สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความพินาศของระบบการศึกษาไทย (3) : สร้างโปรดักท์-โปรแกรม-คน หรือ จะเอาแต่กระดาษ

ความพินาศของระบบการศึกษาไทย (3) : สร้างโปรดักท์-โปรแกรม-คน หรือ จะเอาแต่กระดาษ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตลอดเวลายาวนานของระบบการศึกษาไทยระดับมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ต้องการสร้างชื่อเสียง โดยการเผยแพร่ผลงานวิชาการและการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มค่าให้แก่นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย และเป็นบรรทัดฐานให้แก่นิสิตที่จะต้องเรียนจบปริญญาตรี โท เอก และมหาวิทยาลัยเข้าใจว่าการจัดอันดับโลกของมหาวิทยาลัยขึ้นกับปริมาณ จำนวนของการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำให้มีการออกกฎระเบียบในปัจจุบัน คือทุนวิจัยที่ทาง สกอ.(สำนักคณะกรรมการอุดมศึกษา) ดูแลส่งต่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศไทย
 

 มีมูลค่าผลงานตีพิมพ์ 1 เรื่อง ต่อทุน 400,000 บาท ซึ่งรวมถึงนิสิต ปริญญาระดับต่างๆ ซึ่งมีทุนสนับสนุนวิจัยน้อยนิด แต่ยังคงต้องกระเสือกกระสนพยายามให้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงการนำไปใช้งานได้จริงหรือไม่ ก่อให้เกิดประโยชน์จริงในการแก้ปัญหาของประเทศหรือไม่ ก็มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการ นักวิจัยว่า ปัญหาของประเทศถึงพอจะรู้ทางแก้ แต่ก็ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไม่ได้ เพราะเป็นจริงเฉพาะของเมืองไทย หรือตีพิมพ์ก็ได้แต่วารสารในประเทศ ซึ่งก็ดูกระจอกงอกง่อย ไม่มีคนยอมรับ
 

 และทำให้เป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่าเป็นการวิจัยบนหอคอยงาช้าง (ช้างเป็นๆ ตายหมดแล้ว) งานวิจัยชั่งกิโล (จนทุนมหาวิทยาลัยต้องจัดหาตาชั่งมาตรฐานทุกปี)
 

อย่างไรก็ตาม การผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์ไม่ใช่เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การที่นักวิชาการ นักวิจัยไทย สามารถค้นคว้า ค้นพบของใหม่หรือของประยุกต์ ซึ่งตอบโจทย์หรือนำไปสู่กระบวนการนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต ถือ เป็นเรื่องประกาศความเก่งกาจให้ชาวโลกรู้ และถึงแม้เป็นการค้นพบบันไดขั้นที่ 1 หรือ 2 ก็จะเป็นแนวทางต่อถึงขั้นที่ 10    ปัญหาของประเทศ คือ เมื่อได้บันไดขั้นที่ 2 ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว หรือได้เหรียญรางวัลแล้ว ไฟก็ม้วยมอดไป  หมดความกระตือรือร้นที่จะทำการศึกษาต่อและทำให้เมื่อนับผลงานตีพิมพ์วิจัยของประเทศในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์
 

เราน่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ในด้านน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หรือเป็นตัน แต่ทำไมมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งอยู่ในอันดับโลก แม้จะมีน้อยกิโล แต่ได้รับการยอมรับ และฮ่องกงเองเมื่อเผชิญวิกฤตโรคทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันหรือโรคซาร์ส ก็สามารถประคองตัว เอาตัวรอด ปรับปรุงการบริหารการจัดการในโรงพยาบาล ระบบการสาธารณสุข การเฝ้าระวังติดตามผู้ป่วย และตัดตอน (ไม่ใช่ฆ่าตัดตอนแบบเมืองไทย) ไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่องได้อย่างน่าสรรเสริญ
 

 มิหนำซ้ำยังมีการค้นหาสืบพบสัตว์ต่างๆ ที่อมโรค และแพร่โรคให้มนุษย์อย่างต่อเนื่อง แบบอย่างการโต้ตอบโรคระบาดร้ายแรงเป็นแบบฝึกหัดอย่างดีให้ประเทศไทยเลียนแบบ (แต่ก็ยังหยิ่งไม่ยอมลอกเลียน) และเป็นเครื่องตอกย้ำว่าเราไม่อาจยืนหยัดด้วยการประเมินคุณภาพจากการชั่งน้ำหนักกระดาษผลงานอย่างเดียว แต่ต้องประกอบกับของจริงที่พิสูจน์ได้ให้เห็นประจักษ์
 

เกริ่นมาถึงเพียงนี้เป็นที่มาของ (Products-Program-People) versus (Papers) หรือภาษาไทยชื่อเรื่องคือจะเอาผลงานจับต้องได้ ใช้งานได้ โปรแกรมที่นำมาปรับปรุงคุณภาพสายงาน บุคลากร การทำงาน บูรณาการ การสร้างคนที่เป็นคนชั้นยอด (ซึ่งคงต้องใช้แทบเล็ตเป็นด้วย...ต้องฮาไหมครับ) หรือจะเอาแต่กระดาษตีพิมพ์ การปะทะกันของ 2 ขั้วข้างต้น เกิดขึ้นรุนแรงมากขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการปะทะระหว่าง NIH (National Institute of Health) สถาบันสาธารณสุขสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการวิจัยในลักษณะผลงานวิจัยเป็นการตีพิมพ์ส่วนมาก (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) สู้กับองค์กรเอกชน
 

รวมทั้งกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ในระยะหลังที่ผ่านมานี้ มีนโยบายสร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์ในเชิงใช้งานได้ โดยที่แต่แรกจะมุ่งแต่กิจกรรมของทหารอย่างเดียวในการตอบโต้ การรุกราน ในแบบต่างๆ รวมทั้งอาวุธชีวภาพรวมทั้งการเฝ้าระวังโรค โดยการดูการผันตัวของเชื้อในระดับพันธุกรรม ที่จะมีแนวโน้มดุร้ายในอนาคต
 

และจากการเฝ้าดูรหัสพันธุกรรม โดยการถอดรหัสด้วยความรวดเร็ว ด้วยเครื่องมือระดับต่างๆ จากง่ายไม่ซับซ้อนจนถึงหรูหราพิสดาร การรู้รหัสดังกล่าวของเชื้อที่เป็นปัญหาระดับประเทศหรือระดับโลก เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็เป็นผลงานของ DARPA หรือ Defense Advanced Research Projects Agency โดยที่ยืนมิดเม้มอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ (Dr. Patrick Blair) สิ่งที่ DARPA พัฒนาได้สำเร็จแล้วคือการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากการใส่สอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส (ไม่ใช่ไวรัสตัวเป็นๆ) เข้าในพืช เช่น ต้นใบยาสูบ
 

และสามารถให้ผลิตโปรตีนที่ใช้เป็นวัคซีนได้เป็น 10 ล้านโด๊ส ในเวลา 16 สัปดาห์ตั้งแต่ถอดรหัสพันธุกรรมได้ และเมื่อไม่ใช้ก็เก็บเป็นเมล็ดใส่ขวด ทั้งนี้มีวัคซีนอีกหลายชนิดที่ทำได้สำเร็จในพืช และนำไปใช้ได้ในประเทศยากจนหลายประเทศตั้งแต่ปี 2009 รวมทั้งคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ
 

ทำไมหมอและคณะวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ รู้จักกับ DARPA ทั้งนี้เพราะ Dr. Michael Callahan ซึ่งปกติก็เป็นหมอโรคติดเชื้อที่ Harvard และเป็นผู้จัดการโปรแกรมของ DSO (Defense Sciences Office) ได้เคยมาเยี่ยมหมอและคณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่ปี 2005 (โดยที่หมอก็จำแทบไม่ได้แล้ว) ซึ่งครั้งนั้นมากับ Dr. Patrick Blair และได้เจอกับ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี และ ศาสตราจารย์ Henry Wilde ครั้งกระนั้นเราทำงานกันด้วยคนน้อยมาก
    

มีน้องนักเรียนและเทคนิเชียนประมาณ 3-4 คน แต่ พยายามหาวิธีตรวจเชื้อไวรัสแบบต่างๆ ความที่ห้องแล็บขนาดกระจอก แถมมีรูปนักกีตาร์ในดวงใจหมอ คือ Jimi Hendrix ติดอยู่ข้างฝา แถมพวกเราแต่งตัวซอมซ่อ ทำให้กลุ่มนี้ประทับใจในความที่ไม่มีการเสแสร้ง (เพราะไม่รู้จะทำยังไง) และกลับมาเยี่ยมอีก 2-3 ครั้ง จนในที่สุดก็เสนอให้ทุน Prophecy  สนับสนุนให้เราพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสสมองอักเสบและไข้หวัดใหญ่แบบต่างๆ ด้วยวิธีการจากง่ายจนค่อยๆ ยากขึ้นจนแพงสูงด้วยเครื่องมือซับซ้อน
 

นอกจากนั้น กลุ่มเรายังได้สำรวจค้างคาวและสัตว์ป่าในภูมิภาคต่างๆ และพบไวรัสหลายชนิดที่อาจแพร่มายังคน รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนในละแวกนั้น ถึงการป้องกันตัวและสำรวจสุขภาพ Dr. Callahan และ Dr. Alan Rudolph จาก DARPA ได้มาเยี่ยมเราอีกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (16-18 มีนาคม) รวมทั้งได้ไปพบปะชาวบ้านดูการสำรวจสัตว์ และที่สำคัญคือได้เจอน้องๆ นักวิทยาศาสตร์ นิสิตปริญญาโท เอก อีก 14 คน (ส่วนมากอายุ 20 กว่า) สิ่งสำคัญที่อาจเป็นปัจจัยที่ DARPA ได้ให้การสนับสนุน คือ การที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับนักสัตววิทยา ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  สัตวแพทย์ของสถานเสาวภา และต่างมหาวิทยาลัย
 

จากบรรทัดแรกถึงย่อหน้านี้ เพื่ออยากจะให้ผู้อ่าน นักวิชาการ นักวิจัย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยได้หันมามองการให้การศึกษาที่สร้างคนให้รู้จักคิดริเริ่มในสิ่งใหม่ เริ่มจากปัญหาของเราเอง หมอไม่ได้บอกว่าคณะของเราเปรื่องปราด แค่เป็นเพียงความพยายามที่จะตะเกียกตะกายออกนอกกรอบเดิมๆ พยายามจะหา หรือพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางสังคม ในการสร้างความตระหนักให้ประชาชนในการปกป้องรักษาตัวเอง และต้องไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ อัตตาของตนเอง
 

เราคนไทยจะเอาทั้งชื่อ (กระดาษ) และเอาทั้งกล่องคือผลงานที่ใช้ได้ช่วยคนไทยได้ ก็ยิ่งดีนะครับ จากบทความ ความพินาศของระบบการศึกษาไทยทั้ง 3 ตอน คงจะก่อให้เกิดความระคายเคือง และคันอวัยวะที่ใช้เดิน อยากเอามาพาดคอหมอ ไม่โกรธหรอกครับ ถ้าพวกเราหันมามองตัวเองว่า เราทำอะไรผิดๆ ซ้ำซากมาบ้างและเริ่มหามาตรการระยะสั้น กลาง ยาว สำหรับเด็กๆ ไทยในอนาคต ท้าคนทั่วโลก ฝรั่งมังค่าทั้งหลาย คนไทยไม่โง่ และพร้อมจะเป็นผู้นำโลกในอนาคต


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความพินาศของระบบการศึกษาไทย สร้างโปรดักท์ โปรแกรม คน เอาแต่กระดาษ

view