สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม - ค่าครองชีพพุ่ง แรงงานไทย เสี่ยง - ภาคธุรกิจย้ายฐานหนี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

       ดีเดย์เมษายนค่าแรง 300 บาทผ่านฉลุย ศาลยกคำร้อง 42 นายจ้าง ภาคธุรกิจหาหนทางเลี่ยงเพิ่มแรงงานต่างด้าว สั่งเครื่องจักรแทนคน ย้ายกิจการไปประเทศเพื่อนบ้านหรืออาจเลิกกิจการ ขณะที่ค่าครองชีพพุ่งตามต้นทุน มาตรการรัฐธงฟ้า-ยืดน้ำมันดีเซลทำได้แค่บรรเทา
       
       ค่าครองชีพของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นในเวลานี้ แม้จะกลายเป็นเกมชิงไหวชิงพริบของนักการเมือง รัฐบาลได้ออกมาตอบโต้ว่าราคาสินค้ายังต่ำกว่าช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่แนวโน้มของราคาสินค้าที่มาถึงมือผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการที่รัฐบาลต้องยืดการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน สิ้นสุด 30 เมษายน2555 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยใช้เงิน 9 พันล้านบาท
       
       นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทยวงเงิน 1,620 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการโชห่วยช่วยชาติ ภายใต้ชื่อ "ร้านถูกใจ" หรือโครงการ 1 ร้านค้า 1 ชุมชุน วงเงิน 1,320 ล้านบาท วางเป้าตั้ง 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช เดือนเมษายนเริ่มดำเนินการในกรุงเทพฯและปริมณฑลและใน 15 จังหวัด 2,000 แห่ง และดำเนินการในทุกจังหวัดในเดือนพฤษภาคมอีก 8,000 แห่ง
       
       โครงการธงฟ้าลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย วงเงิน 300 ล้านบาท จำหน่ายสินค้าในราคาถูกทั้งระดับประเทศและภูมิภาค
       
       ของแพงถ้วนหน้า
       
       “ราคาสินค้ามีโอกาสปรับขึ้นได้อีกตามต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น กรณีของราคาสินค้าจำพวกผัก ต้นทุนการผลิตไม่ได้สูงขึ้นมากนัก แต่เป็นผลมาจากพ่อค้าคนกลางทำให้เมื่อสินค้ามาถึงมือผู้บริโภคราคาจึงขยับ ขึ้นมาก” แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าว
       
       ขณะที่สินค้าอื่นมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน ทั้งก๊าซ LPG รวมถึงก๊าซ NGV ที่ราคาขยับขึ้น รวมไปถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทั้งต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งมีราคาแพงขึ้น ย่อมส่งผลต่อต้นทุนของสินค้าที่เป็นวัตถุดิบมีราคาขยับขึ้นตาม
       
       รวมถึงผลจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การรับจำนำข้าว ทำให้ราคาข้าวบรรจุถุงเดือนเมษายนนี้จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 บาท ตามมาด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐมและนนทบุรี ที่จะใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ หลังจากที่ 42 บริษัทได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการค่าจ้างกลางต่อศาลปกครอง เมื่อศาลพิจารณาให้ยกคำร้องเมื่อ 20 มีนาคม ทำให้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดจะขยับขึ้นเป็น 300 บาท ในส่วนนี้จะมีผลต่อราคาสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะผลักภาระต้นทุนค่าแรงดังกล่าวมายังผู้บริโภคผ่านทางราคา สินค้า
       
       หากราคาสินค้าปรับขึ้นแล้วค่าแรงขยับขึ้นตามถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนจะมากพอต่อการดำรงชีพหรือไม่นั้นต้องขึ้นกับสถานะและวิธีการใช้จ่ายของ แต่ละคน แต่ทุกคนจะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทเหมือนกันหรือไม่ คงเป็นเรื่องการตกลงกันระหว่างนายจ้างและตัวลูกจ้างเอง อีกทั้งค่าแรงดังกล่าวกำหนดไว้เฉพาะรายที่เคยได้ต่ำกว่า 300 บาท ส่วนคนที่มีรายได้เกินแต่ไม่ได้รับการปรับเงินเดือนขึ้น เมื่อราคาสินค้าปรับขึ้นย่อมกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
       
       ทางออกผู้ประกอบการ
       
       ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เมื่อรัฐกำหนดให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้ว กิจการบางประเภทที่เคยจ้างแรงงานต่ำกว่ากฎหมายกำหนดนั้นจะมีความพร้อมที่จะ ดำเนินกิจการต่อได้หรือไม่
       
       “เราเคยสัมภาษณ์ผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงเรื่องค่าแรง 300 บาทในหลายธุรกิจ พบว่าบางกิจการที่ใช้คนไม่มากไม่กระทบกับค่าแรง 300 บาท เพราะเขาคิดวันทำงานที่ 26 วัน ตกเป็นเงินเดือนละ 7,800 บาท หรือหากเป็นกิจการขนาดใหญ่ของต่างชาติค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวไม่เป็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องการย้ายงาน บริษัทหลายแห่งได้อบรมเพิ่มทักษะให้กับพนักงานไประดับหนึ่ง เมื่อพบว่าบางแห่งให้ค่าแรงสูงกว่าเล็กน้อยแรงงานกลุ่มนี้ก็ย้ายงาน ทำให้พนักงานเหล่านั้นขาดโอกาสในการพัฒนาความสามารถไปและสิ่งที่บริษัทลงทุน ไปก็สูญเปล่า” ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคกล่าว
       
       ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่ากิจการใดจะมีปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำตามที่ รัฐบาลกำหนด เพราะแต่ละกิจการต้องไปประเมินถึงต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น บางบริษัทมีศักยภาพพอที่จะแบกรับและส่งต่อต้นทุนไปเป็นราคาสินค้าสู่ผู้ บริโภค แต่บางบริษัทอาจมีข้อจำกัดที่ผลักต้นทุนไปในราคาสินค้าได้น้อย
       
       ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องค่าแรงเพียงอย่าง เดียว ยังมีค่าพลังงานเช่นก๊าซในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันได ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นตามตลาดโลก รวมถึงตัววัสดุที่จะนำมาใช้ประกอบเป็นสินค้า เมื่อทุกอย่างรวมกันเจ้าของกิจการต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
       
       เจ้าของกิจการมีทางเลือกหลายทาง เช่น การขออนุญาตเพิ่มแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เพื่อมาชดเชยแรงงานไทยที่จะต้องว่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ หรือลดต้นทุนของพนักงานด้วยการนำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานบางส่วน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หากไม่สามารถหาทางออกได้หนทางสุดท้ายคือการปิดกิจการ
       
       หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองไทย อุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่เพื่อรองรับการลง ทุนจากต่างชาติ อุตสาหกรรมรถยนต์ค่ายใหญ่อย่างฮอนด้าของญี่ปุ่นและอีกหลายรายได้ลงทุนเพิ่ม ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีเวียดนามที่ยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ไม่น้อย รวมถึงดาวรุ่งของเอเชียอย่างพม่า ที่เปิดประเทศและก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มีทั้งต่างชาติและกิจการของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มุ่งไปยังพม่า
       
       นั่นหมายถึงแรงงานไทยที่เคยทำงานอยู่เดิม อาจต้องเผชิญกับภาวะการเลิกจ้าง เว้นแต่เป็นการสมยอมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างที่ตกลงจะรับค่าแรงต่ำกว่า แรงงานขั้นต่ำ ประกอบกับค่าครองชีพที่ถีบตัวขึ้นสูงทั้งจากนโยบายของรัฐบาลหรือกลไกราคาใน ตลาดโลก ย่อมกระทบต่อวิถีในการดำรงชีพของคนไทยจำนวนหนึ่ง
       
       สิ่งที่อาจเกิดขึ้นยังลามไปสู่ภาคการเงินได้เช่นกัน หากแรงงานเหล่านี้มีภาระผูกพันกับธนาคาร เช่น มีการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือรถยนต์ไว้ หรือบางรายมีการขอใช้สินเชื่อบุคคล อาจจะกระทบต่อภาระหนี้เสียของสถาบันการเงินได้เช่นกัน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม ค่าครองชีพพุ่ง แรงงานไทย เสี่ยง ภาคธุรกิจย้ายฐานหนี

view