สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนขายหุ้นปตท.!เปิดทางการเมืองครอบงำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เตือนแนวคิดขายหุ้นปตท.ให้"วายุภักษ์" เปิดทางนักการเมืองครอบงำ!
รัฐบาลมีนโยบายลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ถืออยู่ 51% ด้วยการขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์ในสัดส่วน 2% และหุ้นของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการลดหนี้สาธารณะ ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แม้การขายหุ้นจะชะลอออกไป แต่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจะทำให้ต้องพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

"สิ่งที่เป็นห่วงเมื่อมีการขายหุ้นของกระทรวงการคลัง แล้วทำให้ ปตท.ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ประเด็น ข้อสำคัญ คือ ทำไปเพื่ออะไรมากกว่า"เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งข้อสังเกต

เธอ บอกว่าหากให้วิเคราะห์แล้ว การขายหุ้นเพื่อลดสัดส่วนหนี้สาธารณะเป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อทำให้สังคมไม่ต่อต้านเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตนเองเท่านั้นที่มองอย่างนี้ ประชาชนจำนวนหนึ่งก็ไม่เชื่อเช่นเดียวกัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องชะลอความคิดนี้ออกไป

สำหรับประเด็นที่แท้จริงนั้น เธอเห็นว่ามีความต้องการให้ ปตท.หลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจมากกว่า เพราะจะช่วยให้ ปตท.รอดจากการกำกับดูแลจากรัฐ ซึ่งจะเอื้อให้สามารถตักตวงประโยชน์จากธุรกิจที่ผูกขาดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เธอยืนยันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ว่า ปตท.เป็นเอกชนไม่ได้ เพราะ ปตท.ยังผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งการซื้อและขาย รวมถึงจัดส่งก๊าซแต่เพียงรายเดียว และยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักในโรงกลั่นน้ำมันถึง 5 แห่ง และโรงแยกก๊าซทั้งหมด 6 แห่ง รวมถึงท่อส่งก๊าซที่ ปตท.ยังเป็นเจ้าของบางส่วน รวมถึงสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งการผูกขาดแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแข่งขันลำบากแม้กฎหมายจะเปิดทางก็ตาม

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ เธอ ติงว่าความจริงแล้วต้องโทษคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ตลอดการทำงาน 4 ปีขององค์กรนี้กลับเพิกเฉย โดยไม่ได้ออกหลักเกณฑ์รองรับ เพื่อลดการผูกขาดในกิจการก๊าซของ ปตท. ทั้งที่มีหน้าที่โดยตรง

ส่วนกรณีที่ผู้บริหาร ปตท.มักกล่าวว่า การที่ ปตท.จะมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนก็แทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะปัจจุบันบริหารธุรกิจแบบเอกชนอยู่แล้ว เธออธิบายในเรื่องนี้ว่าความเป็นรัฐวิสาหกิจมีความไม่สะดวกในเรื่องการขออนุมัติโครงการลงทุน ที่ต้องผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ครม. ซึ่งทำให้เกิดการกลั่นกรองและตรวจสอบโครงการลงทุนต่างๆ อย่างรอบด้าน แต่หากมีสถานะเป็นเอกชนก็ตัดขั้นตอนนี้ออกไปได้เลย

เธอย้ำว่า "นี่ล่ะคือข้อดีที่ฝ่ายเสนอให้ขายหุ้น ปตท.ต้องการ"
 

ส่วนข้อดีที่มีการหยิบยกว่า การเป็นเอกชนจะทำให้ ปตท.เข้าสู่การกำกับดูแลโดย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 จากปัจจุบันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมาช่วยควบคุมพฤติกรรมผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด

เธอให้คำตอบว่า ต้องยอมรับความจริงว่า หลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับมาแล้วกว่า 13 ปี ยังไม่เคยใช้บังคับได้จริง แม้แต่เกี่ยวข้องกับกิจการเล็กๆ ยังบังคับใช้ไม่ได้ แล้วกิจการขนาดใหญ่อย่างกิจการก๊าซจะบังคับได้อย่างไร

เดือนเด่น สรุปความในตอนท้ายว่า การที่หลายคนมองว่า ปตท.ยังต้องมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะการมีกิจการที่ผูกขาดในมือนั่นเอง แต่หากมั่นใจว่าการเป็นเอกชนจะส่งผลดีต่อการบริหารงานและการเติบโตของ ปตท. ก็ต้องให้ ปตท.เป็นเอกชนเต็มตัว 100% โดยรัฐขายหุ้นออกไปทั้งหมด

"หากเห็นว่าการบริหารธุรกิจแบบเป็นเอกชนคล่องตัวกว่า ก็ต้องขายหุ้น ปตท.ออกไปทั้งหมด เพื่อให้เป็นเอกชนเต็มตัว และสลายการผูกขาดออกไป เพื่อตัดการครอบงำโดยการเมืองถึงจะเป็นแนวทางที่โปร่งใสอย่างแท้จริง"

แนวคิดนี้คงเป็นเรื่องยาก เธอ บอกว่า ก็เพราะแท้จริงแล้วความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องการ คือ ปลดสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของ ปตท.ออกไปเท่านั้น แต่ยังคงให้รัฐถือหุ้นใหญ่ต่อไป เพื่อให้การเมืองยังสามารถครอบงำได้ผ่านการกำกับดูแล และโครงสร้างการบริหารจัดการในคณะกรรมการบริหารของบริษัท

"จะไปเทียบ ปตท.กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เลย เพราะการบินไทยต้องการความคล่องตัว เนื่องจากธุรกิจการบินมีการแข่งขันอย่างเต็มที่แล้ว ขณะที่กิจการก๊าซยังผูกขาด ดังนั้น เมื่อเป็นธุรกิจที่ผูกขาดยังไงก็ต้องอยู่ในกรอบการบริหารโดยรัฐไม่ใช่เอกชน" เธอกล่าว

เธอเสนอในตอนท้ายว่าเมื่อรัฐยังถือหุ้นใหญ่ต่อไปใน ปตท.อยู่ รัฐต้องพยายามทำให้การบริหารงานโปร่งใส และต้องยึดภารกิจเพื่อสังคมต่อไป แม้ว่าจะไม่อยากทำ เช่น การเป็นกลไกในการตรึงราคาพลังงาน เป็นต้น และต้องไม่ปล่อยให้มีการขยายการผูกขาดผ่านบริษัทลูกอย่างในปัจจุบัน!!!!!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เตือนขายหุ้นปตท. เปิดทางการเมืองครอบงำ

view