สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2012 แบงก์ยุโรป-มะกันกระอักเลือด ช่องทางหาเงินลด ระเบียบใหม่ตามเช็ด!

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ในปี 2012 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะถือเป็นปีที่สุดหินอย่างที่สุดสำหรับภาคธนาคารทั้งในสหรัฐ และยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักลงทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก ราคาสินทรัพย์ที่ดิ่งเหวตลอดจนกฎระเบียบใหม่ในภาคการเงิน ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการล้มละลาย ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ “ปีมะโรง” เป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์ในโลกตะวันตกไม่ลืมกันทีเดียว

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งในสหรัฐและยุโรปตกอยู่ในภาวะที่นั่งลำบากอยู่แล้ว อีกทั้งยังจะต้องเร่งเพิ่มทุนให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ตามมติคณะกรรมการบาเซิล ที่เรียกว่า “บาเซิล 3” (Basel III) ที่กำหนดให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในสหรัฐและยุโรปจำเป็น ต้องทุนสำรองขึ้นอีก 7% อีกด้วย เพื่อสร้างฐานให้แข็งแกร่งลดความเสี่ยงต่อการล้มละลาย

แน่นอนว่าสำหรับยุโรปแล้ว ปี 2011 ที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นแย่มาก หนำซ้ำยังมีแนวโน้มว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้าด้วยซ้ำ ดังนั้นการเพิ่มทุนใดๆ ตามกฎระเบียบใหม่ของบาเซิล 3 แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซ้ำร้ายวิกฤตหนี้ที่กำลังเรื้อรังในยุโรป ยังทำให้ธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องดำเนินกิจการด้วยความรัดกุมยิ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดการปล่อยกู้ และจะส่งผลกระทบต่อไปยังภาคธุรกิจโดยรวม และในที่สุดเศรษฐกิจของยุโรปนั้นจะ “ไม่โต”

ส่วนสถานะของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐนั้น แม้ว่าจะดูดีกว่าในยุโรปบ้างเล็กน้อย เพราะยังสามารถเพิ่มทุนได้จากผลประกอบการที่ดีกว่า แต่ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐก็ไม่น่าไว้วางใจทีเดียว

ย้อนรอยไปหลังจากวิกฤตการเงินในช่วงปี 20072008 รัฐบาลสหรัฐได้คลอดกฎระเบียบใหม่ขึ้นมากมาย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจแบบโลดโผนเกินไปในภาคการเงิน อันจะนำไปสู่วิกฤตได้ พร้อมๆ กับออกกฎระเบียบใหม่เพื่อปกป้องผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งกฎระเบียบใหม่กำลังทำให้พื้นที่ “หาเงิน” ของธนาคารพาณิชย์ลดลงไปมาก เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินเมื่อ 3 ปีก่อน

นั่นหมายความว่า หนทางที่จะทำกำไรของธนาคารในสหรัฐหลังจากนี้นั้น เรียกได้ว่า “ยากกว่าเดิม” หลายเท่าตัว

กลุ่มที่ปรึกษาด้านการเงินในบอสตันให้ความเห็นว่า การลงทุนในธุรกิจทุกสายในสหรัฐขณะนี้ ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้เงินทุกมากขึ้นแต่จะทำกำไรได้น้อยลง ถือว่าอุตสาหกรรมธนาคารทั้งระบบในสหรัฐกำลังเดินมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้ง สำคัญ ที่จะต้องคิดอย่างหนักมากขึ้นเป็นเงาตามตัวว่าจะ “หาเงินกันอย่างไร”

ทั้งนี้ จากการสำรวจของกลุ่มที่ปรึกษาภาคการเงินในบอสตันที่ทำการสำรวจ 145 ธนาคารทั่วโลก ชี้ว่าธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องการระดมทุนเพิ่มให้ได้ถึง 2.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงบาเซิล 3 ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงกว่าที่ธนาคารในยุโรปสามารถหาได้ นับตั้งแต่ผ่านวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาถึง 3 เท่าตัว

ส่วนธนาคารในสหรัฐนั้น ต้องการระดมทุนเพิ่มให้ได้ถึง 1.33 ล้านยูโร

เนื้อหาในข้อตกลงบาเซิล 3 นั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้งในสหรัฐและยุโรป จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนในสัดส่วนที่สูงกว่าธนาคารอื่นๆ โดยแบ่งเป็น ธนาคารสหรัฐ 8 แห่ง และธนาคารยุโรป 17 แห่ง เพื่อเป็นการปกป้องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในภาคการเงินโลกที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าหากธนาคารายใหญ่เหล่านั้นล้มละลายลง

แต่ในทางกลับกันมาตรการนี้ ก็จะทำให้ธนาคารเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัวใน ส่วนการดำเนินธุรกิจของธนาคารด้วย

แรงกดดันนี้รู้สึกได้อย่างรุนแรงที่สุดในยุโรป เมื่อธนาคารต่างๆ ต้องเจอกับปัญหาราคาสินทรัพย์ตกต่ำมาตลอด และอาจจะถึงขั้นต้องหั่นมูลค่าสินทรัพย์ลงจากผลพวงของวิกฤตหนี้ที่กำลัง สุกงอม โดยเฉพาะปัญหาหนี้กรีซ

แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐจะไม่ได้เห็นใจแม้แต่น้อย โดยสำนักงานการธนาคารแห่งยุโรปยังยืนยันว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มทุนให้ได้ 1.115 แสนล้านยูโร ภายในเดือน มิ.ย. 2012

ดังนั้น ทางเลือกและทางรอดของบรรดานายแบงก์ในยุโรปที่จำเป็นต้องเลือก คือต้องขายทิ้งสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงลง แต่การกระทำเช่นนั้นกลับจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของยุโรปถูกผลักให้เข้าใกล้ปาก เหวแห่งการถดถอยทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถ้าธนาคารพาณิชย์ “ไม่ลงทุน” อีกต่อไป

ขณะที่สถานการณ์ของธนาคารในสหรัฐแม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่า แต่ในสภาพความเป็นจริง ธนาคารพาณิชย์สหรัฐก็ไม่ได้มีสุขภาพที่แข็งแกร่งนักนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน เมื่อ 3 ปีก่อนเป็นต้นมา และในปีหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐเองก็ใช่ว่าจะหรูหราเสียเมื่อไหร่

ประการหนึ่ง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐสามารถเพิ่มรายได้จากการกันทุนสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะได้ผลต่อเมื่อความเสี่ยงลดลง แต่ทว่าในปีหน้าความเสี่ยงกลับเพิ่มขึ้นจากวิกฤตในยุโรป ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการทำกำไรในส่วนนี้ของธนาคารสหรัฐโดยตรง

ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากการปฏิรูปภาคการเงินหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งรายได้ของธนาคารโดยตรง เช่น การจำกัดปริมาณเทรดดิงในบัญชีตัวเอง และอีกหลายมาตรการคุมเข้มการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิต

ภายใต้สภาวะแวดล้อมเช่นนี้ ได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ธนาคารสหรัฐจะแก้ปัญหานี้อย่างไร แน่นอนว่าทางออกที่ทำได้ก็คือการลดพนักงาน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์ ได้ประกาศลดพนักงานลง 1,600 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 6.3 หมื่นคน ขณะที่ซิตี้กรุ๊ป และธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ก็ประกาศเลย์ออฟพนักงานนับพันคนแล้วเช่นกัน

ริชาร์ด โบฟ นักวิเคราะห์จากโรชเดล ซิเคียวริตี ให้ความเห็นว่า รายจ่ายกว่าครึ่งหนึ่งของธนาคารเหล่านี้ เป็นรายจ่ายพนักงานทั้งสิ้น

“หากคุณจะควบคุมรายจ่ายก็ต้องไล่คนออก”

ส่วนในกรณีของยุโรปนั้น โบฟเห็นว่าทางออกก็คือ รัฐบาลยุโรปแต่ละชาติจำเป็นต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์โดยตรง บ้าง แต่หากทำเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการขัดต่อหลักการณ์ของ “บาเซิล 3” ทันที ที่ไม่ต้องการให้นำเงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนภาคเอกชน

สุดท้าย ข้อตกลงบาเซิล 3 นั่นเอง ที่กำลังกลายเป็นนางร้ายตามเช็ด ทำให้สถานะของแบงก์ยุโรปและอเมริกันตกที่นั่งลำบากหนักยิ่งกว่าเก่า

ว่ากันว่า จะถึงขั้นกระอักเลือดกันเลยเชียว!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : 2012 แบงก์ยุโรป มะกันกระอักเลือด ช่องทางหาเงินลด ระเบียบใหม่ตามเช็ด

view