สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลสำรวจฯ แฉโกงกินทะลุ 2 แสนล. หน่วยงานสุดห่วย ตร.-การเมือง ตัวงาบ

ผลสำรวจฯ แฉโกงกินทะลุ 2 แสนล. หน่วยงานสุดห่วย ตร.-การเมือง ตัวงาบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เผยผลสำรวจคอร์รัปชันไทยเดือนธ.ค.54 ดีขึ้นจากเดือนมิ.ย.54 แต่ยังถือว่ารุนแรง ระบุเอกชนยังต้องจ่ายใต้โต๊ะสูงถึง 25-30% หรือกว่า 2 แสนล้านบาท ของงบรายจ่าย เผยอีก 5-10 ปีข้างหน้า เงินโกงอาจทะลุ 1 ล้านล้าน แฉหน่วยงานภาพลักษณ์สุดแย่ มีทั้งตำรวจ นักการเมือง กรมศุลกากร สรรพากร ภาคีเครือข่ายต้านคอร์รปชัน เล็งหามาตรการกดดันรัฐเอาผิดคนโกง
       
       นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยเดือนธ.ค.2554 ที่สำรวจจากประชาชน ผู้ประกอบการ และข้าราชการ ภาครัฐทั่วประเทศ 2,400 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนธ.ค.2554-ม.ค.2555 โดยมีคะแนน 0-10 คะแนน (0 คะแนน คือ มีการคอร์รัปชันมากที่สุด และ 10 คะแนน คือ ไม่มีการคอร์รัปชัน) ว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ 3.6 คะแนน จาก 3.3 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนมิ.ย.2554 ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันอยู่ที่ 3.3 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.1 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันอยู่ที่ 3.9 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.8
       
       “ดัชนีสถานการณ์การคอรัปชั่นแม้จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังอยู่ในระดับการคอร์รัปชันที่รุนแรงอยู่ ซึ่งส่วนที่ทำให้ดัชนีคอร์รัปชั่นไม่รุนแรงขึ้น เพราะการมีส่วนร่วมและตระหนักถึงปัญหาในหลายภาคส่วน ทำให้การคอร์รัปชั่นเป็นที่จับตามองมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์เบาบางลงบ้าง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหา และปลุกจิตสำนึกให้รู้ความรุนแรงของปัญหา และแนวทางการแก้ไข” นางเสาวณีย์กล่าว
       
       นางเสาวณีย์กล่าวว่า เมื่อถามถึงการจ่ายเงินพิเศษให้หน่วยงานภาครัฐ และนักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญาการทำงานผู้ตอบ 82.1% ระบุเคยจ่าย ส่วน 7.5% ระบุไม่ทราบ และอีก 5.5% ระบุไม่จ่าย โดยกลุ่มที่จ่ายเงินพิเศษ ส่วนใหญ่จ่ายมากกว่า 25% ของรายรับ รองลงมาจ่ายที่ 16-25% ของรายรับ ทั้งนี้ ประเมินว่า เงินที่จ่ายพิเศษ 25-30% ของมูลค่างาน คิดเป็นวงเงิน 172,920-227,616 ล้านบาท ของวงเงินงบลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมกับค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ในปีงบ 2554 ที่ 758,720 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.35-11% ต่องบประมาณรายจ่ายปี 2554 ที่ 2.07 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 1.62-2.13% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของปี 2554 ที่ 10.66 ล้านล้านบาท
       
       กิจกรรมที่มีโอกาสเกิดคอร์รัปชันมากที่สุด คือ ซ่อมและสร้างถนน สะพาน รองลงมา คือ การซื้ออุปกรณ์ของภาครัฐ การจ่ายเงินชดเชยช่วยน้ำท่วม การชดเชยพันธุ์พืช สัตว์ การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ภาพลักษณ์ในการคอร์รัปชันมากที่สุด พบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รองลงมา คือ นักการเมือง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน เป็นต้น ส่วนเมื่อถามถึงความถี่ที่ผู้ตอบมีส่วนจ่ายเงินพิเศษให้นั้น พบว่า เป็นตำรวจ ที่ประชาชนต้องจ่ายให้มากที่สุด
       
       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเป็นปีละ 3 ล้านล้านบาท และยังมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะอีก 25-30% จะทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเป็น 170,000-220,000 ล้าน หรือคิดเป็น 1.5-2.05 ต่อจีดีพี และหากยังมีการคอร์รัปชันต่อเนื่องในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเกิดความเสียหายจากการคอร์รัปชันสูงถึง 800,000-1 ล้านล้านบาทได้ โดยในปี 2554 ไทยอยู่ในอันดับ 4 ของประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยที่สุดในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนในเอเชีย ไทยอยู่ในอันดับ 11 ของประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุดจาก 26 ประเทศ
       
       นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น กล่าวว่า สาเหตุที่ภาคเอกชนยังมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับนักการเมือง และหน่วยงานภาครัฐ เพราะต้องการให้ได้สัญญาการทำงาน หากไม่จ่ายก็จะไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ภาคีฯ กำลังหารือกันว่า จะมีวิธีการใดที่จะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ หรือกฎหมายของราชการ เพื่อให้ได้งานโดยไม่ต้องจ่ายสินบน และอาจกดดันให้ภาครัฐจัดการกับคนที่ทุจริตด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ร้องเรียนเรื่องการคอร์รัปชันเข้ามายังภาคีฯ จำนวนมาก ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนและมีเอกสารหลักฐานประกอบชัดเจน รวมถึงผู้ร้องยินยอมเป็นพยานให้ ภาคีฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบแล้ว และอยู่ระหว่างการทำเรื่องเพื่อสอบถามความคืบหน้าของการพิจารณา


โพลหอค้าชี้ปัญหาใต้โต๊ะไทยแรง จี้รัฐเร่งเคลียร์หวั่นสูญล้านล. ภาพ "ตร.-นักการเมือง" มาวิน

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โพลหอการ ค้าชี้ปัญหาคอร์รัปชั่นแย่ลง ตำรวจ-นักการเมืองŽ ภาพลบจ่ายใต้โต๊ะ จี้รัฐเร่งแก้ หวั่นสูญรายได้นับล้านล้าน คนไทยตื่นตัวต้านทุจริต พร้อมแจ้งเบาะแส ด้านเครือข่ายเอกชนแจ้ง ป.ป.ช.แล้ว 15 เรื่อง มูลค่าพันล้าน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย จากผู้ประกอบการเอกชน ข้าราชการ และประชาชน ทั่วประเทศ 2,400 ราย ระหว่างเดือนธันวาคม 2554-มกราคม 2555 พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Thai CSI) เดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ 3.6 จากเดือนมิถุนายน 2554 อยู่ที่ 3.4 และเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 3.5 ซึ่งหมายถึงประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับรุนแรง และสถานการณ์แย่ลง

 

นางเสาวณีย์กล่าวว่า กลุ่มสำรวจส่วนใหญ่ 74% เห็นว่าการทุจริตใกล้ตัวและควรเข้าไปร่วมดูแล โดยเห็นด้วยต่อการเลิกการจ่ายสินบนหรือเงินพิเศษ และจะให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสปัญหาการทุจริตมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ เชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการทำงานในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ของสำนักงานป„องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในระดับปานกลาง แต่เชื่อมั่นในภาคเอกชนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ 81% ยินดีในการมีส่วนร่วม  

 

นางเสาวณีย์กล่าวว่า กลุ่มสำรวจระบุว่า กิจกรรมที่มีโอกาสเกิดคอร์รัปชั่นมากที่สุดคือ ซ่อมและสร้างถนน/สะพาน รองลงมาคือ การซื้ออุปกรณ์ของภาครัฐ การจ่ายเงินชดเชยช่วยน้ำท่วม การชดเชยพันธุ์พืช/สัตว์ การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่มีภาพลักษณ์ในการคอร์รัปชั่นมากที่สุด พบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รองลงมาคือ นักการเมือง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน เป็นต้น

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการทำธุรกิจกับภาครัฐ 82.1% ระบุว่ายังต้องจ่ายเงินพิเศษแก่ข้าราชการและนักการเมือง เพื่อให้ได้สัญญา หากประเมินมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่นจากงบประมาณและงบลงทุนภาครัฐต่อปี 2-3 ล้านล้านบาท  และถูกทุจริต 25-30% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1.8-2 แสนล้านบาท หรือ 1.6-2.1% ของจีดีพี หรือเป็นมูลค่าต่อปี 10.67 ล้านบาท และหากไม่สามารถลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ภายใน 5-10 ปี รัฐจะสูญเสีย 8 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท

 

นายธนวรรธน์กล่าวว่า หากทุกฝ่ายเห็นความสำคัญต่อการลดปัญหาทุจริตและเห็นว่าดัชนีด้านกระแสลดการ คอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัวมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่ภายใน 3 ปี ความเชื่อถือต่อการปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่นจะเพิ่มเป็น 4.6 จากปัจจุบัน 3.6 และขึ้นมาเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นดีสุดในอาเซียน เป็นอันดับ 2 แซงหน้าประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย จากปัจจุบันเป็นอันดับ 4 ขณะที่อันดับแรกคือสิงคโปร์

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคเอกชน กล่าวว่า กำลังขอให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลและความคืบหน้าการร้องเรียนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ ร้องเรียนผ่านภาคเอกชน เพื่อสร้างความเกรงกลัวและเป็นตัวอย่างให้เกิดการลดการทุจริต ซึ่งขณะนี้มีผู้ร้องเรียนถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ามามาก และมีการส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.แล้ว 15 เรื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท ต่อจากนี้เครือข่ายจะเร่งเพิ่มปริมาณเครือข่ายเฝ้าระวังและให้เบาะแสในส่วน ภูมิภาค และผลักดันบังคับใช้กฎหมายที่ให้ผู้ประมูลงานรัฐต้องเปิดเผยบัญชีรายรับราย จ่าย และเปิดเผยราคากลางของสัญญา

 

(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2555)


โพลล์ชี้ปัญหาคอรัปชั่นในไทยอยู่ในขั้นรุนแรง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ผลสำรวจฯ แฉโกงกิน ทะลุ 2 แสนล. หน่วยงานสุดห่วย ตร.-การเมือง ตัวงาบ

view