สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชะตากรรมแบงก์มะกัน-ยุโรป สุดหิน 2012:ปัญหาหนี้เศรษฐกิจรุมเร้า

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

นับเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ด้วยบรรยากาศที่ไม่ค่อยจะ โสภาสักเท่าไรนัก เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่รออยู่ในปี 2555

เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนเป็นสัญญาณร้ายบ่งบอกให้นักลงทุนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบรรดากิจการอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากธนาคารในฟากยุโรป และสหรัฐต้องเตรียมใจรับสถานการณ์เลวร้ายในปี 2555 ที่จะถึงนี้ไว้ให้ดี

สืบเนื่องมาจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบันจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการ ดำเนินกิจการธนาคารให้อยู่รอด ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อกิจการต่างๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สำหรับอุปสรรคแรกสุดก็คือ การที่ธนาคารเหล่านี้จำต้องเดินหน้าลดการให้กู้ยืมเงินลง เพื่อให้ธนาคารมีปริมาณเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะอยู่รอดท่ามกลางมรสุมหนัก

ทั้งนี้ มีการประเมินคร่าวๆ ว่า แต่ละธนาคารในสหรัฐจำเป็นต้องมีทุนสำรอง 1.33 แสนล้านยูโร ขณะที่แต่ละธนาคารในยุโรปต้องมีทุนสำรองอย่างน้อย 2.21 แสนล้านยูโร จึงจะพอให้ธนาคารทั้งหลายมีสภาพคล่อง และสอดคล้องกับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อทรัพย์สินเสี่ยง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Basel III) ที่เพิ่มเข้ามาหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2550-2551 เพื่อเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทจัดอันดับและนักลงทุน ทั่วโลกว่าธนาคารไม่มีทางล้มแน่

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ล้วนเห็นว่า การระดมทุนของธนาคาร โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ท่ามกลางเงื่อนไขเศรษฐกิจซวนเซและถดถอยในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

เท่ากับว่า ทางเลือกที่พอจะเหลืออยู่สำหรับธนาคารในยุโรปเพื่อให้กิจการอยู่รอดต่อไปได้ ก็คือ การจำกัดปริมาณการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรปเป็นไปได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนหรือประชาชนไม่มีแหล่งเงินทุนสำหรับการประคับประคองกิจการ หรือเริ่มดำเนินโครงการใดๆ

สำหรับธนาคารในสหรัฐ ถึงแม้การระดมทุนสำรองของธนาคารให้ได้ในปริมาณที่หลักเกณฑ์ของบาเซิล III กำหนดไว้จะพอเป็นไปได้บ้าง เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐยังเติบโตได้อย่างช้าๆ

แต่ความกังวลของนักลงทุนที่จะต้องแบกรับหนี้สินของธนาคารก็ยังถือเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ให้ธนาคารสหรัฐไม่สามารถระดมเงินทุนได้ง่ายมากนัก

หรือพูดให้เข้าใจแบบง่ายๆ ว่า ในปี 2555 นี้ ธนาคารสหรัฐมีแนวโน้มผจญชะตากรรมยากลำบากในการหารายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ต่างจากธนาคารในยุโรป

อุปสรรคประการต่อมาของบรรดาธนาคารสหรัฐและยุโรปในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง นอกจากจะอับจนหนทางในการระดมปริมาณทุนสำรองเงินฝากเพื่อให้มีอัตราส่วนเงิน กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ที่บาเซิล III กำหนดแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป ก็ยิ่งทำให้กิจการของธนาคารในปีหน้าเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

เพราะหนี้สาธารณะในยุโรปที่ย่ำแย่จนทำความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย ทำให้ธนาคารต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากมูลค่าของบัญชีทรัพย์สินที่ธนาคารถือครองอยู่ เช่น พันธบัตรรัฐบาลกรีซลดลงแบบฮวบฮาบ

แรงกดดันดังกล่าว ทำให้ธนาคารไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินหน้าเทขายทรัพย์สินเสี่ยงที่มีอยู่ ในราคาถูกเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งแม้จะช่วยให้สถานะของธนาคารมั่นคงขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องแลกกับการผลักให้เศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวมเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถด ถอย เพราะประเทศที่ออกพันธบัตรไม่สามารถหาแหล่งเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กับระบบ เศรษฐกิจของตนเอง

นอกจากนี้ อุปสรรคสำคัญของธนาคารทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติกอีกประการหนึ่งก็คือ กฎเกณฑ์ข้อบังคับ และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้ หนึ่งในแหล่งรายได้หลักของธนาคารในสหรัฐก็คือ การเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการธุรกิจสินเชื่อต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ที่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้ธนาคารถูกจำกัดลู่ทางทำเงินไปอีกช่องทางหนึ่ง

ท้ายที่สุด เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงชะงักงัน มูลค่าสินทรัพย์เดินหน้าลดฮวบฮาบ และมาตรการทางการเงินเพิ่มความเข้มงวด จนลู่ทางรายได้หดหาย ธนาคารทั้งจากยุโรปและสหรัฐจำต้องหามาตรการเอาตัวรอดที่บรรดานักวิเคราะห์ ยอมรับว่า อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สำหรับทางเลือกของธนาคารสหรัฐและยุโรปที่ถือได้ว่าซ้ำเติมตัวเลขการว่าง งานของประเทศไปเต็มๆ เนื่องจากธนาคารเลือกที่จะลดต้นทุนเพื่อรักษากิจการเอาไว้ด้วยการหั่นจำนวน พนักงานลง

เพราะในทางธุรกิจ ครึ่งหนึ่งของต้นทุนทางธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากบรรดาพนักงาน โดยในขณะนี้ มอร์แกน สแตนเลย์ ได้ประกาศตัดลดพนักงานแล้ว 1,600 คน จากจำนวนทั้งหมด 6.3 หมื่นคน ขณะที่ ซิตี้กรุ๊ป และแบงก์ออฟอเมริกา ได้เดินหน้าปลดพนักงานออกไปแล้วหลายพันคน และธนาคารยูบีเอสจากยุโรปประกาศปลดอีก 5,000 คน

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อประมวลจากการประเมินคาดการณ์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกดูแล้ว สิ่งเดียวที่พอจะเห็นได้แน่ชัดที่สุดในเวลานี้ก็คือ ปี 2555 ที่กำลังจะมาถึง คงเป็นปีที่ไม่น่าจดจำไปอีกหนึ่งปี


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ชะตากรรมแบงก์มะกัน ยุโรป สุดหิน 2012 ปัญหาหนี้เศรษฐกิจรุมเร้า

view