สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กล้านรงค์ สะท้อนมุมมืดข้าราชการคอรัปชั่น เปรียบทฤษฎีเหรียญ2หน้า อัด สำนักโพลล์ ตั้งคำถามชี้นำปชช.

จาก มติชนออนไลน์

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา "กล้านรงค์ จันทิก" กรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ 1 ใน 5  สุดยอดซีอีโอของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554 ของเอแบคโพลล์ เปิดห้องทำงานที่สำนักงาน ป.ป.ช.  ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ให้ "มติชนออนไลน์" ไปนั่งสนทนาอย่างเป็นกันเอง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีของ "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" อดีตปลัดคมนาคม หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง (คลิก)

โดยเฉพาะ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ตอนหนึ่ง "กล้านรงค์" กล่าวถึงความจริงจังในการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลว่า ถ้าเราจะดูรัฐบาลเราต้องดูองค์กรของรัฐบาล นั่นก็คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่าทำงานแค่ไหน อย่างไร แต่ภาพที่เห็นตอนนี้คือภาพการตื่นตัวของนักธุรกิจ มีนักธุรกิจหลายคนที่ได้ประสานมาว่าจะป้องกันการคอร์รัปชั่นอย่างไร

"ผมคิดว่าถ้าเราสร้างความตื่นตัวของนักธุรกิจ และประชาชนขึ้นมาได้ ปัญหาก็จะลดลง คือสังคมคอร์รัปชั่นมีมานานและมีมาตลอด แต่ที่สมัยก่อนไม่แพร่กระจายเพราะสังคมไม่เอาด้วย ถูกประณาม ทำให้คนอื่นไม่กล้าทำตาม ผมว่าคนไทยไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องด่า หรือขับไล่ แค่เรายืนซื้อของแล้วแหวกทางให้คนที่คอร์รัปชั่น หรือแค่ถอยออกมา พอเขาซื้อเสร็จ เราก็เข้าไปใหม่ เหมือนเราเห็นขอทานหรือคนเป็นโรคแล้วเราเดินหนี หากแสดงอาการอย่างนี้ ทำให้เขารู้สึกว่าการคอร์รัปชั่นน่ารังเกียจก็พอ แต่ปัจจุบันเราไม่หนี เราต้องสร้างกระบวนการกดดันทางสังคม" กล้านรงค์ สะท้อนมุมมอง

เมื่อมองว่า การแหวกทางก็ไม่ง่ายเพราะภาพทับซ้อนนั้น ผมก็จะบอกว่า เมื่อคนที่สีดำชัดเจนถูกกดดัน คนที่สีเทาก็จะรู้สึกได้ แต่ปัญหาคือคนไม่กดดัน แม้เขาจะดำสนิท ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำแบบเอาจริงเอาจัง ต้องเกิดตรงนี้ก่อน ผมทำงานร่วมกับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินตลก เขาต้องแทรกความซื่อสัตย์สุจริตเข้าไปด้วย เกิดการต่อยอดจากข้อมูลผ่านการแสดง เพราะการซื่อสัตย์สุจริตต้องซื่อสัตย์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าที่ ต่อตนเอง หรือสังคม

@ประชาชนคอร์รัปชั่นเพราะไม่รู้

กล้านรงค์กล่าวกับ "มติชนออนไลน์" อีกว่า ข้าราชการมักจะทำผิดหลักอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรกทำผิดเพราะไม่รู้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มีแค่ 16 มาตรา ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับสูงมาก ปรากฏว่า ผมตระเวนอธิบายให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้เขารู้ว่าเมื่อทำผิดแล้วจะได้รับการลงโทษหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเสนอราคา การให้สิทธิสัมปทานต่างๆ เพราะมีโทษกำหนดว่า ถ้าเสนอหรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูง แล้วทำไม่ได้ มาตรา 8 มีโทษจำคุก 1-3 ปี และปรับร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่เสนอราคาหรือจำนวนเงินที่ทำสัญญา แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า นอกจากนี้ หากเกิดความเสียหายขึ้น คุณจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอีก ซึ่งโทษแรงมาก

ในหมวดความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เช่นเดียวกัน มาตรา 10 หากคนที่มีอำนาจเกี่ยวข้องรู้และควรรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือฮั้วกัน มีโทษจำคุก 1-10 ปี และมาตรา 12-13 ก็แรงด้วย เช่น ถ้าทำผิดต่อตำแหน่งได้รับโทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต แม้กระทั่งในฐานะของเอกชน ไม่เกี่ยวหน้าที่การงาน ถ้าฮั้วหรือสมยอมเขา ก็ถือว่าผิดต่อหน้าที่

เช่น มาตรา 13 ในฐานะนักการเมืองที่ไม่ใช่ระดับชาติอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงท้องถิ่นด้วย หากผิดต่อตำแหน่ง จำคุก 7-20 ปี หรือตลอดชีวิต และกระทำการใดๆ กับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจอนุมัติหรือมีหน้าที่ดำเนินการ ให้เขาจำยอมรับการเสนอราคาทั้งที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้คนเข้าใจน้อยมาก ขณะเดียวกันท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น หมดวาระ

@ข้าราชการคอร์รัปชั่นเพราะความจำเป็น-เกรงกลัวอำนาจ

ประการที่ 2 คือ ทำความผิดด้วยความจำเป็น คือ ข้าราชการทำผิดโดยไม่เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งข้าราชการที่ทำแบบนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการไกลปืนเที่ยง อยู่ต่างจังหวัด เช่น มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการก่อสร้าง ซึ่งความเป็นจริงแล้วต้องขออนุมัติไปยังผู้มีอำนาจ เมื่อผู้อนุมัติเป็นอธิบดีหรือปลัดกระทรวงกลัวเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ก็เลยเปลี่ยนแปลงเองไปเลยเพื่อประโยชน์ของราชการ โดยเฉพาะแปลนโรงเรียน เพราะเวลาลงพื้นที่สร้างจริงมีปัญหา คือพื้นที่ไม่เอื้อตามแปลนที่ขออนุมัติ ก็เลยเปลี่ยนแบบ พอตรวจรับก็ขอตรวจรับตามรูปแบบรายการ ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะตามช่องทางแล้วต้องขออนุมัติแก้แบบ เพื่อคำนวณราคาว่าถูกลงหรือแพงขึ้น

ในที่นี้ยังรวมถึงทำผิดเพราะเกรงกลัว ถูกผู้บังคับบัญชาสั่ง ไม่ทำไม่ได้ ถึง ต้องบอกว่าถ้าจะแก้ให้แก้ 2 อย่าง คือด้วยใจ มีจิตสำนึกว่าทำหรือไม่ทำ คำถามก็คือว่า ถ้าไม่ทำตำแหน่งและเงินเดือนก็ไม่ขึ้น แต่ก็จะบอกว่าให้ดูทฤษฎีเหรียญ 2 หน้า คือทำแล้วคุณต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย ถ้าไม่ทำความซื่อสัตย์ก็ยังอยู่ตลอดไป อีกอันหนึ่งคือแก้ด้วยกฎหมาย

@การคอร์รัปชั่นเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง

ประการที่ 3 คือ ทุจริตเกิดจากความโลภ สมัยก่อนการทุจริตเกิด 3 อย่าง คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ข้าราชการเงินเดือนน้อย จบปริญญาตรีเงินเดือน 1,050 บาท ต่อมาคือด้านการเมือง ปัญหาบริโภคนิยมที่เราใส่เข้าไป บริโภคนิยมคือ ชื่นชม ยินดี และมีความต้องการ ต้องการบริโภคสิ่งของ ก็เลยเกิดการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายประชานิยม ซึ่งทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ต่างหาเสียงแบบประชา นิยมทั้งนั้น นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญ

สุดท้ายคือ ปัญหาทางด้านสังคม เพราะสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ คือแบ่งชนชั้น สังคมอยู่ในแนวดิ่ง ผู้มีอำนาจพยายามรักษาอำนาจ ผู้ใต้อำนาจก็รับใช้เจ้าขุนมูลนายเพื่อความอยู่รอด ซึ่งปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้นอยู่ ดูง่ายๆ อย่างนักการเมืองกับข้าราชการก็เป็นสังคมทางดิ่ง คือนักการเมืองอาศัยมือข้าราชการ ข้าราชการก็วิ่งเข้าหานักการเมือง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ประการนั้น การกระทำผิดด้วยความไม่รู้มีมาก แต่ไม่เจตนา เช่น ผู้รับเหมาแกล้งเสนอราคาตัดกัน พอได้งานแล้วก็ทิ้งงาน ถ้าเรารู้ช่องทางก็คือสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ ถ้าไม่ดำเนินการก็โดนละเว้นหน้าที่อีก ต่อมาเป็นความผิดเพราะจำเป็นและเกรงกลัวเยอะก็มีมาก เพราะอย่าลืมว่านักการเมืองทุจริตกี่แสนล้าน คุณทำเองไม่ได้ นั่นหมายความว่า กระดาษแผ่นแรกต้องมาจากข้าราชการ ไปต่อทอดข้างบนเอาว่าใครมีอำนาจ ถ้าราชการไม่ร่วมมือก็ทำไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องสอนให้เขารู้

@อัด "สำนักโพล" ตั้งคำถามชี้นำประชาชน

นอกจากนี้ "กล้านรงค์" ยังกล่าวอีกว่า ประการสำคัญคือ คือความเบื่อหน่ายของประชาชน หากดูเอแบคโพลล์ที่ออกมานานหลายปี ระบุว่า ประชาชนรับได้กับการทุจริตหากประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติก้าวหน้า และพบว่าก่อนหน้านี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย เพราะผลที่ออกมาแบบนี้ กลายเป็นว่าเราไปสร้างจิตสำนึกของคนที่ต้องการให้ทุจริต ขณะเดียวกันผมก็มองว่า รัฐบาลทุจริตชาติจะเจริญหรือประชาชนจะอยู่ดีกินดีได้อย่างไร ในทางกลับกันถ้าจะให้ชาติเจริญ ประชาชนอยู่ดีกินดีก็ไม่ใช่การทุจริตของรัฐบาล เป็นเพราะสาเหตุอื่นก็ได้ ถ้าเราบอกว่ารับได้ คนก็เห็นด้วย สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่เสียหาย ซึ่งมองว่าอยู่ที่การตั้งคำถามมากกว่า

ที่มีปัญหามากก็คือ ประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน เพราะร้อยละเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และน่ารังเกียจมากที่สุดก็คือข้าราชการเพราะร้อยละที่เห็นด้วยเพิ่มเยอะขึ้น กว่าอาชีพอย่างอื่น นักเรียน นักศึกษา เปอร์เซ็นต์ยังลด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เด็กยังมีจิตสำนึก แล้วจะไม่ให้เกิดการทุจริตได้อย่างไร ถ้าผลโพลยังออกมาแบบนี้ จะทำอย่างไรให้ผลโพลที่ออกมาสวนกระแส

ฉะนั้น การปราบคอร์รัปชั่นไม่ได้อยู่ที่การใช้กฎหมาย หน่วยงานที่มีอำนาจปราบปรามของต่างประเทศล้วนแล้วเกิดจากจิตสำนึกทั้งหมด จิตสำนึกของประชาชนที่รังเกียจคอร์รัปชั่น สังคมต้องช่วยกันกดดัน ประเทศเกาหลีทำได้ เพราะประชาชนรวมตัวกันและยอมรับผู้นำ

@เสนอ ครม.เลื่อนขั้น-เงินเดือนคนแจ้งเบาะแส

ใกล้ช่วงท้ายของการสนทนา "กล้านรงค์" ยังกล่าวอีกว่า การรังเกียจของประชาชนจะทำให้ข้าราชการไม่กล้าคอร์รัปชั่น เมื่อถูกกดดัน ประณาม เขาก็อยู่ไม่ได้ อย่างประเทศเกาหลีผู้นำฆ่าตัวตาย เพราะถูกประณาม ย้อนกลับมาในสังคมไทยมีหรือไม่แบบนี้ ทำอย่างไรให้การคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งเลวร้าย ทำให้คนเกิดจิตสำนึก ซึ่งการลงโทษที่รุนแรงเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อย่าลืมว่าคนเราไม่กล้าทำผิดเพราะกลัวกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ทำผิด ถ้าไม่กล้าเพราะใจตัวเองมากกว่า ถึงจะยืนยันได้ว่าไม่ทำ ขณะเดียวกันกฎหมายต้องเข้มแข็ง แต่สิ่งที่ประชาชนมีปัญหาคือ ระบบอุปถัมภ์

เมื่อ ป.ป.ช.สอบสวนจะต้องชี้มูลความผิด แต่ไม่สามารถกันคนไว้เป็นพยานได้ พอเกิดการคอร์รัปชั่นข้าราชการที่ทำผิดด้วยก็ไม่กล้าให้การ เพราะคิดว่าเดี๋ยวตัวเองจะต้องโดนด้วย ล่าสุดเรามีกฎหมายแล้วคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่เริ่มใช้เมื่อเมษายน 2554 เรามีมาตรา 103/2 ที่ว่าคนที่แจ้งเบาะแส เป็นพยาน ร้องทุกข์ เขามีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา

ขณะที่มาตรา 103/3 เกี่ยวกับการให้รางวัลกับคนที่เข้ามาแจ้ง หรือมาตรา 103/4 บอกเลยว่า ให้เสนอ ครม.พิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ หากคนนั้นถูกกลั่นแกล้ง ก็มีมาตรา 103/5 เสนอนายกฯออกมาตรการคุ้มครอง มาตรา 103/6 ที่ให้อำนาจกันคนไว้เป็นพยาน ซึ่งต่อไปยืนยันได้ว่า คดีที่ชะงักจะเดินหน้า จากหลายคดีในรัฐบาลชุดที่แล้ว

ถามว่าท้องถิ่นเป็นงานหนักของ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าหนัก เพราะไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด แต่ยังรวมถึงอบต. เทศบาลตำบล กล่าวคือ แม้ระบบการปกครองท้องถิ่นจะพยายามเสริมการปกครองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง แต่หลายๆ หน่วยงานต้องเข้าไปดูแล ต้องเข้าไปปลุกกระแสประชาชนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพราะท้องถิ่นเกิดการฮั้วเยอะมาก แบ่งจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต้องถูกดำเนิคดี ปัญหาคือต้องระดมกำลัง เพราะงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นสูงมาก พลังของท้องถิ่นก็สูงด้วย 


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : กล้านรงค์ สะท้อนมุมมืด ข้าราชการคอรัปชั่น ทฤษฎีเหรียญ2หน้า สำนักโพลล์ ตั้งคำถามชี้นำปชช.

view