สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสริมพลัง สร้าง Engagement

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจองค์กรและมนุษย์เงินเดือนในสหรัฐอเมริกา เรื่อง ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร
หรือ Employee Engagement Survey โดย Gallup องค์กรดังด้านการวิจัยเรื่องการบริหารจัดการ ระบุว่า คนทำงานในสหรัฐอเมริกา มิได้รู้สึกผูกพันกับงานของตนถึง 71%!

 ในบ้านเราอาจยังไม่มีการทำวิจัยภาพรวมลักษณะนี้ แต่คงอนุมานได้ว่า คนทำงานจำนวนไม่น้อย คงเห็นคล้อยตามว่า งานคือหน้าที่ หรือก็ชอบงานประมาณหนึ่ง จะให้ถึงกับลุกขึ้นมาบอกว่าผูกพันหรือรัก คิดหนักเหมือนกัน

 คนทำงานที่รู้สึก Disengage หรือไม่รักไม่ผูกพันกับงาน มีอาการเช่นไร

 - ทำให้มันเสร็จๆ จะได้กลับบ้าน

 - งานคือภาระ เกิดมาก็ต้องทำงาน ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่อ้อนแต่ออก มีงานก็ทำไป ไม่ได้บ่นอะไร..แล้วจะเอายังไงกับฉันอีก!

 - มาทำงานเพราะผลตอบแทน ใครให้ได้มากกว่า ก็พร้อมหอบผ้าหอบผ่อนร่อนไปเรื่อย

 - มาทำงานอย่างซึมซังกะตาย เพราะยังหาที่ใหม่ที่ใกล้บ้านกว่าไม่ได้

 - ออกจากรั้วที่ทำงาน ต้องรีบถอดป้ายชื่อ เพราะกลัวเสียชื่อว่าทำงานองค์กรนี้

 - ได้ยินใครนินทาว่าร้ายองค์กร ก็รู้สึกเฉยเมย หากเป็นคนคุ้นเคย จะร่วมสมทบ พร้อมยกตัวอย่างให้กระจ่างขึ้น

 หากพนักงานอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ คงพอบ่งชี้ได้ว่าผลงานจะออกมาเช่นไร

 หากเราเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นหัวหน้างาน ก็คงส่ายหน้าด้วยความเอือมระอา ว่าคนเหล่านี้ช่างทำตนน่าเบื่อหน่าย ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม!

 หากเราเป็นพนักงานที่อยู่ในช่วงหมดมุก หมดความสุขในที่ทำงาน ก็คงบอกว่า จะให้สำนึกในพระคุณกระไรหนักหนา และย้ำต่อว่า เราเป็นผู้ถูกกระทำ!

 จากผลการสำรวจเพิ่มเติมล่าสุดของสมาคมจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกา หรือ American Psychological Association ชี้ว่าคนทำงานจำนวนไม่น้อย (36%) ไม่ผูกพันกับงาน เพราะรู้สึกกดดันและเครียด โดยให้สาเหตุสำคัญว่ามาจากผลตอบแทนที่เห็นว่าต่ำเตี้ย

 หากเราเป็นหัวหน้างานเหมือนอีกหลายพันหลายหมื่นท่าน ที่มิอาจเนรมิตเงินมาโปรยหว่านในที่ทำงานได้ (ทั้งหัวหน้าก็เห็นพ้องว่ารายได้ของฉันก็ต่ำต้อย ไม่ได้อึดอัดน้อยไปกว่าใคร) จะมีทางใดหนอ ที่พอจะทุเลา ช่วยแก้ปัญหาคนไม่รักงานที่แสนเก่าแก่ แก้ไม่ตกเช่นนี้ได้

 ทีมจิตวิทยาบอกว่า พอมีครับ

 ผลการวิจัยของเขาเล่าต่อว่า คนที่ไม่ได้รู้สึกรักใคร่ไยดีกับงานของตนเท่าไรนัก เกิดจากหลายสาเหตุนอกเหนือจากเรื่องผลตอบแทน

 อาทิ 43% เห็นว่าเขาขาดโอกาสก้าวหน้า 43% เช่นกัน บอกว่างานหนักเหลือเกิน 40% เติมว่าต้องทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 และที่โดดเด่นและน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ 48% ของคนที่ไม่ผูกพัน ยืนยันว่า หัวหน้าไม่เห็นคุณค่าของเรา!

 อ๊ะๆ..ท่านที่เป็นหัวหน้า กรุณาอย่าเพิ่งชี้แจง (ลูกน้องใช้คำว่า แก้ตัว) ว่า อะไรนะ! รู้สึกเช่นนี้ได้อย่างไร ไม่เข้าท่า ถ้าไม่เห็นคุณค่า (อยู่บ้าง) คงไม่ได้มานั่งตอบแบบสอบถามให้ระคายเคือง เปลืองอารมณ์เช่นนี้

 มุมมองของลูกน้อง อาจต่างไปจากของเรา เพราะเขามองจากมุมเขา จึงเห็นคนละประเด็นเดียวกัน เฉกเช่นเรา ที่บางคราวก็ไม่เห็นต้องตรงกันกับหัวหน้าของเรา ฉันใดฉันนั้น ไม่ได้ต่างกันเลย

 นอกจากนั้น ทีมงานของ Dr. Teresa Amabile แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ได้นำประเด็นเหล่านี้ไปวิจัยวิเคราะห์เจาะต่ออยู่นานหลายปี เพื่อศึกษาเรื่องปัจจัยที่ทำให้คนผูกพันกับงาน

 ผลการวิจัยมีข่าวดี สำหรับผู้ที่อยากได้ผลงานผ่านทีมงานที่รู้สึกดีๆ กับงานที่เขาทำ เพราะความรู้สึกดีเช่นนี้ สร้างได้ หรือจะทำให้ฝ่อฟีบไปแบบไม่ได้ผุดได้เกิด ก็ทำได้ ไม่ยาก

 เพราะความรู้สึกดีๆ นี้ ผูกกับความรู้สึกว่า งานที่เขาทำทุกวัน มีผลลัพธ์ และก้าวขยับไปข้างหน้า ที่ฝรั่งเรียกว่า Progress

 ในทางตรงกันข้าม เราจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไร้คุณภาพ หงุดหงิดจิตตก เมื่องานไม่เดิน  ทำเท่าไหร่ ก็ไม่คืบ ไม่กระดืบไปไหน วกไปวนมา หาที่จบไม่ได้ เหมือนวิ่งในเขาวงกต ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะ งานยากเกินไป ไม่มีใครใส่ใจ ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือมีคนเข้ามาวุ่นวาย แวะเวียนขอเปลี่ยนเป้า คำสั่งใดๆ จึงคล้ายๆ สั่งขี้มูก

 คนทำงานจำนวนไม่น้อย จึงทำงานแบบหงอยๆ และปลงว่า ทำได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว แต่จะให้ลุกขึ้นมาทำท่าดีใจๆ...ก็คงทำได้ แต่ทำแบบไม่จริงใจ ..หรืออยากได้แค่นั้นครับ

 ทีมงานมหาวิทยาลัย Harvard ลุยวิเคราะห์ต่อเรื่องพฤติกรรมของหัวหน้า ที่สามารถทำให้ลูกทีมกระดี๊กระด๊า ผูกพัน มีพลัง คลั่งไคล้ในงาน ทำเท่าไรไม่เบื่อ ไม่ท้อแท้แม้จะยากเย็น

 เขาทำอย่างไร จึงได้ลูกทีมเช่นนี้

 พฤติกรรมของหัวหน้าเหล่านี้มีหลากหลาย แบ่งสรุปได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ Catalysts หรือ ผู้จุดประกายให้ความกระจ่าง และ Nourishers ผู้หล่อเลี้ยงให้ความหวังและกำลังใจ

 สัปดาห์หน้า เรามาคุยต่อกันว่าพฤติกรรม 2 ประเภทนี้เป็นเช่นไร จึงจะเห็นได้ว่าทำไม่ยาก...ถ้าอยากทำค่ะ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เสริมพลัง สร้าง Engagement

view