สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Stress Test รายเซคเตอร์เศรษฐกิจไทย หลังภัยน้ำท่วม

Stress Test รายเซคเตอร์เศรษฐกิจไทย หลังภัยน้ำท่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


หลังวิกฤติน้ำท่วมของไทยที่น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น สิ่งที่ต้องตรวจสอบคือการประเมินความเสียหายว่าภาคเศรษฐกิจใดได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด
และการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
 

หากลองพิจารณาเหตุการณ์ในอดีตดูว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างที่มีความใกล้เคียงกับมหาอุทกภัยน้ำท่วมของไทยในครั้งนี้ ปรากฏว่ามีอยู่ 2 ครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดนกในฮ่องกง ปี 2003 จะคล้ายคลึงในแง่ของการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจการท่องเที่ยว และแผ่นดินไหวในไต้หวัน ปี 1999 ที่ส่งผลกระทบทางฝั่งอุปทานด้านการลงทุน
 

ทั้งนี้ การใช้ประเทศทั้งสองมาเป็นตุ๊กตาต้นแบบให้กับเศรษฐกิจไทย น่าจะมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูงเนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจที่ไม่ได้ต่างจากไทยมากนัก ที่สำคัญ หากมองไปในอัตราส่วนของการบริโภค การลงทุน และการส่งออกสุทธิ ในจีดีพี จะพบว่าไทยกับฮ่องกงมีความใกล้เคียงกันมาก
 

ขอเริ่มจากฝั่งอุปสงค์ก่อน การท่องเที่ยวของฮ่องกงหลังจากเกิดโรคซาร์ส ลดลงกว่าร้อยละ 25 ในปีถัดมา ทีนี้หากพิจารณาในกรณีของไทย จะพบว่า การท่องเที่ยวของไทยมีแหล่งท่องเที่ยวกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากผลกระทบของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีอยู่แค่ครึ่งหนึ่งของฮ่องกง ตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวก็จะลดลงประมาณร้อยละ 10 หรือราว 5-6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ต่อจีดีพี
 

สำหรับในส่วนการบริโภค แม้การบริโภคของฮ่องกงในตอนนั้นจะลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยอดขายของรายย่อยลดลงประมาณร้อยละ 14 ทว่ากรณีการบริโภคของไทย ผมยังคิดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าไรนัก โดยคาดว่าตัวเลขการบริโภคจะลดลงประมาณร้อยละ 2 หรือราว 1 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1 ต่อจีดีพี
 

สรุปได้ว่า ทางด้านอุปสงค์ จะทำให้จีดีพีลดลงราว 1.6 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.6 ต่อจีดีพี
 

คราวนี้ลองหันมาดูฝั่งอุปทาน ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวก็เป็นได้ หากพิจารณาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไต้หวัน จะพบว่า หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนในปีถัดมา ลดลงถึงเกือบร้อยละ 9 ทีนี้ จากการที่วัฏจักรการพัฒนาทางอุตสาหกรรมของไทยไล่หลังไต้หวันประมาณ 10 ปี จึงทำให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเทียบเคียงได้กับอุตสาหกรรมไทยในวันนี้ อย่างไรก็ดี ไทยก็ยังดูดีกว่าไต้หวันในมุมของอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนัก อาทิ รถยนต์
 

หากปรับผลดีของเราดังกล่าว ผมให้ตัวเลขการลงทุนของไทยลดลงประมาณร้อยละ 5 หรือลดลง 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ต่อจีดีพี
 

เมื่อรวมทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน น้ำท่วมครั้งนี้จะทำให้จีดีพีลดลงราว 3 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 3 ต่อจีดีพี
 

คำถามต่อไป คือ แล้วรายอุตสาหกรรมใดที่น่าจะได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยครั้งนี้มากน้อยกว่ากัน วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันก็คือ การทดสอบภาวะวิกฤติรายเซคเตอร์ด้วยวิธีทางการบริหารความเสี่ยงที่นิยมที่สุด ได้แก่ CreditMetrics โดยใช้ข้อมูลงบดุลของบริษัทต่างๆ ของกลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์ไทย ปริมาณความเสียหายของรายอุตสาหกรรมจะขึ้นอยู่กับว่าระดับสินทรัพย์ของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับหนี้สินมากน้อยเพียงใดหากเกิดวิกฤติขึ้น โดยสถานการณ์วิกฤติที่ผมใช้คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวของไต้หวันเมื่อปี 1999 ด้วยข้อมูลของตลาดหุ้นรายอุตสาหกรรมในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
 

ผลลัพธ์ของการทดสอบภาวะวิกฤติรายอุตสาหกรรม หากมองไป 1 ปีข้างหน้าปรากฏดังตาราง
 

หากพิจารณาจากผลลัพธ์ดังกล่าว หลังน้ำท่วมครั้งนี้ เซคเตอร์ที่ดูแล้วน่าเป็นห่วงที่สุด ได้แก่ ภาคบริการ และ การบริโภค ประเภท แฟชั่นและบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบันเทิงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริโภคค่อนข้างสูง และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ประเภทไฮเอนด์ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จะตัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ก่อน อันเป็นผลพวงจากค่าใช้จ่ายที่สูงแบบมิได้ทันตั้งตัวในช่วงหนีน้ำท่วม ผมคิดว่า เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากส่วนของอุปสงค์ในประเทศมากกว่าอุปทาน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศจะเสียเปรียบกว่าอุตสาหกรรมที่ส่งออก
 

ภาคเศรษฐกิจที่น่าห่วงรองลงมา ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม และภาคสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ได้รับผลกระทบในด้านการผลิต ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศมิได้ลดลง
 

ภาคเศรษฐกิจที่น่าห่วงเล็กน้อย ได้แก่ ภาคการเงิน และก่อสร้าง แม้ว่าความต้องการสินค้าในทั้งสองภาคส่วนจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องของการชำระคืนเงินของลูกค้า และภาคเศรษฐกิจที่น่าห่วงน้อยที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากอุปสงค์ของสินค้าเหล่านี้มิได้ลดลง โดยมีความต้องการมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
 

น่าสังเกตว่า หากพิจารณาความเสียหายเทียบกับขนาดของเซคเตอร์ ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จะมีสัดส่วนความเสียหายน้อยกว่าภาคอื่น เนื่องจากอุปสงค์น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ
 

คำถามสุดท้าย คือ รัฐบาลควรกระจายความช่วยเหลือไปในภาคส่วนต่างๆ อย่างไร จากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศ "มาตรการเชิงยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศ" ออกมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบภาวะวิกฤติความเสียหายรายภาคอุตสาหกรรมและตัวเลขมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลแล้ว ผมมีความคิดเห็น ดังนี้
 

ประการแรก มูลค่าความช่วยเหลือสำหรับภาคเกษตรกรรม หากเทียบเป็นสัดส่วนของความช่วยเหลือทั้งหมด มีประมาณไม่ถึงร้อยละ 5 ซึ่งยังถือว่าน้อย รวมถึงเมื่อพิจารณางบความช่วยเหลือต่างๆ มักจะมุ่งช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม อาทิ งบ 2 หมื่นล้านบาทสำหรับความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการจ้างงานใหม่นั้น มักจะเป็นการป้อนงานให้กับภาคอุตสาหกรรม แม้ว่าแรงงานของไทยเกินครึ่งยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็ตามที
 

ประการที่สอง ขนาดมูลค่าความช่วยเหลือสำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมและกลาง (SME) เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ยังถือว่าน้อย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ภาคบริการและการค้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ SME ดังนั้น การกระจายความช่วยเหลือลงไปในหน่วยงานระดับย่อยๆ จึงมีความสำคัญมาก มิฉะนั้นแล้ว อัตราการว่างงานของไทยในปีหน้าก็จะสูงขึ้นมาก แม้จีดีพีจะขยายตัวได้ คล้ายๆ กับสหรัฐในขณะนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรม รวมถึงช่องว่างของระดับรายได้จะถ่างกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา
 

ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงดูแลภาคเกษตรกรรมและ SME ให้มากครับ


หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วิกฤติกรีซและอิตาลี ได้ที่ “Blog ดร.ธรรม” ที่ http://facebook.com/MacroView และ http://www.econbizview.com ครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : Stress Test รายเซคเตอร์ เศรษฐกิจไทย หลังภัยน้ำท่วม

view