สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

AEC กับธุรกิจ SMEs ไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

นับจากนี้อีกเพียง 3 ปี ประเทศไทยและอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้ก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนเป็นที่สนใจและมีบทบาท รวมทั้งมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก

หากมองในด้านบวก AEC ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทย ทั้งทางด้านการตลาดที่ไทยจะได้ก้าวออกไปนอกประเทศมากขึ้น และด้านการแข่งขันที่จะเป็นกลไกทำให้ธุรกิจปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ได้ แต่ความเสี่ยงหรืออุปสรรคสำคัญในการเติบโตของธุรกิจไทยในขณะนี้ยังมีอยู่หลายประการ อาทิ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจ SMEs ไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับ AEC

จึงยังขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อรับทั้งโอกาสและความเสี่ยง

อีกทั้งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องทางกฎหมาย หากประเทศไทยยังไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันสถานการณ์ได้ และที่นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญคือ "ภาษา" ของผู้ประกอบการและแรงงานไทย

ภาษาในที่นี้หมายรวมถึงทั้งภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน และการไม่ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีของประเทศสมาชิกอาเซียน

อื่น ๆ ขณะที่ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เวียดนาม หรือกัมพูชาได้มีการเรียนรู้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ผ่านการติดต่อค้าขายข้ามชายแดน และการรับชมรับฟังสื่อวิทยุโทรทัศน์ของไทยอย่างแพร่หลาย ทำให้ประเทศเหล่านั้น

มีความได้เปรียบในการรองรับการไหลเข้า-ออกของเงินทุนและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับ AEC และเร่งแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องเริ่มศึกษากฎระเบียบ เงื่อนไขต่าง ๆ และหาข้อมูลความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนเห็นความสำคัญของ AEC พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และพยายามหาช่องทางเพื่อให้ได้ประโยชน์จาก AEC ให้ได้มากที่สุด เช่น การดำเนินกลยุทธ์การตลาดในเชิงรุก โดยเจาะถึงตลาดผู้ซื้อในต่างประเทศ ศึกษาลู่ทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับภาคเอกชนในภูมิภาค เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันขึ้นสู่ระดับโลก

และที่สำคัญ ภาครัฐควรกำหนด

วิสัยทัศน์ของประเทศไทยในปี 2558 ให้ชัดเจน พร้อมประกาศให้ประชาชนร่วมรับรู้และร่วมมือในการกำหนดนโยบายเรื่องการดูแล และปกป้องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาเมื่อมีการเปิดเสรี

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนถึง 2.9 ล้านราย ในขณะที่ GDP ของ SMEs มีมูลค่าสูงถึง 3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 37.1% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

ธุรกิจ SMEs จึงถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศเส้นหนึ่ง ผลกระทบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะมีต่อธุรกิจ SMEs จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

จากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการ SMEs ไทยนั้น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีหลายประการ โดยประการแรก สินค้าส่งออกของ SMEs ไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากคู่แข่งในอาเซียนที่สามารถผลิตสินค้าได้คล้ายคลึงกับสินค้าไทย เช่น สินค้าข้าวจากเวียดนาม สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากมาเลเซีย เป็นต้น

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่กล่าวว่า แม้ในอนาคตจะมีการเปิดเสรีการค้าก็ไม่ได้หมายความว่าการส่งออกของไทยจะสามารถเข้าไปตีตลาดในอาเซียนได้อย่างง่ายดาย

ประการถัดมา สินค้าชาติอาเซียนอื่นมีแนวโน้มเข้ามาตีตลาดภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน SMEs ไทยมีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างชาติมากขึ้น เพราะเมื่อมีการเปิดเสรี ผู้ให้บริการต่างชาติที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและภูมิปัญญา

ความรู้อาจทยอยเข้ามา ส่งผลให้เป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติที่มีจุดแข็งทั้งทางด้านเงินทุน การจัดการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า เพราะธุรกิจ SMEs ไทยส่วนใหญ่มีเงินทุนค่อนข้างจำกัด และยังขาดความพร้อม

ในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่และการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ธุรกิจ SMEs เกี่ยวโยงไปถึงแรงงานฝีมือด้วย ซึ่งในส่วนนี้อาจมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่ให้ค่าตอบแทนต่ำไปยังประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า ทำให้การแข่งขันของตลาดแรงงานในประเทศทวีความเข้มข้นมากขึ้น และการไหลเข้าของแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะช่วงชิงตำแหน่งงานไปจากแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เสียเปรียบในด้านทักษะภาษาอังกฤษ

ดังได้กล่าวแล้ว ว่าธุรกิจ SMEs ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นการช่วยเหลือ SMEs ไทยให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญยิ่ง เพราะในปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่อง AEC และไม่มีแผนรับมือ หรือพอจะทราบบ้าง แต่ยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของตนอย่างแน่ชัดอย่างไร

การก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับธุรกิจ SMEs ไทยก็มีทั้งโอกาสที่จะก้าวออกไปขยายการค้า การบริการ และการลงทุนในตลาดอาเซียนได้เสรีมากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดและอุปสรรคที่ลดลง

แต่ขณะเดียวกันธุรกิจ SMEs ไทยที่มุ่งเน้นทำธุรกิจภายในประเทศเป็นหลักก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากคู่แข่งในประเทศที่พยายามรักษาส่วนแบ่งในตลาด อีกทั้งยังต้องเผชิญคู่แข่งธุรกิจจากชาติอาเซียนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาอีกด้วย

การเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบ AEC น่าจะมีส่วนดึงดูดให้นักลงทุนจากชาติอาเซียนขยายการลงทุนภายในอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากจะได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สภาวะการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ไทยกับธุรกิจต่างชาติมีแนวโน้มเข้มข้นและชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า

แต่การ เคลื่อนย้ายเงินทุน ได้เสรียิ่งขึ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะตลาดทุนภายในของแต่ละประเทศได้

ดังนั้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนอาจส่งผลให้ "ค่าเงิน" ภายในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงผันผวนได้ง่าย ผู้ประกอบการ SMEs จึงควรมีการพัฒนาการจัดการต้นทุนและบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ

ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ท่ามกลางการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

การเตรียมตัวให้พร้อมรับ AEC จึงต้องเผื่อระยะเวลาในการศึกษาและวางหลักเกณฑ์ การดำเนินการที่รัดกุมเพียงพอ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยต้องตระหนักรู้และศึกษาทำความรู้จัก AEC ให้เข้าใจและรับรู้ถึงโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนหรือปรับกลยุทธ์รองรับและมองหาจุดยืนของธุรกิจ เมื่อไทยก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2558 และที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ต้องหาแนวทางการรับมือ

โดยอาจศึกษาการรับมือของกลุ่มสมาชิก AEC ประเทศอื่น ๆ และศึกษาการดำเนินธุรกิจ SMEs ของประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เป็นต้นแบบในการปรับปรุงและพัฒนาระบบมาตรฐานของตนเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง กับประสานงานกับหน่วยงานของเอกชน ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจาก AEC เพื่อหาทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice)

นำมาเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการให้กับธุรกิจ SMEs ไทย (หน้าพิเศษ AEC เปลี่ยนประเทศไทย)


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : AEC  ธุรกิจ SMEs ไทย

view