สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อ วัฒนธรรมชุมชน กลายเป็น โปรเจคทางการเมือง

เมื่อ “วัฒนธรรมชุมชน” กลายเป็น “โปรเจคทางการเมือง”

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาที่สำคัญประการหนึ่งของสังคมไทยได้เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2520
อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยและได้ทำให้กรอบความเข้าใจในระบบวัฒนธรรมของชุนหมู่บ้านไทยชัดเจนขึ้น ความสำเร็จและการสร้างสรรค์ทางวิชาการนี้ทำให้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนยกย่องเอาไว้ทำนองว่า “นักเรียนประวัติศาสตร์ยืนตรง ผู้ยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์มาแล้ว”
 

ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้มอบให้แก่วงวิชาการและสังคมไทย ได้แก่ การทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “บ้าน” กับ “เมือง” ชัดเจนขึ้น พร้อมกันนั้น ความปรารถนาที่ต้องการเห็นสังคมไทยพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลและเกิดผลดีต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังได้เสนอแนวคิดที่จะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจระหว่างคนชั้นกลางกับคนชนบทกันใหม่เพื่อที่จะได้ช่วยกันนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคและสงบสุข
 

การอธิบายพลังของชุมชนชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ที่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานและชี้ให้เห็นว่า “ชุมชน” จะเป็นพลังสำคัญที่ค้ำจุนชาวบ้านไทยให้อยู่รอดมาได้ท่ามกลางการขยายตัวของอำนาจรัฐและระบบทุนนิยม ได้ส่งผลให้กลุ่มนักพัฒนาเอกชนทั่วประเทศเลือกหยิบแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไปใช้ในการทำงานพัฒนาและการเคลื่อนไหวทางการเมือง
 

นักพัฒนาเอกชนได้นำกรอบความคิดของอาจารย์ฉัตรทิพย์ในการศึกษาชุมชนท้องถิ่นไปใช้ในการทำงานพัฒนาร่วมกับชาวบ้านอย่างได้ผลดีและประสบความสำเร็จอย่างมากในจังหวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในทศวรรษ 2530 เพราะการขยายตัวของรัฐและทุนได้พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงและแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ จากชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปหมด
 

ชาวบ้านและนักพัฒนาเอกชนจึงได้ร่วมกันหยิบเอา “วัฒนธรรมชุมชน” มาเป็นเกราะและเครื่องมือในการต่อสู้/ต่อรองกับรัฐและทุน เพื่อที่จะป้องกันการแย่งชิงและเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรต่างๆ การใช้กรอบความคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ในการเคลื่อนไหวทำให้นักพัฒนาเอกชนและชาวบ้านสามารถสร้างเครือข่ายตนเองได้เข้มแข็งมากขึ้น
 

การเคลื่อนไหวของนักพัฒนาเอกชนและชาวบ้านภายใต้กรอบ “วัฒนธรรมชุมชน” จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่สำคัญ ได้แก่ ความเข้าใจที่ว่าการต่อรอง/การคัดค้านรัฐเป็นเรื่องที่ชาวบ้านธรรมดาสามัญสามารถกระทำได้ อันนำมาสู่การเกิดขึ้นของความคิดเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2530 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับการเมือง
 

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งได้แก่ การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “วัฒนธรรมชุมชน” ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการอธิบายสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง
 

ดังจะเห็นได้ว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ การอธิบายสังคมและวัฒนธรรมไทยจะเน้นกันที่ความรู้และภูมิปัญญาของชนชั้นสูง  แต่ภายหลังจากทศวรรษ 2530 ได้ทำให้วัฒนธรรมชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนอยู่ในวัฒนธรรมไทยมากขึ้น จนเกิดการสร้างแบบแผนการอธิบายบทบาทของชุมชนชาวบ้านด้วยชุดคำอธิบายเรื่อง “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ปราชญ์ชาวบ้าน "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ฯลฯ
 

แต่น่าเสียดายที่กระบวนการเลือกหยิบแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ของนักพัฒนาเอกชนในการต่อรอง ต่อสู้ และสร้างเครือข่ายชาวบ้านนั้น กลับละเลยมิติที่สำคัญของการศึกษาของอาจารย์ฉัตรทิพย์ไป อันได้แก่ มิติทาง “ประวัติศาสตร์” หรือการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆ ที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมที่เป็นหัวใจของข้อเสนออาจารย์ฉัตรทิพย์ การละเลยเช่นนี้ทำให้แนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ของกลุ่มนักพัฒนาจึงมีลักษณะสถิต และเนื่องจากการมองที่สถิตจึงทำให้การเคลื่อนไหวมีลักษณะของการเลือกสรรเฉพาะประเด็น-เฉพาะกลุ่มมาขยายให้กลายเป็น “วัฒนธรรมของชุมชน” โดยรวมไป
 

แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของนักพัฒนาเอกชนในการสร้างกลุ่มและเครือข่ายชาวบ้านภายใต้กรอบความคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ในช่วงทศวรรษ 2530 นี้ ได้ทำให้คนหลายกลุ่มมองว่าการทำงานพัฒนาลักษณะนี้น่าจะเป็นแนวทางเลือกสู่อนาคตของสังคมไทย ปัญญาชนชนชั้นสูงที่มีความสัมพันธ์กับรัฐและกลไกอำนาจรัฐได้มองเห็นว่าสังคมไทยควรจะกรอบความคิดนี้ใช้เป็นฐานของพัฒนา กลุ่มปัญญาชนชนชั้นนำกลุ่มนี้ที่สำคัญที่สุดได้แก่ นายแพทย์ประเวศ วะสี โดยมีเครือข่ายลูกศิษย์เป็นส่วนสนับสนุนหลัก
 

ปัญญาชนชนชั้นสูงกลุ่มนี้ได้สร้างแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการทำงานในพื้นที่ชนบท และมุ่งผลักดันที่จะทำให้ “วัฒนธรรมชุมชน” กลายเป็นฐาน/หลักคิด/การจัดตั้งของสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ที่ทำให้ชนชั้นสูงจำนวนมากตื่นตระหนกจนต้องพยายามมองหาแนวทางการอธิบายสังคมไทยกันใหม่ แนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” จึงถูกเลือกให้มาเป็นแนวทางที่จะต้องสร้างต้องทำกัน
 

กล่าวได้ว่าความพยายามจะใช้ “วัฒนธรรมชุมชน” เป็นฐานของสังคมไทย ได้ทำให้ความรู้ที่จะเข้าใจสังคมชนบท ได้กลายมาเป็น “โปรเจคทางการเมือง” (Political Project)  ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมในหลายมิติหลายด้านเพื่อที่จะทำให้คนในชุมชนชาวบ้านไทยดำเนินชีวิตส่วนตัวและชีวิตของชุมชนเป็นไปตามแนวทางวัฒนธรรมชุมชน
 

แต่เนื่องจาก “โปรเจคทางการเมือง” ของวัฒนธรรมชุมชนที่ขาดมิติความเข้าใจในประวัติศาสตร์ และมุ่งแสวงหาลักษณะดีที่สถิตของชุมชนจึงกลายเป็นปราการหลักที่ปิดกั้นความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทไทย  
 

“โปรเจคทางการเมือง” ของวัฒนธรรมชุมชนได้ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนในชุมชนมากกว่าที่จะทำให้คนในชุมชนหนึ่งๆ มีโอกาสสมานฉันท์กันอย่างเช่นเดิม เพราะภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของผู้คนในชนบท ผู้คนจำนวนมากไม่ได้อยู่กับการผลิตภาคเกษตรกรรมแล้ว พวกเขามีชีวิตทางเศรษฐกิจนอกชุมชน ดังนั้น การจะดึงเอาคนที่อนาคตและชีวิตอยู่นอกชุมชนให้กลับไปสู่ชุมชนจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้น
 

การทำให้ “วัฒนธรรมชุมชน” กลายเป็น “โปรเจคทางการเมือง” ได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างน้อยสามด้านด้วยกัน ด้านแรก เป็นการวางขอบเขตจำกัดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านไม่ให้ก้าวข้ามไปสู่ “การเมือง” โดยตรงชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทำให้ขบวนการของชาวบ้านที่เคลื่อนไหวมานานนับสิบปีนั้นไม่สามารถใช้ขบวนการเดิมนี้ต่อยอดไปต่อรองทางการเมืองโดยตรงได้ หากกลุ่มชาวบ้านใดที่เริ่มขยับสนใจการเมืองโดยตรงมากขึ้นก็มักจะถูกปฏิเสธจากกลุ่มทุนของรัฐและปัญญาชนของชนชั้นนำ
 

ด้านที่สอง ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวทางความรู้ได้ทำให้ถูกดึงเข้าไปผนวกกับนโยบายของรัฐมากขึ้น  ทำให้เกิดการแบ่งสรรงบประมาณของรัฐจำนวนไม่น้อยให้มาใช้ในพื้นที่ของชาวบ้านในชุมชนบางกลุ่มที่สามารถแสดงตนได้เด่นชัดว่าดำเนินชีวิตตาม “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ซึ่งทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เรียนรู้ว่าการรวมกลุ่มสร้างกิจกรรมทางสังคมก็จะเป็นที่มาของทรัพยากรจากรัฐ การผนวกเข้ากับนโยบายของรัฐกลับเป็นการแยกคนออกจากชุมชนอย่างเด่นชัดระหว่างคนธรรมดากับ “ผู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น”
 

ด้านที่สาม ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวภายใต้มโนทัศน์ “วัฒนธรรมชุมชน” และวางจุดเน้นอยู่ที่การเป็น “โปรเจคทางการเมือง” ยิ่งทำให้กรอบความคิดวัฒนธรรมชุมชนนั้นกลายเป็นกรอบการคิดและการทำงานที่แข็งตัวจนไม่สามารถพัฒนาได้อย่างมีพลังทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
 

ในวันนี้ เราต้องหลุดออกจาก “โปรเจคทางการเมือง” ชุดนี้ก่อนเพื่อที่จะสามารถมองเห็นความเป็นจริงในพื้นที “ชนบท” ให้ชัดเจนขึ้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ท่านได้ช่วยเราด้วยการขยายความรู้ความเข้าใจ “วัฒนธรรมชุมชน” ออกไปกว้างขวางมากขึ้น ในหนังสือเล่มใหม่เรื่องการเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชนเพื่อที่จะทำให้เราทั้งหลายในสังคมไทยได้มองเปรียบเทียบและมองหาทางออกให้กว้างขวางมากขึ้น
 

พร้อมกันนี้ก็อยากจะให้ปัญญาชนชนชั้นนำไทยได้ทบทวนกับ “โปรเจคทางการเมือง” ที่ได้สร้างกันขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้โอกาสในการทำความเข้าในความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นอันน่าจะนำพาเราไปพ้นความขัดแย้งอันเกิดจากความคับแคบของ “โปรเจคทางการเมือง” นี้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วัฒนธรรมชุมชน โปรเจคทางการเมือง

view