สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจโลกปี 2555

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร



ปี 2554 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้วนะคะ และกำลังจะย่างก้าวเข้าสู่ปี 2555 ซึ่งในปี 2554 นับว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินมีความผันผวนมากที่สุด

นับตั้งแต่ต้นปีนั้นมีความห่วงกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดภาวะร้อนแรงเกินไป จากภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และการขยายตัวของสินเชื่อที่ร้อนแรง จนจะมีผลกระทบต่อหนี้เสียและฐานะการเงินของระบบธนาคาร ทำให้ตลาดหุ้นในเอเชียตกต่ำในช่วงไตรมาสแรก ประเทศในกลุ่มเอเชียนั้นได้รับแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้ออันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร จนทำให้ธนาคารของประเทศในเอเชียมีการปรับขึ้นอัตราอ้างอิงขึ้น
 

ต่อมาได้ถูกซ้ำเติมด้วย วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่ประเทศกรีซ จะตกอยู่ในภาวะล้มละลาย เพราะไม่ได้รับเงินกู้จากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และได้ ลุกลามไปสู่ประเทศสมาชิกใหญ่ลำดับที่สาม คือ ประเทศอิตาลี จนกระทบต่อความเชื่อมันทำให้อัตราผลตอบแทนของประเทศกลุ่มอิตาลีและสเปนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่ต่อเนื่องมายังปี 2555 ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่า  สหภาพยุโรปจะยังคงอยู่ได้หรือไม่  หรือจะมีการแยกตัวออกไปของบางประเทศอย่างไรหรือไม่ ทำให้ความเสี่ยงนี้ยังคงอยู่และทำให้นักลงทุนหนี้จากสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง (risk off) โดยจะถือหลักทรัพย์ประเภทตลาดเงินระยะสั้นและเงินสด
 

ทางด้านสหรัฐอเมริกาแม้ว่าจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจและสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2008-2009 ได้ แต่ก็เผชิญกับปัญหาเพดานหนี้ที่จะเกินกำหนดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเองก็ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา และแม้ว่าในที่สุดแล้ว แม้ว่ารัฐสภาจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ก็ตามแต่ก็ยังต้องมีแผนการลดภาระหนี้ภาครัฐที่เป็นรูปธรรมที่จะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงมีความผันผวนขึ้นลงค่อนข้างมากตลอดปี 2554 นี้ และแนวโน้มนี้จะยังคงมีต่อเนื่องไปอีก
 

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกของปี 2554 และปี 2555 ลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย รวมทั้งประเทศไทย ที่ล่าสุด คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอ้างลง 0.25% จากร้อยละ 3.50 ลงเหลือ 3.25% จากที่ก่อนหน้านั้น ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมารวม 9 ครั้งด้วยวัตถุประสงค์ในการจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ติดลบ จากคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 ดังนั้น การปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ของตลาด
 

การปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยสะท้อนถึงความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมหาอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน-ต้นพฤศจิกายน ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการผลิตของประเทศอย่างรุนแรง สภาพัฒน์ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการจัดทำตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ได้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะขยายตัวติดลบ และทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1.8  สำหรับ ปี 2555 นั้น คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเองจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 3.5-4.0 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าแนวโน้มปกติ และนอกจากนี้แล้ว ความเสี่ยงยังจากความไม่แน่นอนของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติหนี้ของยุโรปที่อาจนำไปสู่การปรับตัวหรือปฏิรูปครั้งใหญ่ของสหภาพยุโรปที่มีการพูดกันถึง โอกาสของการแยกตัวของประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อให้มีความยืดหยุ่นตัวในการแก้ไขปัญหาวิกฤติในบางประเทศ ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ประเทศสมาชิกจะต้องถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำของสหภาพยุโรปในสัปดาห์ในการหาข้อยุติในการแก้ไขวิกฤติของยุโรปที่เป็นรูปธรรมและป้องกันการขยายลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลก
 

จากสภาวการณ์ความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนข้างต้น จึงมีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยมีแนวโน้มขาลงที่อาจจะปรับตัวลดลงไปได้อีกในปีหน้านี้ แต่จะลดลงมากเพียงใดก็คงขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด จึงเป็นปัจจัยท้าทายต่อรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดถึงการใช้นโยบายการเงินการคลังที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด   


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เศรษฐกิจโลกปี 2555

view