สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทั่วโลกเชื่อเศรษฐกิจปี 2012 ยังโตได้ช้าๆ แต่ให้ระวังยุโรป

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ นักวิชาการ หรือสถาบันที่ปรึกษาทางธุรกิจทั้งหลาย ต่างลงความเห็นตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า สภาพการณ์เศรษฐกิจในปี 2555 นี้ จะยังคงเป็นปีที่รับปัญหาเรื้อรังยืดเยื้อต่อมาจากปี 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป โดยมีปัจจัยหลักๆ อยู่ที่สถานการณ์ในยุโรปเป็นตัวแปรสำคัญ

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าปี 2555 นี้ น่าจะเป็นปีที่ท้าทายเอเชียแปซิฟิกพอสมควร

ทว่า สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) ระบุว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตของหนี้สาธารณะยุโรป และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในสหรัฐ แต่ภูมิภาคแห่งนี้ก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยกำลังการบริโภคภายในของ แต่ละประเทศ และด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอย่างจีน ที่เน้นหันหน้าเข้าหากันเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของแต่ละประเทศ ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันชั้นนำเห็นตรงกันว่า การเติบโตของเอเชียในปี 2555 นี้ จะชะลอตัวลง

สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคง พึ่งพิงการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐ จึงทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฟากตะวันตก

ทว่า สิ่งที่ควรระวังก็คือ การที่เศรษฐกิจในภูมิภาคสามารถเติบโตต่อไปได้อาจเป็นปัจจัยดึงดูดให้เงินทุน ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนต่างวิ่งหาแหล่งกำไรดีและปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้เอเชียแปซิฟิกอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของค่าเงิน จนเกิดฟองสบู่ขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่เมื่อพิจารณาเฉพาะหัวเรือใหญ่แห่งเอเชีย หรือก็คือประเทศจีน บรรดาธนาคารเพื่อการลงทุน นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ค่อนข้างมองเส้นทางอนาคตทางเศรษฐกิจของจีนไป ในทางลบ

โนมูระ อินเตอร์เนชันแนล ธนาคารเพื่อการลงทุนจากฮ่องกง ระบุว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ตัวเลขการเติบโตของจีนมีแนวโน้มร่วงหล่นไปอยู่ที่ 7.9% ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะอยู่ต่ำกว่า 8%

ความเห็นของโนมูระสอดคล้องกับ เซียะบิน ที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน ที่ออกมาเตือนเมื่อเดือน ธ.ค. ว่า การเติบโตของประเทศน่าจะเปลี่ยนจากเลขสองหลักให้เหลือเลขหลักเดียว และถึงเวลาจำเป็นที่จีนจะต้องใช้เครื่องมือที่มีขยายความต้องการบริโภคภายใน ประเทศ เพื่อทดแทนกับสถานการณ์ยากลำบากของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวก็คือ ความต้องการสินค้าในตลาดโลกจากฟากตะวันตก ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีนลดลง ขณะที่การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากเงินทุนไหลออก จนส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ ชะลอตัวลงตามไปด้วย

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มลดลง ส่งผลให้รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยควบคู่ไปกับการผ่อนคลายปริมาณเงินสำรองของธนาคารเพื่อให้ มีการลงทุน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 นี้

อย่างไรก็ตาม เจน อูลริช ประธาน เจ.พี. มอร์แกน เชส แอนด์ โค ประจำประเทศจีน ระบุ ว่า รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดปริมาณสำรองเงินฝากของ ธนาคารมากกว่าลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อในตลาดผู้บริโภค

สำหรับแนวโน้มการคาดการณ์เศรษฐกิจท้ายสุด ต้องยกให้กับมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกจากฟากตะวันตกอย่างสหรัฐ ที่ยังมีการขาดดุลงบประมาณของรัฐ เป็นปัญหาคาราคาซังต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เพราะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เดโมแครต และรีพับลิกัน ยังไม่สามารถหาข้อตกลงที่จะเอื้อประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่ายได้ลงตัว

เนื่องจากหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถรักษาผลประโยชน์ไว้ได้ ก็จะกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะ มีขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้

ทั้งนี้ การคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2555 ที่เผยแพร่ในซีเอ็นเอ็น มันนี่ ระบุว่า หากมองข้ามประเด็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดี รวมถึงมีการเติบโต แม้จะไม่หวือหวามากนักก็ตาม

ซีเอ็นเอ็น มันนี่ ชี้ว่า จีดีพีของสหรัฐในปีนี้จะโตขึ้นตลอดทั้งปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-2.4% ขณะที่ในไตรมาส 4 อาจมีสิทธิทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 3%

ปัจจัยแรกสุดที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสหรัฐกำลังเดินเข้าสู่ความสดใสก็คือ ตัวเลขการว่างงานที่เริ่มลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ จนทำให้เกิดการจ้างงาน

ขณะที่ปัจจัยต่อมาก็คือ ราคาน้ำมันในตลาดที่มีแนวโน้มลดลงมาต่ำกว่า 3 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันสำรองของโลกมีสูงกว่าความต้องการในตลาด

ส่วนปัจจัยที่ 3 ก็คือ ความต้องการบริโภคสินค้าของคนอเมริกันที่ยังคงมีอยู่ไม่หายไปไหน เพียงแต่ที่ผ่านมาจำเป็นต้องยับยั้งชั่งใจไว้เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน โดยยืนยันได้จากยอดจับจ่ายใช้สอยในช่วงแบล็กฟรายเดย์ หรือไซเบอร์มันเดย์ที่สูงทุบสถิติ

นักวิเคราะห์มองว่า หลังจากที่อัดอั้นมานาน ขณะนี้อเมริกันชนทั้งหลายต่างกระตือรือร้นที่จะซื้อรถคันใหม่ อุปกรณ์ใหม่ ปรับปรุงตกแต่งบ้านใหม่ หรือเดินทางท่องเที่ยวหรูๆ สักทริป

สำหรับปัจจัยประการสุดท้ายก็คือ ภาวะฟองสบู่ในตลาดสินเชื่อที่มีแนวโน้มจะบรรเทาลง อันเป็นผลมาจากราคาบ้านในตลาดสหรัฐที่เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของ ชาวอเมริกันน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จนส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือนโดยรวม ยิ่งเมื่อประกอบกับตัวเลขเงินออกที่สูงขึ้น น่าจะทำให้ภาระหนี้ชาวอเมริกันบรรเทาลง เห็นได้จากสัดส่วนรายได้ต่อหนี้ในปี 2554 ที่ลดลงเหลือ 11% จาก 14% ในปี 2550

ปัจจัยทั้งหมดล้วนบ่งชี้ไปให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2555 นี้ กำลังเติบโตเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กล่าวทั้งหมดอาจมีสิทธิพลิกผันได้ทุกเมื่อ ด้วยคำเพียงคำเดียวเท่านั้นก็คือ การเมือง ตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวลไว้ตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันในหมู่นักวิเคราะห์แล้วว่า หากบรรดาสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติในสภาคองเกรสไม่สามารถหาทางออกจากที่รอมชอม กันได้ เศรษฐกิจของสหรัฐมีสิทธิเจอแรงปะทะอย่างจังแบบทุกข์ 3 ชั้น คือ ต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น สวัสดิการช่วยเหลือสำหรับผู้ว่างงานลดน้อยลง และรัฐบาลตัดลดการใช้จ่าย

มาตรการทั้งหมดเมื่อนำมารวมกัน หรือแม้แต่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่แคล้วส่งให้จีดีพีของสหรัฐลดลงไป จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศอาจเผชิญหน้ากับภาวะชะงักงัน

กระนั้น แม้ว่าสหรัฐจะสามารถขจัดปัญหาที่นักวิเคราะห์กังวลออกไปได้ เช่นเดียวกับที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถสร้างกันชนรองรับแรงกระแทกจาก ปัญหาเศรษฐกิจที่เกริ่นมาทั้งหมด

แต่การคาดการณ์ทางบวกที่มีขึ้นอาจกลับตาลปัตรอีกครั้ง ด้วยน้ำมือของบรรดานักการเมืองในภูมิภาคยุโรป ซึ่งปีที่ผ่านมาต้องปั่นป่วนกับปัญหาหนี้สาธารณะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของ นักลงทุนจนเข้าขั้นวิกฤต

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า สภาพที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์อนาคตของอียูในปี 2555 นี้

และบอกได้คำเดียวว่า ยุโรปคือภูมิภาคเดียวที่จะต้องจับตาตามติด เพื่อวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเกิดขึ้นแทบจะเป็นแบบนาทีต่อนาที

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระจ่างชัดในความเห็นของนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็คือว่า ถ้ายุโรปต้องการให้นักลงทุนหันกลับมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลแต่ละประเทศใน ภูมิภาคอียู นำโดยประเทศเยอรมนี จำเป็นต้องเสริมอำนาจให้กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ให้มีบทบาทสำคัญในการสรรหาเงินช่วยเหลือยุโรป และออกกลไกมาตรการที่คล้ายคลึงกับ Troubled Asset Relief Program (TARP) หรือมาตรการกอบกู้วิกฤตการเงินสหรัฐ

มาตรการดังกล่าวก็คือการที่ภาครัฐรับซื้อทั้งพันธบัตรและหุ้น ซึ่งจะทำให้ภาคการเงินระดมเงินทุนได้ง่ายขึ้น และช่วยให้งบดุลของสถาบันการเงินปรับตัวดีขึ้น

ถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาความเสี่ยงล้มละลายของภาคการเงิน อันเนื่องมาจากสินทรัพย์ขาดสภาพคล่องอย่างยาวนาน

แน่นอนว่าเมื่อใดก็ตามที่ยุโรปทำให้ทั่วโลกเชื่อมั่นและมั่นใจได้ว่าหนี้ สาธารณะไม่ใช่ปัญหาน่าหนักใจหรือน่าหวาดหวั่นอีกต่อไป เศรษฐกิจของโลกย่อมเดินหายใจได้คล่องขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ถ้าไม่ ปี 2555 ก็คงเป็นอีกปีของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่จะต้องจดจำในฐานะปีแห่งความ อลหม่านของระบบการเงิน การล้มครืนของภาคธนาคาร และความตื่นตระหนกของโลก


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทั่วโลกเชื่อ เศรษฐกิจปี 2012 โตได้ช้าๆ ให้ระวังยุโรป

view