สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมอร์ริล ลินช์ มองเศรษฐกิจโลกในปี 2012

เมอร์ริล ลินช์ มองเศรษฐกิจโลกในปี 2012



แบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริล ลินช์ มองเศรษฐกิจโลกในปีหน้าไม่ดีนักและเห็นว่าต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก
เห็นได้จากตารางการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (ดูตารางประกอบ)
 

จะเห็นได้ว่าในกรณีฐานนั้นเมอร์ริล ลินช์ มองว่าจีดีพีโลกจะขยายตัวได้ดีพอใช้ที่ 3.7% แต่เมอร์ริล ลินช์ ให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.9% และเศรษฐกิจยุโรปติดลบ 0.6% ดังนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นการขยายตัวที่ถูกขับเคลื่อนจากการขยายตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นหลักและในส่วนนี้ตลาดเกิดใหม่เอเชียจะขยายตัวสูงสุด คือ 7.1% เห็นได้จากการคาดการณ์ว่าจีนจะยังขยายตัว 8.6% อินเดีย 6.8% และอินโดนีเซีย 6.0% โดย 3 ประเทศเอเชียดังกล่าวมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลกเข้าไปแล้ว
 

ที่น่าสนใจ คือ เมอร์ริล ลินช์ ให้โอกาสที่จะเกิดกรณีฐาน (base case) เพียง 50% ซึ่งผิดปกติเพราะโดยทั่วไปแล้วกรณีฐานน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น 80-90% และกรณีที่ดีกว่าคาดหรือร้ายกว่าคาดจะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างละ 5-10% แต่ในครั้งนี้เมอร์ริล ลินช์ ให้โอกาสที่เหตุการณ์ร้ายเกินคาดจะเกิดขึ้นสูงถึง 40% ในขณะที่กรณีที่ดีเกินคาดนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 10%
 

ในกรณีร้ายเกินคาดนั้นต้นเหตุจะเกิดจากปัญหายุโรปที่แก้ไขไม่เป็นที่พอใจของนักลงทุน ทั้งนี้ ในวันที่บทความนี้ถูกนำออกไปตีพิมพ์อาจทราบบ้างแล้วว่าปัญหายุโรปจะค่อยๆ ทุเลาลงหรือจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะได้ผ่านการประชุมผู้นำของยุโรปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม และได้มีการวิเคราะห์และประเมินผลการประชุมดังกล่าวไปแล้วว่าผลการประชุมจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหายุโรปอย่างเบ็ดเสร็จหรือจะยังพยายามแก้ปัญหาแบบซื้อเวลาต่อไปอีก ซึ่งหากเป็นกรณีแรกก็จะทำให้เกิดความคาดหวังในเชิงบวก และทำให้กรณีดีเกินคาดมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า 10% กล่าวคือ เมอร์ริล ลินช์ เตรียมรับข่าวร้ายมาในระดับหนึ่งแล้ว
 

ในกรณีร้ายเกินคาดเศรษฐกิจยุโรปจะติดลบมากถึง 2.5% ซึ่งน่าจะกดดันให้บางประเทศขนาดเล็กต้องยินยอมออกจากเงินสกุลยูโร ทำให้เกินความปั่นป่วนอย่างมากและเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 1% ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐก็หดตัวตามยุโรป แต่หดตัวเพียง 0.5% ในกรณีดังกล่าว นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ มองว่าเศรษฐกิจในเอเชียที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ เศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าขายกับต่างประเทศสูง ได้แก่ สิงคโปร์โดยเศรษฐกิจจะปรับลดลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ในกรณีฐานเป็นติดลบ 3.0% ในกรณีเลวร้าย รองลงมา คือ มาเลเซียจาก 3.6% มาเป็น -1.0% ฮ่องกงจาก 3.9% มาเป็น 1.7% ไต้หวันจาก 3.2% มาเป็น 1.2% และเกาหลีใต้จาก 3.6% มาเป็น 1.8% สำหรับประเทศไทยนั้นภัทรฯ มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4% ในกรณีฐานแต่หากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปหดตัวเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 1.5% ในปี 2012
 

เมอร์ริล ลินช์ มองว่าตลาดหลักในเอเชีย คือ จีน อินเดียและอินโดนีเซียนั้นมีความแข็งแกร่งที่จะตรึงอัตราการขยายตัวเอาไว้ที่ระดับค่อนข้างสูงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะหดตัว ได้แก่ จีนที่จะขยายตัว 8.6% ในปีฐานแต่ก็จะยังขยายตัวได้สูงถึง 7.5% ในกรณีร้ายเกินคาด อินเดียจะขยายตัว 6.8% กับ 6.0% และอินโดนีเซียจาก 6.0% เป็น 4.5% ดังนั้น สิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์เอาไว้และจะทำให้ภาพของเอเชียทรุดลงเป็นอย่างมาก คือ การที่  3 ประเทศหลักดังกล่าวขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ในกรณีของจีนนั้นเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับลดลงของราคาบ้าน แต่นักลงทุนก็ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน และจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังที่พอเหมาะพอควร ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) ในกรณีของอินเดียนั้นมีปัญหาเรื้อรังอยู่มากเช่นการขาดดุลงบประมาณ ปัญหาเงินเฟ้อและการอ่อนตัวของค่าเงินรูปี แต่เมอร์ริล ลินช์ ก็ยังมองว่าทางการไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เข้มงวดเกินไปและจะยังรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้พร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 6% หรือมากกว่านั้น ซึ่งผมเองเป็นห่วงว่าการบริหารจัดการเศรษฐกิจอินเดียนั้นจะเป็นความท้าทายอย่างสูง จึงควรต้องระมัดระวังในส่วนนี้ ในกรณีของอินโดนีเซียนั้นก็มีลักษณะบางประการคล้ายคลึงกับอินเดีย โดยเฉพาะในส่วนของเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงแต่ดอกเบี้ยยังต่ำเกินไป จึงทำให้เกรงว่าหากเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจหดตัวลงอย่างมาก ก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างกว้างขวาง
 

การมองภาพเศรษฐกิจยุโรปหดตัวลงในไตรมาสปัจจุบันต่อเนื่องไปยังครึ่งแรกของปีหน้า (ทำให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัวทั้งปีในปี 2012) นั้น เป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกันของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เพราะแม้จะฝ่าวิกฤติเงินยูโรไปได้ (คือ ไม่เกิดการแตกสลายของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร) แต่ก็ต้องแลกกับการรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างรุนแรงฉับพลันและยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจยุโรปจะต้องชะลอตัวอย่างชัดเจนในปี 2012 แต่มุมมองของเมอร์ริล ลินช์ ที่แตกต่างนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คือ การมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ปัจจุบันดูดี (โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ระดับ 3% ในไตรมาสปัจจุบัน) จะชะลอตัวลงในปี 2012 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องดำเนินนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกครั้ง (QE3) ในไตรมาส 3 ของปีหน้า ทั้งนี้ เพราะนักลงทุนจะเริ่มกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2012 รวมทั้งการที่รัฐสภาและฝ่ายบริหารจะต้องเจรจากันอีกครั้งเพื่อขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลภายในต้นปี 2013 หากหลังการเลือกตั้ง การเมืองสหรัฐยังมีความแตกแยกและหาทิศทางในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะไม่ได้ชัดเจน ก็อาจส่งผลต่อความมั่นใจของเจ้าหนี้ของสหรัฐได้ในที่สุด ทั้งนี้ สหรัฐได้เปรียบยุโรปอย่างมาก เพราะมีอภิสิทธิ์ในการพิมพ์เงินสกุลหลักของโลกออกมาใช้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดและตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง ทำให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินได้ที่ดอกเบี้ยต่ำแม้สถานะทางการคลังของสหรัฐจะย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
 

อย่างไรก็ดี เมอร์ริล ลินช์ ได้กล่าวเตือนว่าในระยะยาวหากสหรัฐไม่จัดการกับปัญหาทางการคลัง สหรัฐก็อาจต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้สาธารณะในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากกรีกในขณะนี้ก็เป็นได้ครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เมอร์ริล ลินช์ มองเศรษฐกิจโลกในปี 2012

view