สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงก้องจาก 2 กูรู ตุลาการ ไม่มีอคติ ไม่มีล็อบบี้ ไม่มีใบสั่ง

จากประชาชาติธุรกิจ

พลันที่ประเทศไทยถลำเข้าสู่วิกฤตขัดแย้ง ตั้งแต่รัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" อยู่ในช่วงขาลง เมื่อปี 2549 เกิดขบวนการภาคประชาชน ต่อต้านอำนาจรัฐ ลุกลาม-ขัดแย้ง-บานปลาย ถึงขั้นล้มระบอบ "ทักษิณ"

เมื่อทางออกปัญหาการเมือง ในกระบวนการปกติเริ่มเป็นเส้นทางคู่ขนาน ยากบรรจบ ขบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" จึงเกิดขึ้น

26 เมษายน 2549 มีการประชุมร่วมกันของผู้พิพากษาประจำสำนักประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตของประเทศ

2 วันต่อมา มีการประชุมครั้งที่ 2 ทั้ง 3 ศาลมีมติร่วมกัน 3 ข้อ

1.ทั้ง 3 ศาลเห็นคล้องต้องกันว่า จะเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีและดำเนินการในส่วนที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ของศาลแต่ละศาลให้รวดเร็ว ทันต่อความจำเป็นของแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น

2.ทั้ง 3 ศาลมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าคดีความจะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลไหน การใช้กฎหมายหรือตีความกฎหมาย ต้องระมัดระวัง ว่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน เพื่อยุติความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้น

3.ในการดำเนิน การของแต่ศาลนั้น ถือเป็นความอิสระของศาล ตามเขตอำนาจของแต่ละศาลให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายด้วยความยุติธรรมและสุจริต

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาสอบสวนการทุจริตของ "ทักษิณ" และ "พวก" ก่อนชงให้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พิพากษาคดี

คู่ ขนานไปกับการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีการทุจริตเลือกตั้ง 2 เมษายน ที่ได้รับการชงสำนวนมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีมติยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์

สุดท้าย ปลายทางหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งของนักการเมือง ตัดสินจำคุก "ทักษิณ" 2 ปี จากคดีซื้อที่ดินรัชดา และยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีร่ำรวยผิดปกติ

อีกปลายทางหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ยกฟ้องพรรคประชาธิปัตย์

หลัง การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 "พรรคพลังประชาชน" นอมินีรุ่น 2 ของ "พรรคไทยรักไทย" ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล มี "สมัคร สุนทรเวช" เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่แล้ว "สมัคร" ต้องตกม้าตายพ้นจากตำแหน่ง ด้วยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดี "รับจ้าง" ทำรายการ "ชิมไปบ่นไป"

เช่นเดียวกันกับ "พรรคพลังประชาชน" ที่ถูกยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ

"พรรค เพื่อไทย" อันถือเป็นพรรคนอมินีรุ่น 3 จึงมองว่าระบบตุลาการ คือ "เครื่องมือ" ที่ "ศัตรู" ขั้วอำนาจตรงข้ามใช้ประหัตประหารทางการเมือง "ทักษิณ"

เมื่อ "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" กลับมามีอำนาจ และเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

1 ในข้อเสนอที่ถูกชงมาจากนักการเมืองสายใต้ดิน-สายตรงของ "ทักษิณ" ที่ชื่อ "วัฒนา เมืองสุข" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คือลดอำนาจศาล

"ศาล รัฐธรรมนูญ กับศาลปกครองไม่จำเป็น ก็ใช้ศาลฎีกาแล้วเปิดแผนกขึ้นมาก็ได้ เวลามีคดีก็ส่งเขา ก็คัดผู้พิพากษาขึ้นมา มันใช้ผู้พิพากษาเป็นแผนกได้ เช่น แผนกคดีเลือกตั้งไง ไม่เห็นจำเป็นต้องมีศาลเลือกตั้งเลย เพราะมันไม่ได้มีคดีเกิดขึ้นทุกวันเป็นอาจิณ ไม่มีคดีทุกวัน

นาน ๆ ที ก็ใช้แผนกของศาลฎีกาได้ จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าวได้"

ในวาระที่ขบวนการตุลาการภิวัตน์ล่อแหลมอยู่ในภาวะถูกลดอำนาจด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ของฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย

"วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" ประธานศาลปกครองสูงสุด ขึ้นเวทีพูดอย่างเปิดอก-คุยอย่างเปิดใจ กลางวงเสวนา "ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ? ประเทศไทยกับระบบศาล" ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยมูลนิธิสัญญา ธรรมศักดิ์

"วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า "ในสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ ข้อบกพร่องประการแรกคือที่มาที่ไปของตัวตุลาการ เพราะไม่มีเหตุจูงใจ ไม่มีใครอยากมา เพราะระบบศาลไม่ว่าจะทำอะไร ตัดสินเรื่องใดก็มักจะผิด โดนกล่าวหาตลอดว่าเหตุใดจึงวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นนั้น"

"ผมยอมรับว่า ในคณะตุลาการมีทั้งคนดีและไม่ดีรวมอยู่ โดยคุณภาพของแต่ละบุคคลนั้น อาจจะย่อหย่อนไปตามลักษณะของแต่ละคน ถึงแม้ทุกองค์กรจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน แต่การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถยื่นตรวจสอบตุลาการได้ ทำให้การพิจารณาคดีต้องศึกษาคดีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการกล่าวหาว่าพิจารณา แบบ 2 มาตรฐาน"

"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำงานอย่างไม่มีอคติ เพราะในการวินิจฉัยได้พิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตามพยานหลักฐาน เนื่องจากมองว่าไม่ต้องการความร่ำรวยจากอาชีพนี้ รับรู้เพียงว่าพอมีพอกินเท่านั้น ไม่ต้องการแสวงหาความร่ำรวย เพราะทุกอย่างอยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการทำอย่างไรให้พอมีพอกิน"

"ดัง นั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำตัวให้หรูหรา และถ้าไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องเหล่านี้ก็จะอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละองค์กรมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เช่นเดียวกันองค์กรตุลาการ แม้ไม่มีหลักฐานระบุชัดแต่มองหน้าก็รู้แล้วว่าบุคคลนี้เป็นคนไม่ดี"

"ระบบ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการล็อบบี้ใครได้ที่ระบุว่าศาลตัดสินคดีตามใบสั่ง ยืนยันว่าไม่มี ชีวิตผมที่ได้ใบสั่งก็มีแต่ใบสั่งจราจร เพราะการตัดสินวินิจฉัยคดีไม่มีใครมาสั่งได้ อย่างล่าสุดการวินิจฉัย พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาไปตามหลักฐาน ไม่ได้อคติ แต่ที่ยังมีพวกที่ไม่เข้าใจเพราะว่าเราไม่ได้บอกเขาเท่านั้นเอง"

เป็นการยืนยันจากปากของประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ ต่างจาก "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่มองว่าทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมือง ไม่มีทางออกอื่นอีกแล้ว นอกจากใช้ศาลเป็นที่พึ่ง

"ขณะนี้ผมมองเห็นเพียงองค์กรศาลเท่านั้น ที่จะทำให้ความขัดแย้งสามารถระงับลงได้ด้วยองค์กรที่แต่ละฝ่ายยอมรับ เพื่อให้สังคมเดินไปได้ ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ทำให้ตระหนักอยู่ตลอดว่าศาลต้องเป็นกลางและยุติธรรม หากจะมีการยุบศาลปกครองนั้น ผมขอตั้งคำถามว่าหากยุบแล้วประชาชนจะได้อะไร แต่ขณะนี้ทุกคนในศาลปกครอง นิ่ง เงียบ มองในงานหน้าที่รับผิดชอบตัวเอง และกังวลคดีที่ยังค้างอยู่ และดำเนินการทุกอย่าง"

หัสวุฒิ-ถามผู้มี อำนาจว่า "หากมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับองค์กรศาลนั้น 1.ก็จะต้องชี้ ยกตัวอย่างให้ชัดเจนว่าไม่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งสิ่งแรกในการที่จะให้ศาลปกครองเป็นศาลระบบคู่ ก่อนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการกล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง การตรวจสอบ และในที่สุดก็เกิดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและเกิดศาลปกครอง ซึ่งมูลเหตุที่ให้มีองค์กรเหล่านี้ ตอนที่พูดกันนั้น ลืมหมดแล้วใช่หรือไม่ ถึงต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง

2.แนวโน้มของคดีปกครองที่จะมีมากขึ้น และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่ง คดีเหล่านี้จะดำเนินการเช่นใดเช่นหนึ่ง ใครจะรับผิดชอบ ตอบปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

3.ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านศาลปกครองปฏิบัติงานภายใต้ความยุติธรรม ไม่ว่าพายุจะแรงแค่ไหน ก็จะอยู่เป็นเสาหลักของประเทศ ของบ้านเมือง ซึ่งศาลก็คือศาล ตัวบุคคล จุดอ่อน ข้อบกพร่องและปัญหาก็ย่อมมี ซึ่งเราพร้อมรับฟังเพื่อนำไปปรับปรุง"

"การ เปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับองค์กรศาลนั้น ขอให้คิดให้ดีว่าศาลเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรสูงสุด

เป็นองค์กรตามประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจใน 3 อำนาจ หากองค์กรนี้ยังไม่มีความมั่นคงแล้วความเชื่อถือของนักลงทุน

จะเป็นเช่นไร"

"ปัญหา ทั้งหมดที่มีอยู่ในบ้านเมือง ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ นอกจากการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่จะต้องทำให้คนไทยคิดเป็น และเป็นสิ่งที่ประเทศขาดอยู่ ซึ่งหากทำได้ก็ไม่ต้องให้ใครมาช่วยแก้ปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยมีเวทีพูดคุยด้วย"

"ผมอยากให้ทุกคนจริงใจต่อประเทศและประชาชน ไม่เช่นนั้นจะยากที่จะมีการเปลี่ยนผ่าน" หัสวุฒิกล่าว

คำ พูดของ "วสันต์" และ "หัสวุฒิ" เป็นคำพูดที่สะท้อนแทนใจ-จากหัวอกของคนในวงการ "ตุลาการ" ที่ยังทำหน้าที่ให้ความยุติธรรม ท่ามกลางวิกฤตรัฐธรรมนูญ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสียงก้อง กูรู ตุลาการ ไม่มีอคติ ไม่มีล็อบบี้ ไม่มีใบสั่ง

view