสามด้านที่เราควรผลักดัน

 
ด้านแรก  อยากให้ทางการสนับสนุนเอกชนไทย ที่จะไปลงทุนหรือสร้างฐานธุรกิจในประเทศอาเซียน เพื่อปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมากับ AEC คือ เมื่อ AEC เกิดในปี 2015 บริษัทธุรกิจในอาเซียนก็จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น เพราะตลาดของเราใหญ่ มีประชากรกว่า 67 ล้านคน นอกจากนั้น บริษัทธุรกิจในสหรัฐ และสหภาพยุโรปก็จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจของเขาจะชะลอ และการเข้ามาประเทศไทยประเทศเดียวก็สามารถใช้สิทธิ AEC ขยายธุรกิจในประเทศอาเซียนอื่นๆอีก 9 ประเทศได้

 
ดังนั้น นอกจากประเด็นการแข่งขันที่จะมีมากขึ้น การสนับสนุนเอกชนไทยให้ไปลงทุน และสร้างฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน จะเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและจำเป็น ความยากในเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่กฎระเบียบด้านปริวรรตของการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ผ่อนคลายมาตรการการนำเงินไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสำหรับภาคธุรกิจ เป็นการนำร่องไปมากแล้ว แต่ความยากจะอยู่ที่การสนับสนุนด้านข้อมูล การติดต่อ และการมีบุคลากรไทย ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจ และเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงภาษา  ในอดีตเราให้ความสำคัญมากกับเงินลงทุนต่างประเทศ ให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยมีการลดภาษีเป็นแรงจูงใจ จากนี้ไปแรงจูงใจควรต้องกลับทาง แรงจูงใจน่าจะเป็นการสนับสนุนธุรกิจคนไทยเอง ที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

 
ด้านที่สอง  สถาบันการเงินในประเทศ จะต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อสนับสนุนธุรกิจไทยในอาเซียน สิ่งแรกก็คือ การเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย เพราะ SME ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน กับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นหลังปี 2015 เมื่อ AEC เกิด นึกถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของเรา ที่จะต้องแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ในอาเซียน ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย นึกถึงบริษัทขนาดเล็กของไทยที่จะไปบุกตลาดในอาเซียน เพราะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีในสินค้าที่ผลิต แต่การปรับตัว และการทำธุรกิจเชิงรุกจะไม่เกิด ถ้าการเข้าถึงสินเชื่อในประเทศมีข้อจำกัด สินเชื่อของเราขณะนี้โตมาก ขยายตัวกว่าร้อยละ 16 ในเดือนกรกฎาคม แต่ที่โตมากไม่ใช่สินเชื่อ SME แต่เป็นสินเชื่อบริโภค และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินเพียงพอ จะสำคัญต่ออนาคตของบริษัทในประเทศ ที่จะต้องแข่งขันภายใต้ AEC


 อีกด้านที่อยากเห็น ก็คือ บทบาทที่สูงขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไทยในอาเซียน ในแง่ของการมีสาขาในต่างประเทศ ที่สามารถให้บริการธุรกิจเอกชนไทยได้ การมี Network ของธนาคารพาณิชย์ไทยในประเทศอาเซียน จะเป็นการสร้างความมั่นใจที่สำคัญ ให้กับนักธุรกิจไทยที่จะออกไปลงทุน หรือทำธุรกิจในอาเซียน แน่นอนการเปิดสาขาต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ ต้องเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่ถ้าการให้บริการการเงินต่อธุรกิจไทย ในประเทศอาเซียนมีไม่มากพอ อันนี้ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการปรับตัว และต่อการขยายธุรกิจของเอกชน

 
ด้านที่สาม ก็คือ ธรรมาภิบาลในธุรกิจเอกชน ประเด็นนี้ ฟังแล้วอาจจะนึกไม่ถึงว่าเกี่ยวกับ AEC แต่จริงๆแล้วอาจเป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะเมื่อตลาดอาเซียนเชื่อมต่อกันเป็นตลาดเดียวภายใต้ AEC บริษัทธุรกิจทั้งจากอาเซียน และจากนอกอาเซียน ก็จะเข้ามาทำธุรกิจ หรือลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น บริษัทเหล่านี้จะต้องมองหาบริษัทไทย เพื่อทำธุรกิจด้วยไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุน หรือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และในการคัดเลือก ประเด็นด้านธรรมาภิบาล จะเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจ และถ้าบริษัทไทยมีธรรมาภิบาลต่ำกว่าบริษัทอาเซียนอื่นๆ บริษัทไทยก็อาจถูกมองข้าม และนักลงทุนต่างประเทศจะไปร่วมทุน หรือเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทในประเทศอาเซียนอื่นแทน ปัจจุบันต้องยอมรับว่าความสามารถทางธุรกิจระหว่างบริษัทต่างๆจะไม่แตกต่างกันมาก เพราะต้นทุนและเทคโนโลยีที่ใช้คล้ายๆกัน จุดแตกต่างหรือความเด่นที่ไม่เหมือนกัน ก็คือ การบริหารจัดการ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลที่ดี ที่จะทำให้บริษัทสามารถทำธุรกิจได้ต่อเนื่อง และยั่งยืน ดังนั้น บริษัทไทยควรต้องปรับตัวในเรื่องธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อไม่ให้เสียโอกาสการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคหรือสากล
 
 
วันนี้ขอแค่นี้ก่อน พบกันใหม่วันจันทร์หน้าครับ

Tags : เราควรช่วย เอกชน ปรับตัว AEC บัญชี ฝึกอบรม สำนักงานบัญชี ทุจริต ทำบัญชี ที่ปรึกษา สอบบัญชี การจัดการ เศรษฐกิจการลงทุน

view