สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นาซ่าถอนใช้อู่ตะเภาไม่กระทบโครงการวิจัยอื่น

นาซ่าถอนใช้อู่ตะเภาไม่กระทบโครงการวิจัยอื่น

จาก โพสต์ทูเดย์

"อานนท์"ระบุ นาซ่า ถอนใช้อู่ตะเภาหลังไทยอนุญาตล่าช้า ไม่กระทบโครงการร่วมวิจัยอื่น

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือจิสด้า เปิดเผยว่า กรณีที่นาซ่าอาจจะถอนการขออนุญาตใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเนื่องจาก ไทยอนุญาตล่าช้านั้น  กรณีดังกล่าวจะไม่กระทบกับโครงการอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน  อย่างไรก็ตามจะเข้าชี้แจงให้นาซ่าทราบเหตุผลที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ อีกครั้ง

อานนท์

"นาซ่าคงไม่เอาเรื่องนี้มาข่มขู่ไทย เพื่อเป็นเงื่อนไขสร้างผลกระทบหรือยกเลิกโครงการอื่นๆ ที่เราเคยทำร่วมกัน แต่คนอย่างผมก็ข่มขู่ไม่ได้หรอก"นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์ กล่าวว่า โครงการการสำรวจเมฆและฝนตามที่นาซ่าขอมาและอาจจะเลื่อนการดำเนินการออกไปจน กว่าจะได้ข้อสรุปนั้น จะส่งผลกระทบในแง่ของความล่าช้าเท่านั้น อย่างไรก็ดีความล่าช้าดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสายตาของนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการด้านนี้ ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้ โดยอาจจะมองว่าการสำรวจเมฆฝนในประเทศไทยอาจจะช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ  ซึ่งได้ดำเนินการขออนุญาตไปพร้อมๆ กัน

"โครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศนั้น เป็นความสนใจร่วมกันระหว่าง นาซามานานแล้ว ไม่เฉพาะกับ สทอภ.เท่านั้น แต่ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆเช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ เคยหารือกับนาซาเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง ในรอบ2 ปีที่ผ่านมา เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้มากว่า 10 ครั้ง ในระดับนักวิชาการก็คุยกันมาระยะหนึ่งแล้ว เคยทำงานร่วมกันแต่มีมหาวิทยาลัยทั้งของสหรัฐและมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง ที่จะมาทำงานร่วมกัน เละที่ผ่านมาเราทำร่วมกัน โดยภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันไม่ใช่หนังสือสัญญา ซึ่งเป็นข้อตกลงในเรื่องที่เราสนใจทำงานวิจัยร่วมกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันทาการเมือง"นายอานนท์ กล่าว


สื่อนอกชี้ รบ.อเมริกันรุกหนักไทย หวังใช้เป็นฐานบุกเอเชีย คานอำนาจจีน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      วอชิงตัน โพสต์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯในขณะนี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี บารัค โอบามา กำลังเอาจริงเอาจังกับการปรับปรุงด้านยุทธศาสตร์ของตนครั้งใหญ่ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น หวังสกัดกั้นบทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในภูมิภาค และดุเหมือนความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตัน และกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมหวนคืนสู่ “สนามบินอู่ตะเภา” ในประเทศไทย อีกคำรบ หลังเคยใช้เป็นฐานสำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม ดูจะเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯเป็นอย่างดี
       
        ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้หารืออย่างเข้มข้นกับทางการไทย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอใช้สนามอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติขึ้นในภูมิภาค โดยพยายามหยิบยกเหตุผลด้านความเหมาะสมนานัปการของสนามบินเก่าแก่แห่งนี้ ที่สหรัฐฯเป็นผู้สร้างขึ้นห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางใต้ราว 90 ไมล์ และเคยถูกใช้เป็น “บ้าน” ของเครื่องบินยักษ์ทิ้งระเบิดอย่าง “บี-52” ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อทศวรรษที่ 1960-1970
       
        ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนฝ่ายสหรัฐฯจะแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการเพิ่ม “การเยี่ยมเยียนทางเรือ” มายังท่าเรือต่างๆ ของไทยให้มากขึ้น รวมถึงเสนอให้มีการตรวจตราร่วมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ต่อความปลอดภัยของเส้นทางการค้า และความเคลื่อนไหวทางทหาร
       
        ในอีกด้านหนึ่ง เลียน เพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเดือนนี้ ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันระดับสูงสุดรายแรกที่เดินทางเยือนอ่าม คัม รานห์ ของเวียดนาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา พร้อมหยอดคำหวานถึงศักยภาพอันยอดเยี่ยมของพื้นที่แห่งนี้ ในการเป็นท่าเรือน้ำลึกรองรับการเยี่ยมเยือนของเรือรบอเมริกันในอนาคต ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่า ทางเพนตากอนเองก็กำลังหาทางหวนคืนสู่ฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน หลังเคยใช้ดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ณ อ่าวซูบิค และฐานทัพอากาศคลาร์ก มาแล้วในอดีต ก่อนที่สหรัฐฯจะหันหลังให้กับประเทศในแถบนี้นานหลายทศวรรษ
       
        แม้ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการเร่งเจรจาและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศ ต่างๆ ในภูมิภาค อาจดูเหมือนยังอยู่ในวงจำกัด เช่น การเพิ่มความถี่ในการเยี่ยมเยียนทางเรือ หรือการซ้อมรบร่วม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลโอบามา มีความหวังที่กิจกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การกลับเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นของ สหรัฐฯในภูมิภาคต่อไป หลังจาก “จุดโฟกัส” ของรัฐบาลสหรัฐฯได้หันเหไปสู่การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในหลายสมรภูมิ เช่นที่อัฟกานิสถาน และอิรัก มานาน
       
        ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯมีขึ้นท่ามกลางการยืนยันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกัน หลายคนรวมถึงพลเอก มาร์ติน เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ ที่ระบุว่า สหรัฐฯไม่มีความปรารถนาที่จะกลับเข้ามาครอบครองฐานทัพขนาดใหญ่ในเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ที่ฝ่ายตนเคยใช้เมื่อศตวรรษที่แล้วอีก รวมถึงไม่มีแผนสร้างฐานทัพแห่งใหม่ใดๆ เพิ่มเติมในดินแดนแถบนี้ โดยเน้นย้ำว่า สหรัฐฯจะขอเข้ามาในฐานะ “แขกชั่วคราว” ที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจาก “ประเทศเจ้าบ้าน” เท่านั้น เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและพิทักษ์ผลประโยชน์ร่วมกัน
       
        ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งสหรัฐฯแทบมิได้ชายตามองเลย นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.2006 การเดินทางเยือนของพลเอก เดมพ์ซีย์ จึงถือเป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะถือเป็นการเดินทางมาเหยียบแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของผู้ที่ ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ
       
        นอกจากนั้น แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีกำหนดเดินทางเยือนไทยในเดือนหน้า ขณะที่ เลียน เพเนตตา นายใหญ่แห่งเพนตากอน ก็ตกเป็นข่าวว่า แอบพบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมของไทยมาแล้วเช่นกัน ระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปประชุมที่สิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้
       
        ความพยายามกระชับสัมพันธ์กับไทยของฝ่ายสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงสงสัยจากสาธารณชนและสื่อมวลชนของไทยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนเรื่องจำนวนกำลังพลสหรัฐฯ ที่อาจถูกส่งเข้ามายังสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต รวมถึง ความไม่ชัดเจนของภารกิจที่สหรัฐฯจะกระทำบนแผ่นดินไทย หากการตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา รวมถึงการที่สำนักงานบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) จะขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานในการปฏิบัติภารกิจในโครงการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลแก่หลายฝ่ายในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ทางการจีน ถึงความพยายามขยายบทบาทของสหรัฐฯในระยะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แม้สหรัฐฯจะยืนยันว่า ความร่วมมือใดๆ กับไทยโดยเฉพาะในด้านการทหาร จะเป็นไปอย่าง “สงบเสงี่ยม” และสหรัฐฯเอง ก็มิได้มุ่งหวังให้รัฐบาลไทยตีตัวออกห่างจีน และหันมาแนบแน่นกับสหรัฐฯ เพราะตระหนักดีถึงจุดยืนของไทยที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งกับ จีนและสหรัฐฯต่อไป

เลียน เพเนตตา

การหวนคืนสนามบินอู่ตะเภาถูกมองเป็นเครื่องมือขยายอำนาจชิ้นแรกของสหรัฐฯ


เปิดยุทธวิธีรบแบบดิจิตอลกองทัพสหรัฐ

เปิดแผนการรบไฮเทคแบบดิจิตอลของกองทัพสหรัฐผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(นาซา) กลายเป็นชื่อที่ติดปากติดหูคนไทยในเวลานี้ ไม่ใช่เพราะผลงานการพัฒนายานอวกาศ ที่จะใช้สำรวจดาวอังคาร หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใช้ค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก แต่เป็นเพราะเงื่อนงำของโครงการนี้ ที่ใช้ "สำรวจ" สภาพภูมิอากาศของไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านและใช้ "ข้อมูล" ที่ได้มาจากโครงการ "สนับสนุน" การวางแผนปฏิบัติการศูนย์ป้องกันพิบัติภัยในเอเชีย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง จากโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study: SEAC4RS) ที่นาซา กำลังรอการอนุมัติจากรัฐบาลไทย

ที่ต้องเน้นคำว่า "สำรวจ" "ข้อมูล" และ "สนับสนุน" เพราะคำเหล่านี้ มีนัยสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากสหรัฐ มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบหาข่าวกรอง และการใช้ข้อมูลสนับสนุนการดำเนินการด้านต่างๆของรัฐบาลอย่างยิ่ง และในปัจจุบัน สหรัฐได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติการรบของฝ่ายทหารไปสู่สงครามดิจิตอลเต็มรูปแบบ

สงครามดิจิตอลของกองทัพสหรัฐนั้นพึ่งพาเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลในรูป "ดิจิตอล" ทั้งระบบ นั่นหมายความว่าข่าวสารที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆจะกระจายไปยังหน่วยงานรับผิดชอบเพื่อส่งผ่านไปยังหน่วยปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยปฏิบัติการที่มีกำลังอาวุธในมือพร้อมที่จะโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว

พลอากาศเอกนอร์ตัน ชวาร์ทซ์ ประธานเสนาธิการกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา เคยอธิบายถึงรูปแบบการทำสงครามของกองทัพสหรัฐ ในยุคที่เทคโนโลยีการสงครามอิเล็กทรอนิกส์มีความก้าวหน้า ด้วยการบูรณาการระบบเครือข่ายการสื่อสารและสารสนเทศ หมายรวมถึงการบูรณาการระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ที่เพิ่มขีดความสามารถของ อากาศยาน และระบบตรวจการณ์ต่างๆ ในการตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ตลอดจนทำให้หน่วยกำลังสามารถคัดกรองข้อมูลลวงต่างๆ อันเกิดจากการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ออกจากระบบได้

ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link : TDL) คือการรับ/ส่ง ข้อมูลแบบดิจิตอล ผ่านรูปแบบของข้อมูลมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ด้วยขีดความสามารถในการรับ/ส่งข้อมูลแบบ ตามเวลาจริง การป้องกันการรบกวนทางสัญญาณ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งทำให้กองทัพสามารถรับรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของการปฏิบัติการต่างๆ ร่วมกัน การกำหนดเป้าหมายและการพิสูจน์ทราบฝ่าย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจทางการทหารได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ

อย่าลืมว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นผู้ริเริ่มความคิดการพัฒนาระบบส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ระยะไกล ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 หรือ กว่า 60 ปีที่แล้ว ก่อนที่ระบบนี้จะได้รับการพัฒนาต่อยอดโดยเอกชนซึ่งทำให้เกิดเครือข่าย "อินเตอร์เน็ต" ขึ้นมาในทศวรรษ 1970 หมายความว่า กองทัพสหรัฐ มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลเริ่มต้นจากข้อมูลอะนาลอก มาสู่ยุคดิจิตอลในทุกวันนี้

นอกจากนั้น ปัจจุบันสหรัฐ ยังมีดาวเทียมสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสำรวจภูมิศาสตร์ ดาวเทียมสำรวจชั้นบรรยากาศ ดาวเทียมบอกพิกัดสำหรับระบบจีพีเอส และอื่นๆอีกมากมาย ที่ทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการภาคพื้นดิน ไม่นับเครื่องบินที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับเป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสาร และล่าสุดอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลภาคพื้นดินและโจมตีด้วยจรวดไปยังเป้าหมายที่ต้องการในสมรภูมิ

เรียกได้ว่า กองทัพสหรัฐ มีเส้นเลือดใหญ่เป็นข้อมูลดิจิตอล ที่คอยหล่อเลี้ยงแขนขา ที่เป็นหน่วยปฏิบัติการรบ ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ ที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าที่สุดในโลก


ผ่า!แผนวิจัยบนเครื่องบิน "นาซา"

ผ่าแผนวิจัยบนเครื่องบิน "นาซา" วิจัย "ฝุ่นลอย" กระทบโลกร้อน จุดเริ่มต้นเมื่อ 28 ก.ย.2553 นักวิชาการหวั่นโครงการล้มไทยสูญเสียโอกาส
เป็นประเด็นความมั่นคงที่ถกเถียงกันมากกับโครงการความร่วมมือ กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) ในการใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาผลกระทบของอนุภาคแขวนลอยในชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 2 โครงการแม้จะเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม

หากย้อนที่มาของโครงการนี้ เริ่มจาก การพูดคุยกันระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา จึงได้มีข้อตกลงในการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กับนายชาร์ลส์ เอฟ โบลเดน ผู้บริหารจัดการโครงการ เมื่อ 28 เดือนกันยายน ปี 2553

ทั้งสองโครงการประกอบ ด้วย โครงการ The seven Southeast Studies (7 SEAS) Mission และโครงการ Southeast Asia Composition, cloud, climate coupling Regional Study (SEAC4RS)

โครงการ 7 SEAS มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของอนุภาคแขวนลอยในอากาศ (aerosol particles) ต่อชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยโครงการนี้มีความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกากับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคนี้ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยมี Office of Naval Research (ONR) เป็นผู้ดำเนินการหลักติดตามการเปลี่ยนแปลง

สภาพภูมิอากาศของภูมิภาคในระยะยาว, การสำรวจภาคสนาม และการศึกษาวิจัย โดยครอบคลุม 7 หัวข้อดังนี้
1.Aerosol lifecycle and air quality 2.Tropical meteorology 3.Radiation and heat balance
4.Clouds and precipitation5.Land processes and fire6.Oceanography (Physical and Biological)
7.Environmental characterization through satellite analyses, model prediction, and verification
ได้ผู้ประสานงานโครงการนี้ คือ Dr.Jeffrey S. Reid,US Naval Research Laboratory (NRL) เพื่อเข้าร่วมในโครงการ โครงการ 7 SEAS Mission โดยทาง NRL ได้มีการดำเนินการออกแบบภาคสนาม ครั้งแรกบริเวณโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในระหว่างวันที่ 3-12 มิถุนายน 2554 แต่ปัจจุบันเลื่อนออกไปจนนาซาอาจจะถอนโครงการเพราะไม่สามารถศึกษาการก่อตัวของเมฆในช่วงเวลาดังกล่าวได้

เครื่องมือวัดต่างๆ ในการใช้วัดคือ เช่น Hyper-spectral water leaving radiance, Hand held microtops และ Weather balloon เป็นต้น จากนั้นจะนำค่าที่ได้จากการสำรวจมาเปรียบเทียบกับค่าการสะท้อนแสง (Reflectance) ที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม อาทิ MODIS, HICO, EO-1 Hyperion, และ THEOS

ส่วนอีกโครงการคือ โครงการ SEAC4 RS จะเริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคมและสิ้นสุดเดือนกันยายน 2555 โดยจะมุ่งเน้นการศึกษาบทบาทการไหลเวียนของลมมรสุม (Asian monsoon circulation) และ convective redistribution ต่อ upper atmospheric composition and chemistry รวมไปถึงอิทธิพลของ Biomass burning และมลพิษที่มีผลต่อระบบอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาค

โครงการนี้จะใช้เครื่องบินทั้งหมด 3 ลำ คือ เครื่อง DC-8, ER-2, และ GV นอกจากนี้รวมอีก 1 ลำ เป็นเครื่องบินฝนหลวงของไทย ซึ่งสามารถวัด aerosol particles, atmospheric, chemistryศึกษาฝุ่นแขวนลอย การก่อตัวของเมฆ เพื่อหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

การศึกษาดังกล่าวได้นำเครื่องบินมาดัดแปลงใส่อุปกรณ์เฉพาะขึ้นไปตรวจวัดทางกายภาพและทางเคมีของเมฆ อุณหภูมิ และความชื้นในชั้นบรรยากาศ พร้อมรับส่งข้อมูลเชื่อมโยงกับดาวเทียมในการตรวจความผิดปกติของชั้นบรรยากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยเครื่องบินจะขึ้นไประดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 12 กม.

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บอกว่า การศึกษาดังกล่าวของนาซามีมานานกว่า 20 ปีก่อน โดยกลุ่มนักวิจัยไทยมีความพยายามที่จะเข้าร่วมโครงการวิจัยกับนาซา เพื่อศึกษาอนุภาค หรือ แอโร่ซอล ในชั้นบรรยากาศ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น แอโร่เน็ต เบสท์เอเชีย และเอเชียบราวน์คลาวด์ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน และมีสถานีตรวจวัดทั่วโลก ในอินเดีย จีน หรือแม้แต่ประเทศลาว

"สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาคืออนุภาคฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ มีผลทำให้โลกเย็น เนื่องจากแสงอาทิตย์ผ่านมายังโลกได้น้อยลง ซึ่งคำตอบที่ได้อาจพลิกทฤษฎีโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งธงอยู่ ณ ตอนนี้ ในขณะที่นาซาได้รับมอบหมายให้ดูแลภารกิจนี้โดยตรงในชื่อว่า Earth Science Program" ดร.อานนท์กล่าว และว่า ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ เป็น 1 ใน 7 ปัจจัยที่ทำให้สภาพภูมิอากาศในเอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกัน ข้อมูลของ ดร.นริศรา ทองบุญชู นักวิทยาศาสตร์ที่เคยเข้าร่วมโครงการวิจัยของ นาซาเมื่อปี 2544 กล่าวเช่นกันว่า นาซาสนใจการเคลื่อนย้ายของฝุ่นละอองลอย และได้เข้าไปศึกษาในแต่ละภูมิภาคมานานแล้ว เพราะรวมทั้งปัญหาเรื่องฝุ่นด้วย

"เขาสนใจการเคลื่อนย้ายตัวของฝุ่นเมื่อรวมกับชั้นบรรยากาศแล้วมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะชั้นบรรยากาศไม่ต่างจากหลอดทดลองที่เมื่อฝุ่นไปทำปฏิกิริยาจะเกิดปัญหาหรือไม่นั่นคือเรื่องที่เขาสนใจ"

การปฏิบัติการของ เครื่องบินทั้ง 4 ลำจึงเพื่อหาคำตอบเหล่านี้ แต่เหตุผลที่เลือกสนามบินอู่ตะเภา เพราะสะดวก เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ตั้งของสถานีรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชติ หรือธีออส ของประเทศไทย ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากขณะที่ทดลองต้องมีการประสานงานกันระหว่างทีมงานทั้ง 2 ฝ่าย โดยสั่งให้ดาวเทียมถ่ายภาพไปพร้อมกับการบินขึ้นไปเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศของนาซา
นอกจากนี้ยังรวมถึงการวางแผนการบินที่ไปกลับได้เพราะไทยอยู่ตรงกลางที่จะบินไปรอบและไม่เสียเวลาสามารถเก็บข้อมูลได้ภายในเวลาที่กำหนดได้

"ความจริงเขาติดต่อที่เนปาลเอาไว้ด้วยแต่เมื่อวางแผนเส้นทางบินแล้ว พบว่า บินไปกลับไม่ได้อยู่ในเวลาที่กำหนด จึงเลือกไทยเพราะอยู่ตรงกลางรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่นอินเทอร์เน็ต มีความพร้อมมากกว่าจะเลือก ลาว กัมพูชา" ดร.นริศรากล่าว

ส่วนการวางแผนการบินนั้น จะบินประมาณ 21 เที่ยวภายในระยะเวลา 2 เดือนอาจจะเรียกได้ว่าบินทุกประมาณ 2-3 วัน โดยการกำหนดเส้นทางบินนั้น จะเกิดจากการระดมนักวิทยาศาสตร์ทั้งด้านอุตุนิยมวิทยา นักโมเดลจำลอง เพื่อประเมินเส้นทางบินเพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์การศึกษาและความปลอดภัย

"การกำหนดเส้นทางบินจึงไม่สามารถวางแผนและบอกไปเลยว่าจะบินแบบไหนเพราะต้องคำนวณสภาพอากาศในช่วงเวลานั้นด้วย"
การทำงานภายในเครื่องบินจะถูกออกแบบให้กลายเป็นห้องปฏิบัติการ โดยมีเครื่องมือวัดและเก็บอากาศตัวอย่างรอบนอกของเครื่องบินจะต่อท่อเพื่อดูอากาศเข้าไปเก็บตัวอย่างตรวจวัดซึ่ง นักวิทยาศาสตร์ที่ขึ้นไปแต่ละครั้งจำนวน 20-30 คน โดยนักวิจัยคนหนึ่งจะมีพื้นที่ของตัวเองพร้อมเครื่องมือตรวจวัด

ก่อนจะปฏิบัติหน้าที่จะมีผังการทำงานชัดเจนมีชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่จะขึ้นเครื่องพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ในการศึกษา รวมไปถึงวิธีการศึกษาด้วย
กำหนดการศึกษาถูกตั้งขึ้นในช่วงที่เป็นเวลาที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการก่อตัวของเมฆ ดังนั้น หากไทยไม่ตัดสินใจ อาจพลาดโอกาส ดร.นริศรา บอกว่า เขาต้องการศึกษาเรื่องการเกิดเมฆการเกิดฝน เวลาจะต้องเหมาะสม หากช้าไปเรื่อยๆ ก็อาจจะพลาดได้ เนื่องจากเขาต้องเตรียมอุปกรณ์ โดยใช้เวลา 2 เดือนในการขนของลงเรือ แต่เราก็เลื่อนก็เรื่อยๆ

"เราเล่นประเด็นอะไรกันก็ไม่รู้ ถ้าเราทำไม่ได้ มันคือพลาดเลยเพราะโอกาสที่เราจะได้ข้อมูลดิบเพื่อเอาไว้ใช้ประโยชน์มีไม่มาก" ดร.นริศรากล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.อานนท์ที่บอกว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะเสียไปหากงานโครงการวิจัยนี้ต้องยกเลิก คือการพัฒนาคน และข้อมูล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในส่วนของนักวิจัย ที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกับนาซาเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านอากาศของเรา


จรวดจีน...ถ่วงนาซา

โดย...กองบรรณาธการโพสต์ทูเดย์

ร้อนขึ้นตามลำดับ สำหรับกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการเพื่อใช้เก็บตัวอย่างสภาพอากาศ หลังถูกกดดันอย่างหนักจากทั้งภายในและนอกประเทศ ด้วยเหตุหลายฝ่ายกังวลสหรัฐจะขยายอิทธิพลทางทหาร

งานนี้นายกฯ ปู เกรงเอาไม่อยู่ ไม่กล้านำเข้า ครม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.โดยโยนกลับให้ฝ่ายความมั่นคงกับกฤษฎีกาไปหารือกันว่า จะเข้าข่ายต้องขออนุญาตรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

แว่วว่า งานนี้ “ยิ่งลักษณ์” สั่งแตะเบรก เกรงมีเรื่องให้ถูกถอดถอนซ้ำ เพราะเวลานี้มีหลายเรื่องรอให้ถูกเชือด

ทว่า เรื่องนี้ลากยาวไม่ได้ซะแล้ว เมื่อทางสหรัฐขีดเส้นตายภายในวันที่ 26 มิ.ย. ต้องได้คำตอบ ไม่เช่นนั้นจะถอนตัว

สัปดาห์หน้าคงชัดเจน!!!

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. บุคคลสำคัญของ 2 มหาอำนาจ จีนสหรัฐ ต่างพาเหรดเข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ตัวแทนสหรัฐ คือ แอนดรู แชปพิโรผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศด้านการเมือง การทหาร และ คริสตี เคนนี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ขณะที่จีน นำโดย พล.อ.จิ้งจื้อหยวน สมาชิกกรรมาธิการทหารกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนและผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ 2 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

มาพร้อมกันช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นอู่ตะเภาเป็นแน่แท้

แต่หลังหารือ บิ๊กตู่ ยืนกราน ผบ.ปืนใหญ่จีน ไม่ได้มาคุยเรื่องอู่ตะเภา แต่มาเยี่ยมเยือน มีนัดหมายล่วงหน้ามานาน

“มีการหารือเรื่องการพัฒนากองทัพและความร่วมมือเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ และเรื่องการศึกษาต่างๆ โดยจะมีการพัฒนาจรวดหลายลำกล้องนำวิถีร่วมกับจีน เพื่อให้ยิงไกล 200 กม.” บิ๊กตู่ ยืนยัน

อ้าวว...จรวดก็จรวด นี่คงเป็นข่าวดีที่ไทยจะได้พัฒนา “บั้งไฟ” เป็นจรวดซะที


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นาซ่า ถอนใช้อู่ตะเภา ไม่กระทบโครงการวิจัยอื่น

view