สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตยุโรปส่อแววฉุดโลกดิ่ง IMF เตือนเร่งปรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

จากเค้าลางหายนะที่ยังมีแนวโน้มไม่ชัดเจน มาวันนี้สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อและไร้ทางออก ทำให้ความเลวร้ายที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ ได้รับการยกระดับไปเป็นเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มจะเป็นไปได้และเกิดขึ้นได้มาก ที่สุดในปีนี้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือน่าประหลาดใจเลยสักนิด ที่บรรดาสถาบันการเงินชั้นนำของโลก เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะพร้อมใจเดินหน้าออกมาประกาศปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ประจำปี 2555 อย่างทั่วหน้า

หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายว่า บรรดานักลงทุนทั่วโลกเริ่มจะมีภูมิต้านทานรับมือกับข่าวช็อกหรือเรื่องตื่นตะลึงได้บ้างแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารโลกเพิ่งจะปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2555 ลงเหลือ 2.5% ขณะที่คล้อยหลังไม่ถึงสัปดาห์ ไอเอ็มเอฟก็ตามมาติดๆ โดยปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือเพียง 3.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4% เมื่อเดือน ก.ย. 2554

แน่นอนว่า เหตุผลที่ทั้งสองสถาบันชั้นนำยกมาอธิบายการปรับลดในครั้งนี้ ไม่มีอะไรใหม่นอกเหนือไปจากการระบุแบบตรงไปตรงมาว่า มาตรการที่สหภาพยุโรป (อียู) นำมาใช้จัดการวิกฤตหนี้สาธารณะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรเลย แถมยังทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเหือดหายลงไปเรื่อยๆ เพราะวิธีการแก้ไขเฉพาะหน้า ประเภทบีบเจ้าหนี้ให้ยอมลดปริมาณหนี้ จนทำให้ระบบการเงินการธนาคารของภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนแอลง เนื่องจากธนาคารไม่สามารถระดมทุนได้จากตลาดจนดันต้นทุนการกู้ยืมให้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามความ คาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์หลายฝ่าย แต่ขณะเดียวกัน เรื่องที่คาดเดาได้นี้ก็เปรียบเสมือนสัญญาณกระตุ้นเตือนให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักชัดว่า เวลาเตรียมการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกเหลือน้อยลงทุกที พร้อมกับที่ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆ ประการ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ ล้วนอยู่ในสภาพอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ทรุดโทรม

ทั้งนี้ ตามการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับธนาคารโลก หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค เศรษฐกิจของยุโรปจะชะลอตัวลงอีก 0.5% จากตัวเลขเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ 1.1% แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาคอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ จะยังคงเติบโตต่อไปได้ แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ช้าลงจนเห็นได้ชัด คือ อยู่ที่ 0.2% 0.3% และ 0.6% ตามลำดับ

ขณะที่ทางด้านประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการจับตา มองจากนักลงทุนในฐานะความหวังของการฟื้นฟูสภาวะซบเซาของเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้น เพราะยุโรปถือเป็นพันธมิตรทางการค้าการลงทุนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ เศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ โดยปรับลดลงจากเดิม 6.2% มาอยู่ที่ 5.4% ซึ่งยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคอย่างจีนชะลอตัวลงเหลือ 8.2% จากเดิมอยู่ที่ 9%

เรียกได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2555 ยาวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2556 ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ กำลังผลักดันให้โลกก้าวเข้าสู่เขตแดนอันตรายที่ไร้เสถียรภาพ ที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อย่างไอเอ็มเอฟไม่กล้าที่จะคาดการณ์ แบบฟันธง

แน่นอนว่า หากมัวแต่รีรอคิดแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือไม่คิดเตรียมหามาตรการมาป้องกันตัวเองไว้เสียแต่เนิ่นๆ ตามที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเคาะระฆังเตือนกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าประเทศไหนๆ แม้จะไม่ถึงขั้นล่มจม ก็มีสิทธิสะดุดล้มหน้าคะมำได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้บอกใบ้อย่างชัดเจนพร้อมรายงานการปรับลดการคาดการณ์ครั้งนี้ไว้ แล้วว่า การแก้ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนักในปัจจุบัน อันมีสาเหตุสำคัญมาจากหนี้สาธารณะในยุโรป ไม่ควรหวังพึ่งพานโยบายการคลังที่เข้มงวด และมาตรการรัดเข็มขัดแต่เพียงอย่างเดียว

เนื่องจากการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความเคลื่อนไหวและมีการเติบโตก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ตะบี้ตะบันละลายงบประมาณประเทศ หรือหลับหูหลับตากู้มาใช้โดยไม่บันยะบันยัง

เพราะการกระทำดังกล่าวก็ไม่แตกต่างไปจากการตัดหนทางดับอนาคตการเติบโตประเทศด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องมีอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถฟื้นจาก วิกฤตในขณะนี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็คือนโยบายชัดเจนทางการเงินที่สามารถเสริมสภาพคล่องได้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการหาสมดุลระหว่างการกระตุ้นการใช้จ่ายกับการสำรองเงินทุน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : วิกฤตยุโรป ส่อแววฉุดโลกดิ่ง IMF เตือนเร่งปรับ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

view