สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหากาพย์...มวลน้ำถล่มสยาม ต่างชาติทุกข์ประเทศไทยเจ๊ง!

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

“รถยนต์ที่โรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ดูเหมือนว่าจะยังลอยน้ำอยู่ในขณะนี้”

เป็นถ้อยแถลงยืนยันจาก โตโมฮิโร โอกาดะ โฆษกบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ที่ยอมรับสภาพกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ เมื่อโรงงานผลิตของบริษัทต้องตกอยู่ในสภาพจมบาดาล หลังจากที่มวลน้ำไหลเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะเมื่อ 3 วันก่อน

ในขณะนี้ฮอนด้า ค่ายผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ก็ยอมรับว่ายังไม่รู้ชะตากรรมได้ว่าจะสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้อีก เมื่อไหร่ เพราะน้ำยังไม่มีท่าทีว่าจะลดแม้แต่น้อย

ขณะที่ค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่งของญี่ปุ่นและของโลกอย่าง โตโยต้า มอเตอร์ ก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน แม้ว่าโรงงานผลิตทั้งสามแห่งในประเทศไทย คือ ที่สำโรง เกตเวย์ ฉะเชิงเทรา และบ้านโพธิ์ ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องระงับการผลิตลง เนื่องจากขาดชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จากโรงงานผลิตที่ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์น้ำถล่มเมืองไทยในขณะนี้

ไม่เพียงแต่ค่ายรถยนต์ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น ฟอร์ด มอเตอร์ส อีซูซุ ตลอดไปจนถึงบริษัท นิคอน ผู้ผลิตกล้องดีเอสแอลอาร์ชื่อดังของโลก โซนี่ คอร์ป ผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีรายใหญ่จากญี่ปุ่น ไพโอเนียร์ ผู้ผลิตเครื่องเสียงและสินค้าเทคโนโลยีรถยนต์ ตลอดจนบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อีกหลายแห่งจากหลายสัญชาติ ต่างก็ต้องยอมรับสภาพจากการได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกันไปจากน้ำท่วมครั้ง นี้ หากถึงขั้นเลวร้ายสุดก็ถึงกับหยุดการผลิต และได้แต่ทน “กลืนน้ำลาย” มองกระแสน้ำทะลักเข้าท่วมโรงงานเท่านั้น

 ซีเกท เทคโนโลยี บริษัทผู้ผลิตดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลก ยอมรับแล้วว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมในไทยครั้งนี้จะทำให้เกิดการสะดุดของการผลิตชิ้นส่วนเป็น ลูกโซ่ต่อเนื่องในไตรมาสนี้ ขณะที่ทางด้าน เวสเทิร์น ดิจิตอล บริษัทผู้ผลิตชิปจากสหรัฐ ก็ยอมรับว่าการผลิตได้รับผลกระทบแล้วจากน้ำท่วมสยามครั้งนี้

ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของไทย ที่เหตุอุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ อย่างรุนแรง จนขณะนี้ยากที่จะประเมินความเสียหายได้

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของหลายบริษัทระดับโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยถึงกับถูกวางตัวให้เป็น “ดีทรอยต์” แห่งเอเชียนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำทะลักเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ต้องยอมรับว่าไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่กระทบไปถึงระดับโลก

โดยเฉพาะสำหรับบริษัทเอกชนจากญี่ปุ่น ผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ในประเทศไทย ที่มีฐานการผลิตสำคัญในประเทศไทย ภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็น “คราวเคราะห์” ซ้ำสอง ที่หลายบริษัทยังมึนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. เหตุภัยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการผลิตของหลายบริษัทญี่ปุ่นอย่างหนักที่สุด โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ชื่อดังทั้งหลาย ทำให้ต้องหยุดการผลิตนานหลายสัปดาห์

เหตุการณ์ในญี่ปุ่นส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ไป ทั่วโลกต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทำให้โรงงานผลิตในหลายประเทศนอกญี่ปุ่นต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกไปยัง ต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย เพื่อทดแทนโรงงานการผลิตที่ได้รับความเสียหาย และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในแผ่นดินบ้านเกิด

แต่กระนั้น เหตุน้ำท่วมใหญ่ในประเทศที่กินเวลานานกว่า 3 เดือนในไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นฟ้าผ่าซ้ำสอง ทำให้สถานะของบริษัทญี่ปุ่นทรุดลงดับเบิล ทำให้การผลิตต้องหยุดชะงักลงไปอีกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าหวั่นพรั่นพรึงอย่างยิ่ง คือ สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะกลายเป็นวิกฤตเรื้อรัง กินระยะเวลาอีกนานเท่าไหร่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ไทยคนไหนให้คำตอบได้อย่างชัด ถ้อยชัดคำนัก

มาซาตากะ คูนูกิโมโตะ นักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระในญี่ปุ่น ยกตัวอย่างค่ายรถยนต์รายใหญ่อย่างฮอนด้า ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดในบรรดาค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ว่ากว่าจะกลับมาเดินหน้าการผลิตได้อีกครั้งนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานที เดียว

แน่นอนว่า ยิ่งนานความเสียหายก็ยิ่งทวีคูณ มาซาตากะคำนวณว่า หากฮอนด้าหยุดการผลิตถึง 3 เดือน นั่นหมายถึงว่า บริษัทจะสูญเสียการผลิตรถยนต์ไปถึง 6 หมื่นคัน คิดเป็นผลกำไรสูญไปแล้วถึง 2.5 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 232 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นจะเลวร้ายมากน้อยเท่าไหร่ ล้วนขึ้นอยู่กับว่าการผลิตจะต้องหยุดลงไปนานเท่าไหร่

เคิร์ต ซังเกอร์ นักวิเคราะห์จากดอชต์ ซีเคียวริตี ในกรุงโตเกียว ชี้ว่า ประเทศไทยมีสถานะเป็นฐานการผลิตสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 48% ของโลกสำหรับบริษัทหนึ่งๆ ทีเดียว ซึ่งความสูญเสียนั้นอาจจะอยู่ในวงจำกัด ถ้าหากบริษัทนั้นๆ ต้องหยุดการผลิตไปไม่เกิน 1 เดือน

แต่ถ้าหากหยุดไปนานเกินกว่า 3 เดือน ก็จะเริ่มเห็นผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบที่จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ไปทั่วโลก

นั่นคือสิ่งที่บริษัทต่างชาติผู้ลงทุนในบ้านเรากำลังหวาดผวา และไม่อยากให้เกิดขึ้นแน่นอน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว สำหรับผู้ที่จะต้องพบกับความสูญเสียมากที่สุดเห็นจะเป็นประเทศไทยเอง

มหาอุทกภัยครั้งนี้ นอกเหนือจากจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีประเทศอย่างรุนแรงถึง 0.9% ตามการคาดการณ์ของ สศช. และความเสียหายจากการประเมินเบื้องต้นของกระทรวงการคลังสูงถึง 6.9 หมื่นล้านบาทแล้ว

ภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางแห่งแหล่งลงทุนในเอเชีย ก็กำลังถูกน้ำกัดเซาะทำลายอย่างรุนแรงเช่นกัน จากการขาดการจัดการของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การเตือนภัย ตลอดจนการให้ข้อมูลกับทั้งประชาชนไปจนถึงเอกชนและนักลงทุนต่างชาติ

ตลอดไปจนถึงความไร้ซึ่งความสามารถที่จะปกป้องกันทรัพย์สินของเหล่าผู้ลงทุนต่างชาติได้

สุดท้าย หากมาตรการหลังจากนี้ของภาครัฐทั้งการดูแลและการช่วยเหลือยังไม่ดีพอและพอ เพียง มีหวังสถานะของการเป็นแหล่งลงทุนชั้นนำของเอเชียของไทยแลนด์ จะจมหนักยิ่งกว่านิคมอุตสาหกรรมที่จมน้ำอยู่ในทุกวันนี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : มหากาพย์ มวลน้ำถล่มสยาม ต่างชาติทุกข์ ประเทศไทยเจ๊ง

view