สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

สัปดาห์นี้ขอเขียนถึงตลาดเกิดใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่าน และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตามข่าวการลงทุน
สัปดาห์ที่ผ่านมา กูรูด้านการลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets ระดับโลก คือ ดร. มาร์ค โมเบียส (Mark Mobius) ได้มาเยือนเมืองไทยและพูดถึงการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ สัปดาห์นี้ดิฉันจึงขอเขียนถึงตลาดเกิดใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่าน และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตามข่าวการลงทุนค่ะ
 


“ตลาดเกิดใหม่” หรือ Emerging Markets เป็นศัพท์ที่มาบัญญัติกันในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยก่อนหน้านั้น ในช่วงทศวรรษ 1970 นักเศรษฐศาสตร์จะแบ่งการพัฒนาของประเทศต่างๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ “ประเทศด้อยพัฒนา” (Undeveloped Countries) กับ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” หรือ Developed Countries  และประเทศที่กำลังพัฒนา หรือ “Developing Countries”
 


นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก คือ Antoine van Agtmael เป็นผู้ริเริ่มเรียกประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง อยู่ระหว่าง "กำลังพัฒนา" ไปสู่ “พัฒนาแล้ว” ว่าเป็น ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ “Emerging Economies” ในช่วงทศวรรษ 1980  ซึ่งฟังดูเก๋ไก๋มากทีเดียว โดยจะมีความแตกต่างจากประเทศ “กำลังพัฒนา” คือ จะรวมประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว แต่การเมืองไม่นิ่งเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
 


ตามนิยามของธนาคารโลกในปัจจุบัน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะมีรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) ไม่เกิน 11,456 ดอลลาร์ หรือประมาณ 350,000 บาทต่อปี สำหรับไทย ณ ปี 2553 อยู่ที่ 4,150 ดอลลาร์ต่อปีค่ะ
 


ในด้านการลงทุน มีการแยกกลุ่มประเทศนี้เป็น “ตลาดเกิดใหม่” (Emerging Markets) ซึ่งตามความหมายของ FTSE หรือ “ฟุตซี่” คือ กลุ่มประเทศที่ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรอยู่ในระดับปานกลาง ถึงปานกลางค่อนข้างสูง ที่มีโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่ค่อนข้างพัฒนาไปแล้ว หรือเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรในระดับสูง แต่โครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนยังพัฒนาไม่มาก
 


“ตลาดเกิดใหม่” ตามความหมายของฟุตซี่ ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดเกิดใหม่ที่พัฒนาแล้ว ประกอบด้วย 10 ประเทศ คือ บราซิล สาธารณะเช็ค ฮังการี มาเลเซีย เม็กซิโก โปแลนด์ แอฟริกาใต้ ไต้หวัน ไทย และตุรกี
 


ส่วนกลุ่มที่สอง คือ ตลาดเกิดใหม่ชั้นถัดลงมา จะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำ หรือระดับปานกลาง หรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงปานกลางระดับสูงแต่โครงสร้างพื้นฐานด้านตลาดทุนยังไม่พัฒนามากนัก ประกอบด้วย 12 ประเทศ คือ ชิลี จีน โคลัมเบีย อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย โมร็อกโก ปากีสถาน เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   เดิมไทยเคยอยู่กลุ่มที่สอง แต่เพิ่งได้รับการปรับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2555 นี้เอง
 


สำหรับ ค่าย MSCI Barra จะจัดประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ 26 ประเทศ โดยรายชื่อจะซ้ำกับของฟุตซี่ ยกเว้น มีเพิ่ม อาร์เจนตินา อิสราเอล จอร์แดน เกาหลีใต้ เวเนซุเอลา และไม่มีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ตลาดบุกเบิก” หรือ “Frontier Markets”
 


ทางด้าน Economist  ก็จะคล้ายกับฟุตซี่  แต่มีเพิ่ม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย เข้าไปด้วย รวมเป็น 25 ประเทศ
 


ส่วน ตลาดเกิดใหม่ในนิยามของ เอสแอนด์พี (S&P) มี 19 ประเทศค่ะ คือ เหมือนของ ฟุตซี่ เพียงแต่ไม่มี ปากีสถาน ไม่มีโคลัมเบีย และไม่มีเกาหลีใต้ (ถือว่าเกาหลีใต้ เป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว)
 


ดัชนีที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดในแวดวงนักลงทุนในหุ้นทุน คือ ของ MSCI Barra
 


ดร.โมเบียส พูดถึงการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ว่า ตลาดเกิดใหม่เป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อตลาดหุ้นโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงปี 1993 หรือ 20 ปีที่แล้ว ขนาดของตลาดเกิดใหม่ มีสัดส่วนประมาณ 3-4% ของตลาดหุ้นโลก แต่มาในปัจจุบัน ได้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 34% ของขนาดตลาดหุ้นโดยรวมของโลก
 


อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ รวมถึงนักลงทุนประเภทสถาบันด้วย ยังมีการลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ในสัดส่วนที่ไม่สูง โดยผู้ลงทุนสถาบัน มีการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่เพียง 5-6% ของสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทั้งหมด ซึ่งทำให้ตลาดเกิดใหม่ มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก หากนักลงทุนกลุ่มนี้ เพิ่มน้ำหนักการลงทุน
 


ตลาดเกิดใหม่น่าสนใจตรงที่ มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว ถึง 5 เท่า โดยคาดว่าในปี 2012 เศรษฐกิจของประเทศในตลาดเกิดใหม่จะเติบโตเฉลี่ย 5.4% ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ย  0.8% เท่านั้น  นอกจากนั้น ตลาดเกิดใหม่ยังมีเงินทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งช่วยทำให้ผู้ลงทุนอุ่นใจว่า เมื่อต้องการขายหุ้นออกไปจะมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอให้แลกเพื่อส่งเงินลงทุนออกมา
 


ประเทศในตลาดเกิดใหม่ มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนไม่สูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่เราทราบๆ กันว่ามีภาระหนี้สูงมาก  และ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในอดีต ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศในละตินอเมริกาบางประเทศ สูงถึง 2,000-3,000% ต่อปี นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในเกณฑ์ไม่สูง เอื้อต่อการลงทุนเพื่อขยายกิจการ
 


ในด้านของการคำนวณมูลค่า  ณ เดือนกุมภาพันธ์ หุ้นในตลาดเกิดใหม่มีราคาเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น หรือเรียกว่า พี/อี เรโช (Price-Earnings Ratio) ประมาณ 10 เท่า ในขณะที่ในอดีตช่วงหุ้นขึ้นในปี 1988 ตลาดเกิดใหม่เคยมีค่าพี/อี สูงถึง 28 เท่า และเมื่อเทียบกับช่วงต่ำสุดในปี 2008 มีค่าพี/อี 7 เท่า ณ ขณะนี้ จึงถือว่าราคาหุ้นยังไม่แพง

 

นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นกันโดยถ้วนหน้า
 


ดร.โมเบียส กล่าวถึง แนวคิดในการลงทุน 2 แนวสำหรับตลาดเกิดใหม่ คือ เรื่องฐานผู้บริโภค และสินค้าโภคภัณฑ์  เพราะประเทศเหล่านี้ มีประชากรจำนวนมาก เมื่อมีรายได้ดีขึ้น จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ต้องการบริโภค อาหาร พลังงาน และโภคภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น  สินค้าต่างๆ ก็ขายดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยแหล่งผลิตทรัพยากรหรือสินค้าเหล่านี้ก็อยู่ในตลาดเกิดใหม่นั่นเอง
 


อ่านแล้วอยากลงทุนไหมคะ แต่ทว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” จากข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ใน 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นในตลาดเกิดใหม่มีค่าความผันผวน 22.56% ต่อปี ในขณะที่หุ้นทั่วโลกมีค่าความผันผวน 18.91% ต่อปี และหุ้นไทย  คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีค่าความผันผวน 20.11% ต่อปี
 


สำหรับผู้ลงทุนไทยแล้ว  หุ้นในตลาดเกิดใหม่ มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับหุ้นไทย เพราะไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเกิดใหม่ เพียงแต่ว่าการลงทุนหุ้นในตลาดเกิดใหม่จะมี ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศที่ไปลงทุนเพิ่มเติม จากความเสี่ยงในการลงทุนอื่นๆ ค่ะ

 

ขอขอบคุณ บลจ.กรุงศรี จำกัด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตลาดเกิดใหม่ Emerging Markets

view