สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ของฟรี ที่ต้องเตรียมรับมือให้ดี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สุรีรัตน์ สุรเดชะ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. E-mail: info@sec.or.th



เมื่อถึงวันที่ได้ “ของฟรี” มาแล้วจะจัดการอย่างไร
คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินวาทะของมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลโนเบล ที่ว่า There's no such thing as a free lunch. หรือ “โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ” กันใช่ไหมคะ อยากบอกว่ามีข้อยกเว้นไว้อย่างหนึ่งค่ะ เพราะ “ความแก่” เป็นสิ่งที่เราได้มาฟรี ๆ ไม่ต้องเสียเงินซื้อหา เมื่อถึงเวลาอันสมควร ทุกคนย่อมได้สิทธิในการครอบครองกันโดยถ้วนหน้าไม่ว่าชาติใด ภาษาใด


ปัญหาคือเมื่อถึงวันที่ได้ “ของฟรี” มาแล้วจะจัดการอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณอาจไม่มีรายได้จากการทำงาน มีแต่รายจ่ายทั้งค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวัน และค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น หลักใหญ่ใจความในเรื่องนี้จึงอยู่ที่การเก็บออมเงินให้พอเพียงไว้ใช้ในยามเกษียณ เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับ “ของฟรี” ได้อย่างสง่างาม เป็นอิสระ ไม่เป็นภาระลูกหลานหรือสังคม

แนวโน้มคนแก่ทั่วโลกเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

เรื่องเงินเกษียณไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ร่วมกันของโลก ถ้าคนวัยเกษียณมีเงินไม่พอเลี้ยงตัวเอง ภาครัฐคงต้องจัดสรรงบประมาณมาดูแล รัฐบาลหลายประเทศจึงดำเนินมาตรการรองรับในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น กำหนดอายุการทำงานยาวขึ้น ยืดอายุเกษียณให้ช้าลง เพื่อให้มีระยะเวลาออมเงินเพื่อเกษียณนานขึ้น รวมทั้งพยายามกระตุ้นให้คนทำงานมีการเก็บออมเพื่อเกษียณเพิ่มขึ้น

แต่แม้จะพยายามและเตรียมการกันมากอย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ เช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบบำนาญก้าวหน้ามากประเทศหนึ่ง ปรากฏว่า The Employee Benefit Research Institute ได้เปิดเผยผลสำรวจว่า คนอเมริกันในช่วงอายุ 60 กว่า ๆ ยังเก็บเงินไม่พอสำหรับการเกษียณ โดยเฉลี่ยแต่ละคนมีเงินเก็บประมาณ 4.5 ล้านบาท ดูว่าเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อย แต่ถ้าต้องใช้เงินก้อนนี้ไปอีก 25 ปี จะมีเงินให้ใช้เพียงเดือนละ 15,000 บาทเท่านั้น นับว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อยเมื่อเทียบกับระดับค่าครองชีพของประเทศ

 “ผู้หญิง” น่าเป็นห่วงกว่า “ผู้ชาย”
 
ข้อมูลจากหลายประเทศ บ่งชี้ว่า ระดับเงินเกษียณของผู้หญิงค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายเฉลี่ยประมาณ 25% แต่กลับมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าผู้ชายราว 5-7 ปี แปลว่า เงินน้อยกว่าแต่ต้องอยู่นานกว่า มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียประเมินว่า ผู้หญิงออสเตรเลียมีเงินเกษียณประมาณ 1.7   ล้านบาท ขณะที่ผู้ชายมี 3.6 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีเงินเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย ดังนั้น ผู้หญิงยิ่งจำเป็นต้องเก็บเงินเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้มีเงินพอใช้
 
ผู้หญิงจึงต้องหมั่นหาความรู้เรื่องการลงทุนไว้ด้วย เพราะมักจะใช้เงินง่ายด้วยแรงดึงดูดจากกระเป๋าราคาแพงและเสื้อผ้าชุดหรู รวมทั้งอาจมองข้ามประโยชน์ของการออมเงินเพื่อเกษียณ ข้อคิดในวันนี้ คือ ควรเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตั้งแต่เริ่มทำงานเดือนแรก โดยกันเงินส่วนหนึ่ง เช่น      5-10% ของเงินเดือน หรือจะกำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เช่น 3,000, 5,000, 10,000 บาท เท่ากันทุกเดือนไปลงทุนใน RMF แบบอัตโนมัติ  สิ่งสำคัญ คือ การเริ่มต้นทำทันที อย่ามัวหาข้ออ้างผัดวันประกันพรุ่ง


การบริหารเงินหลังเกษียณมีความสำคัญไม่น้อย

นอกจากปัญหาเรื่องจำนวนเงินเกษียณที่เก็บไว้มีไม่พอใช้แล้ว ยังพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีในการบริหารเงินเกษียณที่ได้รับมา คนทำงานที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยส่วนใหญ่มีความสามารถเพียงบริหารจัดการเงินที่ได้มาแต่ละเดือน แต่เมื่อเกษียณจะต้องมาดูแลเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับมาทีเดียวทั้งก้อน ทำให้ไม่รู้ว่าจะจัดสรรเงินก้อนนี้ให้เพียงพอที่จะใช้จ่ายไปอีกหลาย ๆ ปีได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ในมาเลเซีย แม้ว่าจะมีระบบการออมเพื่อเกษียณภาคบังคับสำหรับคนทำงานทุกคน แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ใช้เงินเกษียณที่ได้รับมาทั้งก้อนหมดลงตั้งแต่ 5 ปีแรกหลังเกษียณ

สำหรับบ้านเรา แม้จะยังไม่มีตัวเลขบอกชัดว่า คนไทยใช้เงินเกษียณหมดภายในระยะเวลากี่ปี แต่ก็ได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าคนที่ได้รับเงินเกษียณก้อนใหญ่ถูกลูกหลานยืมเงิน (และมักไม่ได้คืน) บางคนเอาไปลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้และต้องผิดหวังจากการลงทุน หลายคนไม่รู้ว่าเงินทั้งก้อนหายไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการดูแลเงินก้อนใหญ่ จึงมีทางเลือกที่คนวัยใกล้เกษียณควรรู้เพื่อจะได้เลือกใช้ให้เหมาะกับตัว กรณีข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อเกษียณก็เลือกได้ว่าจะรับเงินทั้งก้อน หรือขอทยอยรับเงิน หรือจะเลือกแบบผสมคือแบ่งรับมาก้อนหนึ่งส่วนที่เหลือทยอยขอรับก็ได้ ขณะที่คนทำงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเลือกรับเงินทั้งก้อนหรือเป็นงวด ๆ ได้เช่นกัน หากคุณสนใจรายละเอียดว่าจะรับเงินแบบไหน งวดละเท่าไร แนะนำให้ปรึกษากรรมการกองทุนหรือบริษัทจัดการที่ดูแลกองทุนที่คุณเป็นสมาชิกค่ะ

การเตรียมรับมือกับวัยเกษียณไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงเชื่อมั่นและตั้งใจที่จะพึ่งตัวเอง อย่าหวังสวัสดิการจากรัฐเพียงอย่างเดียว เริ่มต้นด้วยการเก็บเงินเกษียณต่อเนื่องสม่ำเสมอตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และไม่เอาเงินนี้ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ที่สำคัญ เมื่อเตรียมเงินเกษียณไว้แล้ว ก็ควรเรียนรู้วิธีจัดการกับเงินด้วย อาจปรึกษามืออาชีพที่ให้บริการแนะนำเรื่องวางแผนการลงทุน และแม้จะใช้บริการมืออาชีพแล้ว ก็ต้องไม่ลืมติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เงินเกษียณของคุณได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ขอให้ทุกท่านพร้อมเผชิญหน้าและมีความสุขกับวัยเกษียณค่ะ  


"Start to invest, Start to be rich"


***บทความนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแก่สาธารณชน  การนำข้อมูลไปอ้างอิง ควรตรวจสอบความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย***


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ของฟรี ต้องเตรียมรับมือให้ดี

view