สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกสะดุ้ง หวั่นน้ำท่วมไทยแรงถีบเงินเฟ้อพุ่ง ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

ท่วมแล้ว ท่วมหนัก ท่วมนาน สำหรับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของประเทศไทย แดนสยามเมืองยิ้ม

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ท่วมแล้ว ท่วมหนัก ท่วมนาน สำหรับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของประเทศไทย แดนสยามเมืองยิ้ม ที่ ณ ปัจจุบันนี้คงยิ้มได้ยากเสียแล้ว

ไม่เพียงแต่เฉพาะไทยเท่านั้นที่ยิ้มไม่ออก บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็พลอยยิ้มไม่ออกไปกับประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เพราะนอกจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งด้านรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่บรรดาผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งเข้ามาลงทุนในไทยจะได้รับความเสียหายอย่างหนักกระเทือนเป็นวงกว้างแล้ว ความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรที่ไทยได้รับยังกระเทือนถึงปัญหา เงินเฟ้อซึ่งกำลังไต่อันดับขึ้นมาแบบพุ่งแรงและเร็วจนเป็นปัญหาชวนปวดตับของ บรรดาผู้นำในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในภูมิภาคเอเชีย

ยืนยันได้จากคำเตือนล่าสุดของ ดอยช์แบงก์ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของเยอรมนี ที่ออกแถลงการณ์ระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะควบคุมแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศอาจจะต้องสูญ เปล่า โดยเป็นผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมไทยเป็นสำคัญ

 

เพราะประเทศอู่ข้าวอย่างไทยมีผลผลิตข้าวเพื่อการส่งออกน้อยลง จนส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกที่แพงอยู่แล้วปรับราคาเพิ่มขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติต่างพากันประเมิน แล้วว่า เฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวของไทยในขณะนี้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้วถึง 12.5% ซึ่งมีสิทธิทำให้ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2554 นี้ หายไปมากถึง 6 ล้านตัน

ขณะที่ดอยช์แบงก์ระบุว่า การส่งออกข้าว ตลอดจนพืชพันธุ์ธัญญาหารอื่นๆ ของไทยน่าจะร่วงหล่นมากถึง 24%

ซูซานา ชอย นักวิเคราะห์จากดอยช์แบงก์ประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า สินค้าอุปโภค โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวแพงขึ้นจะส่งผลกระเทือนต่อนโยบายรัฐบาล จีนที่จะคุมเงินเฟ้อ จนส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่สามารถแก้ไขนโยบายทางการเงินได้อย่างสะดวก

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลจีนอาจจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงต่อไปเพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมาสูงถึง 6.1% จากเดือน ก.ย.ในปีก่อนหน้า

แน่นอนว่ามาตรการคุมเงินเฟ้อย่อมทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศน้อยลง จนกระเทือนต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะซึมเซา และต้องการแรงกระตุ้นมหาศาล

เรียกได้ว่า อาหารราคาแพง โดยเฉพาะราคาข้าว จึงเป็นเรื่องไม่น่าพิสมัยสำหรับผู้นำประเทศทั่วโลกที่กำลังรบราติดพันกับ ปัญหาเงินเฟ้อภายในของแต่ละประเทศ และต้องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง

ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในเดือน ม.ค. ของบอร์ดการค้าชิคาโกในสหรัฐเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกที่ 2.4% มาอยู่ที่ 17.12 เหรียญสหรัฐต่อ 100 ปอนด์ (ราว 99.5 กิโลกรัม) ขณะที่ราคาข้าวไทย 5% ในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นมาถึง 20% ตั้งแต่เริ่มไตรมาส 2 ของปี

เจเรมี สวิงเกอร์ ประธานบริหารไรซ์ เทรดเดอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าข้าวในแคลิฟอร์เนียคาดการณ์ว่า ราคาข้าวของไทยมีสิทธิเพิ่มสูงขึ้นถึง 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ภายในสิ้นปี 2554 นี้ โดยมีมูลเหตุจากปัญหาน้ำท่วมของไทยที่ดูท่าว่าจะหนักหนาสาหัสมากกว่าที่ได้ มีการประเมินกันไว้ในช่วงแรก ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวประมาณ 3 ล้านเมตริกตัน หรือคิดเป็น 20% ของผลผลิตข้าวทั่วโลกหายไปจากตลาดทันที

แม้ว่าจะมีประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ เช่น อินเดีย และปากีสถานที่ประกาศแล้วว่าจะส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอต่อความต้อง การของตลาดโลก แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าปริมาณข้าวที่อินเดียสามารถส่งออกได้ นั้นก็ไม่น่าจะเพียงพออยู่ดี

ที่สำคัญไปกว่านั้น นักวิเคราะห์จากดอยช์แบงก์ยังคาดการณ์ว่า ไทยอาจจะนำมาตรการห้ามส่งออกข้าวมาใช้ เหมือนเช่นที่รัสเซียเคยใช้มาแล้วกับการส่งออกข้าวสาลีเมื่อปี 2553 เพราะปัญหาภัยแล้ง จนทำให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกทะยานขึ้น

ราคาอาหารที่แพงขึ้น ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงราคาข้าวเท่านั้น เพราะนอกจากไทยจะส่งออกข้าวเป็นหลักแล้ว ไทยยังเป็นคลังอาหารอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง กาแฟดิบ รวมถึงสินค้าจำพวกปศุสัตว์และประมงอย่างเนื้อไก่และกุ้งแช่แข็ง

ทั้งนี้ บลูมเบิร์ก รายงานว่า ราคาน้ำตาลในตลาดนิวยอร์กปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความวิตกกังวลกันว่าสถานการณ์น้ำท่วมในไทย ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก จะส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน และทำให้การส่งออกล่าช้ากว่าตารางที่กำหนดไว้ราว 2-3 สัปดาห์

นิก เพนนีย์ นักค้าอาวุโสของซัคเดน ไฟแนนเชียล ได้ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ว่า ความล่าช้าดังกล่าวอาจทำให้น้ำตาลในตลาดโลกหายไปประมาณ 3 แสนเมตริกตันเลยทีเดียว

ขณะนี้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดส่งมอบเดือน มี.ค. ของนิวยอร์ก พุ่งไต่ระดับขึ้นมา 1% อยู่ที่ 26.74 เซนต์ต่อปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) และราคาน้ำตาลฟอกขาวในตลาดส่งมอบเดือน ธ.ค. ของลอนดอนเพิ่มขึ้น 0.5 เซนต์ มาอยู่ที่ 709.80 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ด้านเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่มีปลูกในไทยอย่างอะราบิกาและโรบัสตาก็ปรับตัว เพิ่มขึ้นแล้วเช่นกัน โดยกาแฟอะราบิกาในตลาดส่งมอบเดือน ธ.ค. ในนิวยอร์ก เพิ่มขึ้น 0.6% มาอยู่ที่ 2.4625 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ ขณะที่กาแฟโรบัสตาในตลาดส่งมอบเดือน พ.ย. ในลอนดอนเพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 1.886 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ขณะที่ราคาอาหารอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง ในตลาดส่งมอบเดือน ม.ค. ก็เพิ่มขึ้น 1.1% อยู่ที่ 12.34 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชิล (25 กิโลกรัม) และข้าวโพดในตลาดส่งมอบเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.6% มาอยู่ที่ 6.595 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชิล

เรียกได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในไทยได้สร้างความหวาดวิตกในตลาดส่งออก สินค้าเกษตร จนผลักดันให้ราคาอาหารที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มอยู่แล้วสูงยิ่งขึ้นไปอีก

แน่นอนว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้นำประเทศทั่วโลกเข็ดขยาดกับราคา อาหารแพงก็เพราะว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงภาวะข้าวยากหมากแพงของประชากรภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ได้

ทั้งนี้ นักเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า แม้ว่าหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียแปซิฟิกจะสามารถควบคุมเงิน เฟ้อให้ลดระดับลงมาได้ แต่เมื่อพลิกดูในรายละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของอาหารไม่ได้ปรับตัวลดลงเลยแม้แต่น้อย

ตรงกันข้าม ราคาอาหารกลับแพงขึ้น ยิ่งเมื่อบวกกับสถานการณ์น้ำท่วมขั้นเลวร้ายในไทย ตลอดจนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ยิ่งทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อมีสิทธิรุนแรงขึ้นถึงขั้นที่องค์การ อาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดว่า “ขาดแคลน” เลยทีเดียว

เพราะราคาอาหารคิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยถึง 30% ของตัวเลขเงินเฟ้อในเอเชีย โดยในจีนคิดเป็น 33% และอินเดียคิดเป็นสัดส่วนถึง 46% ส่งผลให้บรรดาผู้นำในประเทศเหล่านี้ไม่อาจละเลยสัญญาณอันตรายจากภัยน้ำท่วม ที่จู่โจมไทยในคราวนี้ได้เลย

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของอินเดียในขณะนี้อยู่ที่ 9.72% ซึ่งมากกว่าโซนปลอดภัยที่รัฐบาลอินเดียตั้งไว้ที่ 6% โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก

ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียต้องตัดสินใจ หรืออาจเรียกได้ว่าฝืนใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 8.50% และนับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นรอบที่ 13 ของปี เพื่อคุมเงินเฟ้อโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นจาก สถานการณ์น้ำท่วมในไทยเท่านั้น

หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือ ตอนนี้ในแต่ละประเทศยังมีอาหารในคลังสำรองอยู่ แต่ราคาที่แกว่งขึ้นเกิดจากความวิตกกังวลของตลาดโลก และทั่วโลกต่างจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าไทยจะมีมาตรการใดมาฟื้นฟูแก้ไข ปัญหาสินค้าเกษตรของไทยซึ่งมีทีท่าว่าจะขาดแคลน หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว

เพราะถ้าไทยจัดการไม่ดีพอ ภาวะอาหารแพง เงินเฟ้อพุ่งมีสิทธิแผลงฤทธิ์กระทืบเศรษฐกิจโลกที่บอบช้ำแน่นอน

เมื่อถึงเวลานั้น ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่จะม้วย เพราะโลกก็ไม่อาจจะรอดด้วยเช่นกัน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : โลกสะดุ้ง หวั่นน้ำท่วมไทย แรงถีบ เงินเฟ้อพุ่ง ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

view