สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตหนี้รุม การเมืองกระหน่ำ ผลักเศรษฐกิจโลก 2012 จ่อปากเหว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

นอกจากปี 2555 จะเป็นปีที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องนั่งลุ้นกันตัวโก่งว่า วิกฤตหนี้สาธารณะของภูมิภาคยุโรป ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ของเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเป็นไปในทิศทางใด

ปีนี้ยังถือเป็นปีพิเศษที่ต้องลุ้นกันจนลืมหายใจไปอีกหนึ่งปีว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถรอดพ้นจากปากเหวไปได้หรือไม่

เพราะเมื่อพิจารณาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐแล้ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชั้นนำส่วนใหญ่ต่างอด คิดเห็นตรงกันไม่ได้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองเหล่านี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักให้ เศรษฐกิจโลกดิ่งเหวอย่างหนักอีกระลอก

สำหรับปัจจัยแรกสุดที่ดันเศรษฐกิจโลกจ่อปากเหวก็คือ ประเด็นปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า ทุกประเทศทั่วโลกล้วนแล้วแต่มีหนี้เป็นของตนเองทั้งสิ้น โดยเป็นหนี้ที่ทุกคนต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งก็คือ พันธบัตรรัฐบาล

ในปี 2555 นี้ จะเป็นปีที่บรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ไล่เรียงตั้งแต่สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี จีน ญี่ปุ่น บราซิล รัสเซีย และอินเดีย จะถึงกำหนดชำระหนี้ ซึ่งนับเป็นมูลค่ารวมกว่า 7.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 228 ล้านล้านบาท)

ต้องยอมรับว่าเมื่อมองสถานการณ์ของบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศในภูมิภาคยุโรปที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะ เศรษฐกิจชะลอตัวจนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และขาดดุลงบประมาณมหาศาล นักวิเคราะห์ก็อดที่จะปริวิตกไม่ได้ว่าประเทศเหล่านั้นจะมีเงินเพียงพอชำระ หนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศที่ประสบปัญหาเหล่านี้ น่าจะมีหนทางพอกล้อมแกล้มเอาตัวรอดไปได้ เช่น การใช้มาตรการยืดอายุพันธบัตรรัฐบาลออกไป

ส่วนอีกหลายๆ ประเทศที่จะถึงวาระชำระหนี้ก็ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เนื่องจากยังสามารถหาเงินเข้ากระเป๋าได้ดีอยู่ เห็นได้จากดุลบัญชีของประเทศที่เกินดุลมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ตรงปริมาณหนี้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด แต่อยู่ตรงที่ว่าประเทศเจ้าของหนี้นั้นๆ มีศักยภาพในการชำระหนี้หรือเปล่า

เรียกได้ว่าตราบใดที่มีปัญญาหาเงินมาใช้หนี้ ตราบนั้นก็ไม่เป็นปัญหาและไม่ลำบากที่จะก่อหนี้ เพราะนักลงทุนไว้วางใจที่จะหยิบยื่นเงินให้ โดยแลกกับค่าตอบแทนที่ไม่ต้องสูงมากแต่ปลอดภัย

ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์พอจะมองเห็นจากสถานการณ์โดยรวมในปี 2555 นี้ ก็คือว่าบรรดานานาประเทศล้วนตกที่นั่งลำบากในการชำระหนี้ หรือแม้แต่การก่อหนี้เพิ่มเติม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนสุดก็คือ ประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ ซึ่งตกอยู่ในสภาพหนี้ท่วมหัว ไม่ต่างไปจากประเทศในภูมิภาคยุโรป

เพียงแต่สหรัฐยังโชคดีกว่ายุโรปตรงที่ว่า นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในสถานภาพความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จึงทำให้พอจะประคับประคองเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นกลับมาได้

ผิดกับยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มยูโรโซนที่วิกฤตหนี้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นของนัก ลงทุน จนไม่มีใครกล้าสวมบทอัศวินขี่ม้าขาวให้กับกลุ่มยูโรโซน จนรัฐบาลหลายประเทศต้องรัดเข็มขัด และกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจประเทศให้แย่ลงไปอีก

ทั้งนี้ สำหรับสหรัฐ ประเทศที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ด้วยกำลังการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก นักวิเคราะห์มองว่า ปี 2555 น่าจะเป็นปีที่สหรัฐต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากพอสมควร

เพราะมีแนวโน้มว่าตัวเลขการว่างงานในสหรัฐน่าจะเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐต้องนำเงินไปชดเชยให้กับผู้ว่างงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือนายทหารกว่าแสนนายที่กลับมาจากการประจำการรบในอิรักและ อัฟกานิสถาน

เพียงแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว ก็เพียงพอให้สหรัฐตระหนักดีว่าลำพังแค่เอาตัวให้รอดจากปัญหาหนี้ที่พุ่งเกิน เพดานที่กำหนดของตัวเองก็เต็มกลืนแล้ว ทำไมจะต้องหาเรื่องใส่ตัวด้วยการเอาปัญหาคนอื่นมาแบกใส่บ่าให้หนักเข้าไปอีก

หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คือว่า สหรัฐไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วยใครได้อีกต่อไป นอกจากช่วยตัวเอง

ขณะเดียวกัน สถานภาพของจีนในปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างจากสหรัฐเท่าไรนัก ด้วยปริมาณหนี้มหาศาลของรัฐบาลท้องถิ่นจีน ทำให้หลายฝ่ายอดกังวลไม่ได้ว่า จีนจะต้องตามแก้ปัญหาหนี้เน่าของตนเองจนเศรษฐกิจสะดุด

ทั้งนี้ การที่แต่ละประเทศคิดแต่จะช่วยตนเอง ส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจโลกในภาพรวมหนักกว่าเก่า เพราะต่างฝ่ายต่างรักษาผลประโยชน์ของตนเองไม่ยอมถอย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจโลกร่วงลงก้นเหวได้อย่างง่ายดายก็คือ เสถียรภาพทางการเมืองในหลายประเทศ ที่ต้องยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจได้ทำให้การเมืองของแต่ละประเทศสั่นคลอน มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลด้วยกันเอง รัฐบาลกับเอกชน และรัฐบาลกับประชาชน จนนำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังก็ทำไม่ได้

สำหรับการเมืองโลกในปี 2555 ต้องถือว่ามีแนวโน้มจะตกอยู่ในภาวะอึมครึม ไม่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี โดยมีเหตุผลสำคัญจากการที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศ เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย และฝรั่งเศส ถึงคราวผลัดเปลี่ยนผู้นำ

แน่นอนว่า ในช่วงระหว่างก่อนที่การเลือกตั้งจะรู้ผลเด็ดขาด ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่อาจเดินหน้าดำเนินนโยบายใดๆ ได้ นอกจากทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการหาเสียงเพื่อชัยชนะ

สถานการณ์ดังกล่าวคือภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่บรรดานักการเมืองทำอะไร ไม่ได้จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น เพราะขืนลงมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ก็เสี่ยงที่จะสูญคะแนนนิยม และแพ้การเลือกตั้งได้โดยง่าย

เท่ากับว่าความไม่ชัดเจนในนโยบาย หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ชะลอหนักมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย

เรียกได้ว่าวิกฤตหนี้และการไร้เสถียรภาพทางการเมืองของแต่ละประเทศ ส่งผลให้รูปการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจปีนี้อันตรายหมิ่นเหม่อยู่ริมปากเหว

เพราะต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้เนื่อง จากการค้าขายที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ระบบค้าขายโดยรวมทั้งหมดก็ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น

ปัญหาสำคัญต่อจากนี้ก็คือ ทุกประเทศทั่วโลกจะพร้อมใจผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ออกจากปากเหวอย่างไร โดยที่ตนเองและเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมจะไม่บอบช้ำจนเกินไป

เป็นคำตอบที่แต่ละประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันหา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : วิกฤตหนี้รุม การเมืองกระหน่ำ เศรษฐกิจโลก 2012 จ่อปากเหว

view